“ท่านางจาม” ท่าเรือโบราณเมืองลำพูน

เมืองหริภุญชัย หรือ นครลำพูนนั้น มีแนวกำแพงเมืองและประตูเมืองโดยรอบ 6 ประตู ประตูด้านหน้าเมืองด้านทิศตะวันออก ซึ่งติดกับลำน้ำกวงมีทั้งสิ้น 3 ประตู คือ ประตูท่าขาม หรือ ประตูท่าข้าม ถัดขึ้นมาเรียกว่า ประตูท่าสิงห์ หรือ ประตูขัว เนื่องจากประตูแห่งนี้ เคยมีสะพานไม้ขนาดใหญ่ทอดข้ามไปสู่ฝั่งตะวันออก ถัดขึ้นมาคือ ประตูท่านาง ซึ่งอยู่บริเวณทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนทิศเหนือของเมืองหรือที่เรียกว่าหัวเวียงนั้น มีเพียงประตูเดียว คือ ประตูช้างสี ด้านทิศใต้ของเมืองลำพูนมีประตูเมืองเพียงแห่งเดียวเช่นกันคือ ประตูลี้ ด้านทางทิศ ตะวันตกมี ประตูมหาวัน เป็นประตูเมือง
ความสำคัญของประตูท่านาง หรือ “ท่านางจาม” ในอดีตกล่าวว่าเป็นประตูท่าน้ำ ที่เจ้าแม่จามเทวีใช้เสด็จลงเรือ นอกจากนั้นยังเป็นประตูสำหรับการค้าทางเรือระหว่างเมืองต่าง ๆ ต่อมาเมืองบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้นก็มีกลุ่มคนจากเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ไกลออกไปได้เข้ามา ทำการค้ากับเมืองหริภุญชัยก็รู้จักท่าน้ำแห่งนี้ สมัยก่อนคนจีนรู้จักเมืองหริภุญชัยและท่านางจามเป็นอย่างดี บริเวณบ้านช่างฆ้องแต่เดิมจะมีพ่อค้าวานิช ที่เป็นคนจีนมาอาศัยอยู่มากมาย กลุ่มพ่อค้าคนจีนตระกูลใหญ่ในเชียงใหม่ ลำพูนก็มีบรรพบุรุษเกิดที่บ้านช่างฆ้องแห่งนี้ เช่น หลวงอนุสารสุนทร คหบดีคนสำคัญที่มีบทบาทต่อการค้าของเมืองเชียงใหม่ก็มีต้นตระกูล และถือกำเนิดมาจากบ้านไก่แก้ว ซึ่งอยู่ในบริเวณแหล่งค้าขายของเมืองลำพูน

ประตูท่านาง ยังได้ชื่อว่าเป็นแหล่งค้าขายที่สำคัญของเมืองลำพูน จึงได้ชื่อว่า “ท่านางจาม” ซึ่งน่าจะไม่ใช่ประตูเมืองจริง ๆ แต่อาจเป็นประตูที่สำคัญใช้สำหรับค้าขายและติดต่อทางน้ำ ในพงศาวดารจีนสมัยจามเทวี ได้มีการจารึกชื่อประตูแห่งนี้ไว้ว่า “หนี่หวังก๊ก” คำว่า “หนี่” ในภาษาจีนแปลว่า คุณหรือเธอ (หมายถึงผู้หญิง) ส่วนคำว่า “หวังก๊ก” หมายถึงเมืองหรือนคร ดังนั้นคำว่า “หนี่หวังก๊ก” จึงน่าจะหมายถึงเมืองที่มีผู้หญิงเป็นกษัตริย์ปกครอง เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป เมืองลำพูนมีความเจริญมากขึ้น การเดินทางจากเชียงใหม่มาลำพูนก็ไม่ใช่เรื่องเหมือนแต่ก่อน ประตูท่านางจากที่มีความสำคัญต่อการค้าก็ลดบทบาทลง เกิดมีร้านค้าต่าง ๆ ขึ้นมากมายในลำพูน ชื่อประตูท่านางจามจึงกลายเป็นอดีต
ปัจจุบันบริเวณย่านประตูท่านางจึงกลายเป็นชุมชนประตูท่านาง หากนักท่องเที่ยวมีโอกาสเดินทางมาเยือนเมืองลำพูน ลองแวะไปเที่ยวชมประตูท่านาง หรือ ท่านางจาม ซึ่งนับได้ว่ามีความสำคัญต่อเมืองลำพูนมาแต่อดีตกาล ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นชุมชนมั่งคั่งเป็นแหล่งการค้าขายที่สำคัญ และยังเป็นการย้อนอดีตแห่งความรุ่งเรืองไพบูลย์ของประตูแห่งนี้

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น