กรมอนามัย ห่วงไฟป่ากระทบสุขภาพ แนะกลุ่มเสี่ยงป้องกันตนเอง

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงขณะนี้ พบว่าทุกจังหวัดมีค่า PM 2.5 เกินมาตรฐาน มีค่าระหว่าง 6-189 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงสุดที่ จ.ลำปาง รองลงมา คือ แพร่ และตาก ตามลำดับ โดยเฉพาะในช่วงนี้พื้นที่ ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน มีค่า PM 2.5 อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) และคาดการณ์ว่าจุดความร้อนของภาคเหนือ จะมีแนวโน้มสะสมเพิ่มขึ้น โดยเดือนมกราคมมีจุดความร้อนสะสม 12,750 จุด และในเดือนกุมภาพันธ์ มีจุดความร้อนสะสม 10,213 จุด ยังรวมถึงสถานการณ์ไฟไหม้ป่าในหลายพื้นที่ ได้แก่ อ.ภูกระดึง จ.เลย ในพื้นที่แนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี และ จ.นครนายก และไฟป่าในพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา จ.ตราด ที่ยังคงเกิดไฟไหม้ป่าอย่างต่อเนื่อง
ก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคปอด โรคภูมิแพ้ และโรคหัวใจ ต้องเฝ้าระวังและป้องกันสุขภาพ โดยติดตามสถานการณ์หมอกควันไฟป่า ตามการประกาศแจ้งเตือนจากสื่อต่าง ๆ ของหน่วยงานราชการ หรือติดตามรับฟังข่าวสาร ทางช่องทางอื่น ๆ ในพื้นที่ ได้แก่ โทรทัศน์ท้องถิ่น วิทยุชุมชน เป็นต้น หรือติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศจาก เฟซบุ๊กเพจ “คนรักอนามัย ใส่ใจอากาศ PM 2.5” ของกระทรวงสาธารณสุข โดยให้สังเกตที่สีเป็นหลัก หากเป็นสีส้มและสีแดง ซึ่งเป็นค่าฝุ่นละอองที่เกินมาตรฐาน และมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด โดยลดการทำกิจกรรมนอกอาคาร หากอยู่ในพื้นที่ที่มีควันไฟหรือหมอกควัน ควรใส่หน้ากากอนามัย ลดการออกกำลังกายกลางแจ้ง หรือการทำกิจกรรมที่ใช้แรงอย่างหนัก
“สำหรับบ้านที่ไม่มีระบบปรับอากาศ หรือระบบกรองอากาศ ต้องปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกัน   ควันไฟหรือหมอกควันเข้ามาในบ้าน และทำความสะอาดบ้านแบบเปียกอยู่เสมอ ส่วนอาคารสาธารณะ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก สถานพยาบาล และศูนย์การค้า ควรมีเครื่องกรองอากาศจากภายนอกเข้าสู่อาคาร และเปลี่ยนหรือล้างระบบกรองอากาศเป็นประจำ หากตนเองหรือคนในครอบครัว มีอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ ควันและฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาในที่โล่ง อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพแก่ประชาชน ซึ่งถือว่าเป็นเหตุรำคาญ ตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม หากผู้ใดพบเห็นสามารถแจ้งต่อ อปท.ในพื้นที่เกิดเหตุ เพื่อให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งแก่ผู้ก่อเหตุรำคาญจากฝุ่นละออง ที่เกิดจากการเผาในที่โล่ง หากมีการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 25,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น