แปลกตาสวยงาม!! เจดีย์ติดกับวิหาร ที่ “วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง”

มีโอกาสเดินทางมาจังหวัดตากบ่อยครั้ง แต่ไม่เคยได้เข้า วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง ใน อ.เมือง จ.ตาก วันนี้ได้โอกาสที่ดี ทางทีมเชียงใหม่นิวส์ออนไลน์พาเข้าวัดมากราบไหว้ ภายในวัดมีวิหารติดกับเจดีย์ทรงมอญที่บรรจุพระธาตุไว้ส่วนบนของยอดฉัตร แปลกตาตรงที่อยู่ติดกันไม่เคยเห็นที่ไหน ในวิหารที่ติดกันนั้นเป็นที่ประดิษฐานพระประธานที่ชาวบ้านเรียกว่า หลวงพ่อพุทธมนต์ เป็นพระพุทธรูปเนื้อสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย มีพุทธลักษณะที่สวยงามมาก สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 19 ตอนต้น ด้านข้างยังมีมีวิหารเก่าแก่ มีหลวงพ่อทันใจให้กราบไหว้อีกด้วย

วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง วัดโบสถ์มณีศรี ตั้งอยู่เลขที่ 231 บ้านรมณีย์ ถนนตากสิน ตำบลหนองหลวง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2400 ผู้สร้างคือ พระยาวิชิตรักษา (แก้ว เจ้าเมืองตาก) อุโบสถสร้างเมื่อ พ.ศ. 2410 แต่เดิมนั้นมีอยู่ 2 วัด ติดต่อกันคือ วัดโบสถ์มณีราษฎร์ กับวัดศรีบุญเรือง โดยมีกำแพงกั้นอยู่ด้านหลังอุโบสถของวัดโบสถ์มณีราษฎร์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2456 สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จตรวจการพระสงฆ์ จังหวัดตาก ได้เสด็จเยี่ยมวัดโบสถ์มณีราษฎร์วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2456 พระองค์ทรงปรารภว่า ถ้าได้รวมวัดศรีบุญเรืองกับวัดโบสถ์มณีราษฎร์เป็นวัดเดียว โดยให้ชื่อว่า “วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง” จะเป็นการดียิ่ง หลังจากนั้นจึงได้มีการรวมวัดทั้งสองดังกล่าวเป็นวัดเดียว ต่อมาได้มีการเปลี่ยนนามวัดเสียใหม่ให้มีนามว่า “วัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง” เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2497 นับเป็นวัดชนิดที่ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้วประมาณ พ.ศ. 2410
ซึ่งสำหรับ พระเจดีย์ทรงมอญนั้น แต่เดิมทีเป็นพระเจดีย์สีขาว ภายหลังบูรณะเป็นสีทองสวยงาม เหตุที่สร้างเคียงกันกับวิหาร ซึ่งเป็นวิหารแบบไทยนั้น คาดว่าน่าจะมาจาก เรื่องราวในประวัติศาสตร์เพื่อยืนยันถึงความสัมพันธ์ในสมัยก่อนของคนไทย และคนมอญที่มีการติดต่อไปมาหาสู่กัน

เป็นไปตามประวัติได้บันทึกไว้ เมื่อครั้ง “มะกะโท” ชาวมอญแห่งเมืองเมาตะมะ เมืองพม่าได้เข้ามารับราชการอยู่ในกรุงสุโขทัยสมัยราชวงศ์พระร่วง ราวปี พ.ศ. 1800 หรือราวกว่า 700 ปีมาแล้ว มะกะโทได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นกษัตริย์มอญนามว่า พระเจ้าฟ้ารั่ว เมื่อปี พ.ศ. 1836 ครั้งนั้นมอญอยู่ในอำนาจการปกครองของกรุงสุโขทัย พระเจ้าแสนเมืองมิ่ง กษัตริย์มอญองค์ต่อมาก็ยังขึ้นตรงต่อสุโขทัย จนกระทั้งสิ้นรัชกาล พ่อขุนรามคำแหง มอญจึงแยกตัวเป็นอิสระ บันทึกประวัติศาสตร์ไทยกล่าวถึงชาวมอญ เคยมีอำนาจรุ่งเรืองปกครองภาคใต้ของพม่าเคยประกาศเอกราชที่เมืองหงสาวดี รวมไปถึงพุทธสถานสำคัญที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศพม่า คือ เจดีย์ชาวดากองที่เมืองย่างกุ้ง ก็เป็นผลงานการก่อสร้างของชาวมอญดังนี้ เจดีย์ชาวบริสุทธิ์แห่งวัดโบสถ์มณีศรีบุญเรือง เป็นอิทธิพลแห่งศิลปกรรม วัฒนธรรม ที่สืบสานต่อมาและยืนยันความสัมพันธ์แห่งเผาพันธ์เชื้อชาติ ของคนไทย และคนมอญที่มีการติดต่อไปมาหาสู่กัน

ร่วมแสดงความคิดเห็น