ป.ป.ส. เผยมีการลักลอบนำเข้ายาอีมากขึ้น ร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สกัดกั้นยาอี

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27-29 กุมภาพันธ์ 2563 เจ้าพนักงาน ป.ป.ส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วยกรมศุลกากร กองบัญชาการตำรวจปราบยาเสพติด และศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ ภายใต้ภารกิจสกัดกั้นการลำเลียง ยาเสพติดผ่านท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Taskforce : AITF) ได้ร่วมกันสืบทราบว่าจะมีการลักลอบนำ “ยาอี” หรือ “เอ็กซ์ตาซี่” จากเยอรมันเข้าไทย โดยใช้บริการรับส่งพัสดุภัณฑ์ จึงได้พิสูจน์และติดตาม จนพบพัสดุรวม 3 กล่อง บรรจุยาอีรวม 26,340 เม็ด จึงทำการตรวจยึดก่อนที่จะถูกกระจายไปยังแหล่งแพร่ระบาด และทำการขยายผลจับบุคคลที่มีส่วนร่วมทั้งชาวไทยและต่างชาติอีก 3 คน เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาพบว่าขบวนการค้ายาเสพติดข้ามชาติ พยายามนำเข้ายาอี โดยใช้ระบบขนส่งพัสดุภัณฑ์จากประเทศแถบยุโรปอย่างต่อเนื่อง โดย 5 เดือนที่ผ่านมา สามารถสกัดกั้นยาอีที่ถูกส่งมาจากประเทศแถบยุโรปรวม 10 ครั้ง คือ เยอรมันนี 2 ครั้ง เนเธอร์แลนด์ 2 ครั้ง ฝรั่งเศส 2 ครั้ง โปรตุเกส 2 ครั้ง เบลเยี่ยม 1 ครั้ง และสโลวาเกีย 1 ครั้ง รวมยึดยาอีทั้งสิ้น 100,257 เม็ด ทั้งนี้เนื่องจากยาอีเป็นยาเสพติดที่มีแหล่งผลิตในยุโรป โดยเฉพาะในเนเธอร์แลนด์
เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ยาอี” จัดอยู่ในกลุ่มสารสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์กระตุ้นประสาท เหมือนยาบ้าและไอซ์ และเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มีโทษทางกฎหมายค่อนข้างรุนแรง หากกระทำผิดในข้อหาลักลอบนำเข้า มีโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิต หากจำหน่ายหรือครอบครองเพื่อจำหน่าย มีโทษสูงสุดจำคุกตลอดชีวิต ปรับสูงสุด 5 ล้านบาท
สำหรับการแพร่ระบาดยาอีในไทย กล่าวได้ว่ายังไม่แพร่หลายในวงกว้างมากเท่ากับยาบ้า เพราะปัจจัยด้านราคาและนิยมเสพกันเฉพาะในกลุ่มคนเที่ยวกลางคืนและมีฐานะการเงิน จึงระบาดอยู่ในสถานบันเทิงและแหล่งท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติอยู่เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ตามต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากจะพบการลักลอบนำเข้าบ่อยครั้งขึ้น ยังมีแนวโน้มว่ามีผู้เสพติดยาอีเข้าบำบัดเพิ่มขึ้นด้วย และขอเตือนกลุ่มผู้ใช้ว่ายาอีเป็น ยาเสพติดอันตรายที่ออกฤทธิ์ทำลายระบบประสาท มีผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดอาการประสาทหลอนอย่างรุนแรง และหากถ้าเสพเกินขนาดจะมีผลต่อการทำงานของหัวใจ ถึงขั้นอาจเสียชีวิตได้เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวในตอนท้ายว่า การดำเนินการภายใต้ภารกิจสกัดกั้นการลำเลียงยาเสพติดผ่าน ท่าอากาศยาน (Airport Interdiction Taskforce : AITF) จนส่งผลอย่างดียิ่งในการสกัดกั้นนี้ ไม่เฉพาะเป็นการบูรณาการความร่วมมือกันของหน่วยงานความมั่นคงดังที่กล่าวมา แต่ยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานปราบปราม ยาเสพติดในอาเซียน ซึ่งไทยถือเป็นหน่วยงานหลัก ในการประสานการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
ประการสำคัญ เป็นการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ปัญหาจะต้องลดลงจนอยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน ซึ่งนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ ได้เน้นย้ำ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมทรัพยากรแก้ไขปัญหาในทุกมิติ และขอให้พยายามลดปัญหาให้ได้ในทุกวิถีทาง จึงขอให้พี่น้องประชาชนได้เชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล ทั้งนี้ประชาชนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ ซึ่งหากพบเห็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 ตลอด 24 ชั่วโมง

ร่วมแสดงความคิดเห็น