ปีนี้ลดร่วมแสนคน สมัครเรียนมหาวิทยาลัยน้อย จ่อปิดสาขา คณะ ยุบวิทยาเขต

ผู้สื่อข่าว ได้รับการเปิดเผยจากผู้บริหารสถานศึกษา ที่เข้าร่วมประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ซึ่งมี ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นประธานที่ประชุมว่า มีประเด็นหารือร่วมกัน เกี่ยวกับอนาคตสถานศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ที่จำนวนผู้สมัครเรียนลดน้อยลงอย่างต่อเนื่อง

ปีการศึกษา 2563 มหาวิทยาลัยเข้าร่วม 81 แห่ง หลักสูตรที่เปิดรับ 4,643 หลักสูตร มีที่นั่ง 376,516 คน แยกเป็นที่สังกัด ทปอ.29 แห่ง รับ 2,330 หลักสูตร ปรากฏว่าสมัคร 4 รอบมีผู้สมัครเพียง 247,130 คน ม.ราชภัฏ 18 แห่ง รับ 1,096 หลักสูตร 4 รอบ 59,192 คน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง รับ 697 หลักสูตร 4 รอบ 39,309 คน มหาวิทยาลัยเอกชน 22 แห่ง 452 หลักสูตร 4 รอบมี 30,567 คน

ภาพรวมในระบบการศึกษาไทย 2-3 ปี พบว่าเด็กแห่ไปเรียนสายอาชีพ และพบว่ามีเด็กเรียน ม.6 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งระบบปีนี้มีที่จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเพียง 2 แสนกว่าคน จากเดิมปี 62 มี 3 แสนกว่าคน ซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งค่อนข้างกังวล และมีการพูดถึงอนาคตว่าจะปรับตัวอย่างไร

ข้อมูลยังระบุชัดว่าคณะใดเป็นคณะยอดฮิต และคณะใดมีเด็กเข้าเรียนน้อย อาจต้องปิดการเรียนการสอน ส่วนคณะยอดฮิตคือ คณะด้านสาธารณสุขสาขาต่าง ๆ สมัครเรียนเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะมีงานรองรับ ค่าตอบแทนสูง สังคมยอมรับ รองลงมาคือคณะด้านการบริหาร มีผู้สมัครเกือบเต็มทุกแห่ง ขณะที่คณะด้านสังคมศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สมัครเรียนน้อยลง

ทั้งนี้ปฏิทินปีการศึกษา 2563 รอบที่ 2 โควตาสมัคร 6 ก.พ. -23 มี.ค. ประกาศผล 22 เม.ย. ยืนยันสิทธิ์ 22-23 เม.ย. สละสิทธิ์ 24-25 เม.ย., รอบที่ 3 รับตรงสมัคร 17-27 เม.ย. ประกาศผล 8 พ.ค.63 ยืนยันสิทธิ์ในวันสอบสัมภาษณ์ 1-15 พ.ค สละสิทธิ์ 17-18 พ.ค., รอบที่ 4 แอดมิชชัน สมัคร 7-20 พ.ค. ประกาศผล 29 พ.ค.63 ยืนยันสิทธิ์วันสัมภาษณ์ 1-5 มิ.ย. สละสิทธิ์7-8 มิ.ย. และรอบที่ 5 รับตรงอิสระ รับสมัคร 9-10 มิ.ย. การประกาศผลสอบสัมภาษณ์ ให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้กำหนดและไม่ต้องยืนยันกับ ทปอ

ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ฐานข้อมูลในระบบทีแคส ประจำปีการศึกษา 2563 การรับนิสิตนักศึกษามีจำนวนรับตามแผนมากที่สุด คือ กลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ 31,769 คน, กลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ 25,349 คน ส่วนกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) รับกลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ 14,880 คน, กลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ 13,500 คน, กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) รับกลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ 11,045 คน, กลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ 7,265 คน และกลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน รับกลุ่มสาขาวิชาบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ 13,040 คน, กลุ่มสาขาวิชามนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ 10,784 คน

นักวิชาการศึกษา มหาวิทยาลัยดังในภาคเหนือ กล่าวว่า แนวทางที่ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการ คือ ต้องการให้เน้นผลิตเด็กสายวิทยาศาสตร์ โดยกำหนดสัดส่วนสายวิทย์และสายสังคม 60 ต่อ 40 ซึ่งมหาวิทยาลัยจะต้องมีการปฏิรูปการจัดการเรียนการสอนใหม่ เพราะเมื่อนิสิตนักศึกษาจบจากมหาวิทยาลัยแล้ว จะต้องใช้ความรู้ทั้งวิทย์และศิลป์ในการทำงาน ในอนาคต ประเด็นการลงทุนด้านธุรกิจการศึกษานั้น มั่นใจว่าทุนจีนจะเข้ามาถือหุ้นสถาบันอุดมศึกษาของไทยเพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพราะไม่ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

เนื่องจากนิติบุคคลที่ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันการศึกษาเป็นบริษัทของไทย แต่จีนเข้ามาถือหุ้น การกำกับดูแลเรื่องคุณภาพมาตรฐานการจัดการศึกษาภายใต้กฎหมาย อุดมศึกษาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค และมาตรฐานการจัดการศึกษาของไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) คงต้องกำกับดูแลใกล้ชิด

ส่วนประเด็นระดับอุดมศึกษา มีผู้สมัครเรียนมหาวิทยาลัยน้อยลงอย่างต่อเนื่่องในห้วง 4-5 ปีจากที่มีในระบบ 170 แห่ง ผู้เรียนต้องมีประมาณ 4-5 พันคน จึงจะคุ้มทุนในการบริหารจัดการหลาย ๆ มหาวิทยาลัยยังมีผู้สมัครเรียนไม่ถึง 3 พันคน ดังนั้นการปิดคณะ ปรับหลักสูตร ยกเลิกสาขา คณะที่ไม่ตอบโจทย์สังคมจึงเกิดขึ้นในระบบแน่นอน บางแห่งปิดบางสาขาแบบเงียบ ๆไปแล้วด้วยซ้ำ รวมถึงเตรียมยุบวิทยาเขตหรือยกเลิกแผนไป และต้องหาวิธีที่จะดึงกลุ่มที่เบนเข็มไปเรียนสายอื่น เช่น สายเทคนิค อาชีวะ ที่ตลาดแรงงานต้องการทักษะ คนทำงานมากกว่าจ้างกลุ่มที่เรียนไม่สอดรับกับภาวะตลาดแรงงานยุคดิจิทัล

อีกทั้งเด็กรุ่นใหม่ ๆ มีมุมมอง ที่ปรับเปลี่ยนไปตามสังคมด้วย คงต้องเร่งหาทางแก้ไข ก่อนที่จะอยู่ในระบบตลาดการศึกษาไม่ได้ ในกรุงเทพก็เห็นการขายหุ้นให้กลุ่มทุนจีนไป 2-3 มหาวิทยาลัยแล้ว ในภาคเหนือมีการเจรจา 1-2 แห่งแต่ไม่บรรลุข้อตกลง ซึ่งหลังจากปีนี้ไม่แน่อาจจะเห็นปรากฎการณ์ตามที่เล่าลือกัน

ขอบคุณภาพ : จาก “ทปอ.”

ร่วมแสดงความคิดเห็น