ประเพณีสรงน้ำพระธาตุดงคำ ส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟู พัฒนา สืบทอดประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น

วันนี้ 8 มี.ค. 63 นายปัญญา จีนาคำ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นประธานเปิดงาน สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ประจำปี 2563 และงานสรงน้ำพระธาตุดงคำ โดยมีนายพุทธิวัฒน์ ใจสูง นายกเทศมนตรีตำบลแม่ยวม พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สมาชิกสภาฯ และพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ ร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบลแม่ยวม ดำเนินการจัด “งานสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น” ประจำปี 2563 และงาน “สรงน้ำพระธาตุดงคำ” บูรณาการร่วมกับชุมชนบ้านน้ำดิบ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการฟื้นฟู พัฒนา สืบทอดประเพณีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น ณ ลานสนามกีฬาโรงเรียนชุมชนบ้านน้ำดิบ ต.แม่ยวม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน
โดยนายมนัส สมผดุง ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลแม่ยวม กล่าวว่า “พระธาตุดงคำ” เป็นองค์พระธาตุคู่บ้านคู่เมืองเป็นที่เคารพสักการะของชุมชนบ้านน้ำดิบและชาวเมืองแม่สะเรียงตลอดมา ในสมัยโบราณมักจะบูชาพระบรมธาตุด้วยเครื่องหอม และข้าวตอกดอกไม้ พร้อมจะสรงพระธาตุด้วยน้ำสะอาด เป็นประเพณีความเชื่อดั้งเดิมที่สืบทอดกันมา เปรียบเสมือนการได้สรงน้ำพระพุทธเจ้า การสรงน้ำพระธาตุดงคำ ถือได้ว่าเป็นการรวบรวมเอาประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ของตำบลแม่ยวม ออกมาให้สาธารณชนได้รับทราบ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุน การฟื้นฟู สืบทอดงานประเพณี แก่ชนรุ่นหลัง การพัฒนาและอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีงามให้คงอยู่สืบไป กิจกรรมภายในงาน มีการสรงน้ำพระธาตุดงคำ การรำฟ้อนเล็บของไทยล้านนาที่มีมาแต่โบราณกาล การประกวดอาหารพื้นเมือง การตีกลองยาว (กลองปู่เจ่) การจัดซุ้มนิทรรศการประเพณี วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแข่งขันชกมวยไทย
“พระธาตุดงคำ” เป็นเจดีย์ที่ตั้งตระหง่านอยู่ในโรงเรียนชุมชนบ้านน้ำดิบ จากการสืบค้นประวัติความเป็นมาของพระธาตุดงคำ และคำบอกเล่าของปู่ย่าตายาย ได้ความว่า “ตั้งแต่จำความได้ก็เห็นเจดีย์นี้มีอยู่แล้ว” และจากการสืบค้นมีความสอดคล้อง กับประวัติพระเจ้าติโลกราชว่า พระเจ้าติโลกราชต้องอาญาถูกเนรเทศมาอยู่เมืองยวม (ปัจจุบัน คือ อำเภอแม่สะเรียง) คงจะก่อสร้างเจดีย์เมื่อประมาณ 500 กว่าปีมาแล้ว โรงเรียนชุมชนบ้านน้ำดิบแต่เดิมเป็นวัด มีชื่อว่า วัดคำ ซึ่งหลักฐานกุฎิและพระวิหารไม่ปรากฏให้เห็น นอกจากกำแพงวัดเท่านั้น ส่วนองค์พระเจดีย์ กรมศิลปากรได้ทำการบูรณะ เมื่อวันที่ 25 เดือนกันยายน ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 ส่วนของกำแพงแก้วและบริเวณรอบนอก กำลังรอทำการบูรณะในโอกาสต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น