จากวัดเชียงมั่นถึงวัดพระสิงห์ ย้อนอดีตการสร้างวัดในเชียงใหม่

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการสร้างวัดในเชียงใหม่ เกี่ยวข้องกับความเชื่อในเรื่องสิริมงคลของเมือง แต่เหนือสิ่งอื่นใด วัดยังคงเป็นศูนย์กลางของศาสนาที่ผู้คนในเมืองให้ความเคารพ เพราะคนล้านนาถือว่า การสร้างวัดเป็นอานิสงส์ที่แรงกล้าสามารถทำให้วิญญาณของผู้สร้างวัดเมื่อตายไปแล้วขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์ได้

เมื่อครั้งที่พระยามังรายมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนาไทยได้ทรงสร้างเมืองเชียงใหม่ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1839 นั้น พระองค์ทรงโปรดให้สร้างวัดขึ้นเป็นวัดแรกแห่งนครเชียงใหม่ก็คือ วัดเชียงมั่น ซึ่งได้ผสมผสานศิลปแบบเชียงแสนที่ได้รับอิทธิพลมาจากลังกาเข้ากับศิลปะแบบล้านนา

งานศิลปเชียงแสนเข้ามาแพร่หลายอยู่ในอาณาจักรล้านนาไทยราวปี พ.ศ.1880 โดยพระเจ้าปักกรมพาหุมหาราช สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ในเชียงใหม่สร้างตามอิทธิพลแบบลังกาจะสังเกตได้จากการทำฐานสถูปเจดีย์เป็นฐานสูงมีลาดบัวซ้อนกันหลาย ๆ ชั้นทั้งที่มีซุ้มและไม่มีซุ้ม บริเวณซุ้มเหล่านั้นมักจะทำประตูทางเข้า ประตูออก ซุ้มตั้งพระพุทธรูปก็มี เช่น เจดีย์ของวัดเจดีย์หลวง วัดพระธาตุดอยสุเทพ วัดเชียงมั่น เป็นต้น

ที่หน้าอุโบสถของวัดเชียงมั่นมีศิลาจารึกไว้เมื่อปี พ.ศ.2124 กล่าวถึงประวัติของวัดและประวัติเมืองเชียงใหม่ รวมทั้งการบูรณะวัดนี้ในสมัยต่อ ๆ มาอีกด้วย โบราณวัตถุที่สำคัญในวัดนี้คือ “พระเสตังคมณี” หรือ พระแก้วขาวกับพระพุทธรูปศิลาปางปราบช้างนาฬาคีรี ถือได้ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองเชียงใหม่

หลังจากที่สร้างวัดเชียงมั่นขึ้นเป็นวัดแรกในเชียงใหม่แล้ว สมัยของพระเจ้าแสนเมืองมา มีเรื่องเล่าว่า เมื่อครั้งท้าวมหาพรหม เจ้าเมืองเชียงรายไปได้พระพุทธสิหิงค์หรือที่ชาวเชียงใหม่เรียกว่า “พระสิงห์” มาจากเมืองกำแพงเพชรและได้นำขึ้นมาถวายให้พระเจ้าแสนเมืองมา กษัตริย์เมืองเชียงใหม่ขณะนั้น พระองค์ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ลงเรือขึ้นมาตามแม่น้ำปิง เมื่อขบวนเรือมาถึงเชียงใหม่ก็เป็นเวลาค่ำแล้ว จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นจากเรือแล้วนำไปประดิษฐานไว้บนบกที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง ในคืนนั้นเองได้เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์ขึ้นโดยได้มีแสงสว่างลุกโชติช่วงที่องค์พระสิงห์ แสงสว่างนี้เป็นลำยาวขึ้นไปบนท้องฟ้าพาดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้ที่พบเห็นต่างเชื่อว่าเป็นอภินิหารของพระพุทธสิหิงค์ ต่างพากันกราบไหว้ด้วยความปิติยินดี

จากนั้นจึงนำพระพุทธสิหิงค์ขึ้นประดิษฐานบนราชรถ ตั้งขบวนแห่ลากจากท่าน้ำวังสิงห์คำ เพื่อจะนำไปประดิษฐานที่วัดสวนดอก แต่พอราชรถมาถึงวัดลีเชียงพระ ปัจจุบันคือวัดพระสิงห์ ราชรถกลับหยุดลงแม้ว่าผู้คนจะช่วยกันลากเข็นอย่างไร ราชรถก้ไม่ขยับเขยื้อน พระเจ้าแสนเมืองมาจึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์เข้าประดิษฐานไว้ในวิหารวัดลีเชียงพระ แล้วจึงให้มีการจัดงานฉลองสมโภชขึ้น นับแต่นั้นมาพระพุทธสิหิงค์จึงได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดลีเชียงพระจนถึงปัจจุบัน

ในสมัยของพระเมืองแก้ว หรือ พระเจ้าศิริธรรมจักรพรรดิ์ราช กษัตริย์ล้านนาไทยองค์ที่ 13 พระองค์ทรงเห็นว่า วัดพระสิงห์ชำรุดทรุดโทรมมากจึงโปรดให้มีการบูรณะวัดพระสิงห์ใหม่ แล้วสร้างวิหารลายคำเพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ วิหารลายคำนี้มีการปั้นปูนเป็นลวดลายที่สวยงามมากแสดงให้เห็นถึงฝีมือของช่างในยุคนั้นว่ามีความเจริญถึงที่สุด ตัววิหารลายคำสร้างขึ้นตามแบบศิลปกรรมของภาคเหนือมีรูปปั้นพญานาค 2 ตัวอยู่หน้าบันไดทางขึ้น ใกล้กับพญานาคมีรูปปั้นสิงห์ 2 ตัวที่ฝาผนังวิหารลายคำมีภาพเขียนสีน้ำมันด้วยฝีมือช่างชาวล้านนา

ภายในวิหารลายคำมีพระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานอยู่ พระพุทธสิหิงค์เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร หน้าตักกว้างประมาณศอกเศษ พุทธลักษณะงดงามมากเมื่อถึงเทศกาลวันสงกรานต์หรือประเพณีปี๋ใหม่เมือง ทางจังหวัดจึงได้อัญเชิญออกมาแห่ไปตามถนนรอบเมืองเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมสรงน้ำพระ ซึ่งถือเป็นประเพณีที่คนเชียงใหม่ได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาช้านาน

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น