13 มีนาคม วันช้างไทย กับมุมมองของนักท่องเที่ยว

วันนี้เรามาฟังมุมมองของสื่อต่างประเทศและนักท่องเที่ยว ที่มาเที่ยวชมช้างไทยตามสถานที่ต่าง ๆ ว่าการทำเช่นนี้เข้าข่ายการทารุณกรรมหรือไม่ เช่น ใช้ตะขอสับช้าง ใช้โซ่ล่ามช้างในพื้นที่จำกัด ปัญหาสุภาพช้างหรือแม้แต่การใช้ช้างเพื่อการแสดงหรือใช้ช้างเกินกำลัง ช้างอายุน้อย ช้างชรา ฯ ซึ่งลักษณะเหล่านี้อาจจะเข้าข่ายการทำทารุณกรรมช้างโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่
ปัจจุบันมีกฎหมายที่เกี่ยวกับช้างไทยหลายฉบับ และมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับช้างหลายหน่วยงานหลายกระทรวง ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบควรมีการบังคับใช้กฎหมาย ที่มีอยู่อย่างจริงจัง เช่น พ.ร.บ. ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ซึ่งถ้ามีลักษณะที่เข้าข่ายการทารุณกรรมช้าง หรือการจัดสวัสดิภาพช้างไม่เหมาะสม ก็สามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ และในขณะนี้ทางกรมปศุสัตว์ ได้แต่งตั้งคณะทำงานในการศึกษา และเสนอความเห็นในการจัดทำร่าง ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจัดสวัสดิภาพช้างในปางช้าง รวมทั้งในขณะนี้กำลังมีการจัดทำ ร่าง พ.ร.บ. ช้างแห่งชาติ ซึ่งก็มีการศึกษาและยกร่างกฎหมายฉบับนี้ คาดว่าจะมีการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องช้างโดยเฉพาะ

สำหรับด้านการศึกษาและวิจัยสวัสดิภาพช้าง รองศาสตราจารย์ น.สพ.ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม คณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักวิชาการหลากหลายสถาบันที่เกี่ยวข้อง ได้ทำการศึกษาและจัดทำคู่มือการจัดสวัสดิภาพของช้างเลี้ยงเอเชีย ที่ใช้ในการท่องเที่ยวในประเทศไทย รวมทั้งมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงช้างในภูมิภาคเอเชีย Asian Captive Elephant Working Group (ACEWG) ได้จัดทำแนวทางปฏิบัติ เพื่อสวัสดิภาพของช้างเลี้ยงในเอเชีย เรื่องการจัดการปัญหาช้างเลี้ยง ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคณะทำงานมีความเห็นที่น่าสนใจ เช่น ควรมีการศึกษาการปล่อยช้างเลี้ยงเข้าป่า แต่ในปัจจุบันทางเลือกนี้ไม่สามารถเป็นไปได้ทั้งหมด เนื่องจากช้างเลี้ยงส่วนใหญ่ขาดที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และยังพบปัญหาความขัดแย้งของคนกับช้างในทวีปเอเชีย ดังนั้น การปล่อยช้างเข้าสู่ป่า อาจทำให้ปัญหาความขัดแย้งนี้เพิ่มสูงขึ้น การใช้ช้างในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนั้นมีความหลากหลาย แต่ไม่มีข้อควบคุมการทำงานของช้าง เช่น การนั่งช้าง การอาบน้ำ การมีกิจกรรมร่วมกับนักท่องเที่ยว การแสดงโชว์ การฝึกควาญช้างและการจัดการท่องเที่ยวชมช้าง
นอกจากนี้ยังสามารถเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้และการศึกษาเกี่ยวกับช้าง ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับช้างนั้นมีมานานกว่าพันปี ธุรกิจการท่องเที่ยวปางช้างจะช่วยรักษาความรู้ และวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างในอดีต และยังแสดงให้เห็นถึงความผูกพันของคนกับช้าง ที่ช่วยส่งเสริมความเข้าใจและคุณค่าของช้าง ช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาดและสามารถเคลื่อนที่ได้ มีการพึ่งพาในกลุ่ม และมีโครงสร้างทางสังคมที่มีความซับซ้อน การเลี้ยงช้างจึงต้องมีการจัดการที่ดีและต้องการการดูแลอย่างมืออาชีพ ช้างสามารถทำอันตรายต่อคน และช้างด้วยกันไม่ว่าช้างเลี้ยงหรือช้างป่า จึงจำเป็นต้องมีการจัดการที่เหมาะสม

การศึกษาทางวิทยาศาสตร์จะมีส่วนช่วย เพื่อพัฒนาแนวปฏิบัติที่มีการคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ และปรับปรุงวิธีการจัดการช้างในอนาคต ช้างเลี้ยงส่วนใหญ่มีเจ้าของหรือถูกดูแลตามแบบวัฒนธรรมดั้งเดิม ที่มีการสืบทอดกันมา กว่าพันปี ความพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพการจัดการช้างเลี้ยง โดยสร้างความเข้าใจวิธีการเลี้ยง การจัดการช้างแบบใหม่ตลอดจนการนำมาปฏิบัติ ต้องอาศัยระยะเวลาในการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการจัดทำแผนการขึ้นทะเบียนช้างอย่างเป็นทางการนั้นมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะช่วยลด การค้าช้างที่ผิดกฎหมาย การดูแลสุขภาพของช้างรายเชือกที่เป็นระบบ อันจะทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลเชิงลึก เช่น ข้อมูลการเกิด การเสียชีวิต การผสมพันธุ์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนการจัดการทางพันธุกรรมและการจัดการประชากรช้างที่ยั่งยืน เป็นต้น
ดังนั้น แม้ปัจจุบันแนวความคิดในเรื่องการจัดการและสวัสดิภาพช้าง ยังอาจจะเป็นความคิดเห็นที่แตกต่างกันบ้างระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ หรือภายในกลุ่มเลี้ยงช้างภายในประเทศ ซึ่งมีแนวความคิดการเลี้ยง 2 แบบ ตามความเชื่อแบบชาวตะวันออก เช่น ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เห็นว่ายังคงใช้ช้างได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขต กฎหมายและเงื่อนไข ที่เน้นสวัสดิภาพสัตว์ ส่วนชาวตะวันตก เช่น ประเทศในสหภาพยุโรปและกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ NGOs เน้นการไม่ใช้ช้าง แต่การเลี้ยงช้างในประเทศไทย คือ วิถีชีวิตของคนไทย ที่ผูกพันกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานซึ่งต่างประเทศอาจจะไม่มี ทำให้มุมมองและวิธีคิด ประสบการณ์เรื่องดังกล่าวแตกต่างกัน
ดังนั้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับ ข้อกำหนด แนวทางปฏิบัติต่าง ๆ รวมทั้งการสอดส่องป้องกันและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ องค์ความรู้ ความคิดเห็น ข้อมูลทางวิชาการ ที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับด้านการจัดการ และสวัสดิภาพช้างไทยนั้น จะเป็นการช่วยพัฒนาในการจัดการช้างไทย ให้มีสวัสดิภาพและลดปัญหาการทารุณกรรมได้ เพื่อให้คนอยู่กับช้าง ช้างอยู่กับคนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างปกติสุขยิ่งขึ้นต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น