ซะป๊ะ “กาด” ในล้านนา

คำว่า “กาด” เป็นภาษาพื้นบ้านของล้านนา หมายถึง “ตลาด” ที่คนเรานิยมไปเดินซื้อของกินของใช้ แต่ปัจจุบันรู้สึกว่าตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงด้านรสนิยม ที่เรารับมาจากชาติตะวันตก เด็กวัยรุ่นไทยก็ต้องไปเดินตากแอร์เย็น ๆ บนห้างสรรพสินค้า เพราะยังไงเสียบนห้างสรรพสินค้าก็ต้องมีดีกรีกว่าตลาดทั่วไป ที่อยู่ตามข้างถนนหรือตามใจกลางของหมู่บ้านไม่ว่าจะเป็นของกิน ของใช้ที่ดูสะอาดตาจัดวางไว้อย่างเป็นระเบียบ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ เครื่องสำอางชนิดที่ว่ามีตั้งแต่อาหารสด อาหารแห้ง เครื่องดื่มที่มีราคาถูกและแพงตามยี่ห้อสินค้า ที่สำคัญไม่ต้องเดินตาดแดดให้ผิวหนังไหม้เกรียม

วันนี้เลยพาท่านผู้อ่านย้อนอดีตเตือนความทรงจำเก่า ๆ เพื่อรำลึกถึงภาพวันวาน ผู้อ่านหลายท่านคงจะเข้าใจประโยคที่ว่า “ถ้าอยากจะเห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร ก็ให้ไปดูที่ตลาดของชุมชนนั้น ไม่ว่าจะเป็น พืช ผัก ผลไม้ เสื้อผ้า ยารักษาโรค ล้วนมีขายในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น” ในเมืองหรือภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า “ในเวียง” ซึ่งเป็นแหล่งที่มีผู้คนอาศัยอยู่ก็มักจะมีกาดเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะสมัยก่อนไม่มีห้างสรรพสินค้าให้เดินซื้อของ ชาวบ้านต่างชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบนอก ก็มักที่จะเข้ามาในเมืองโดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ข้อ คือการนำเอาของมาขายโดยอาจจะนำพวกของป่า ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ ฯลฯ ที่หามาได้มาขายหรือนำเอามาแลกสินค้าอื่น อาจจะเป็นของใช้ที่จำเป็นก็ได้ สองคือการเข้ามาเพื่อมาซื้อของกินของใช้ที่ในหมู่บ้านไม่มี เหตุผลข้อหลังมักจะเป็นเหตุผลของชาวบ้านที่มีฐานะค่อนข้างดีถึงรวย

กาดประจำเมืองมักจะมีขนาดใหญ่จึงมักจะเรียกกันว่า “กาดหลวง” เป็นกาดที่คนมาเที่ยว เดินซื้อของจำนวนมากเป็นแหล่งรวมสินค้านานาชนิด ส่วน “กาดก้อม” เป็นตลาดขนาดเล็กที่ชาวบ้านที่อาศัยในแต่ละชุมชนจะจัดขึ้น โดยแม่ค้าภายในหมู่บ้านหรืออาจเป็นเพียงเพิงขายของริมทางก็ได้ สำหรับการเรียกชื่อกาดนั้น บางครั้งก็เรียกตามเวลาที่เข้ากาด เช่น “กาดเจ๊า” เป็นตลาดเช้าตรู่จนถึงสาย “กาดแลง” เข้าตั้งแต่ช่วงบ่ายแก่ ๆ จนถึงเย็นค่ำ ส่วนกาดที่เข้ากันตลอดทั้งวันเราจะเรียกว่า “กาดหมั้ว” หรือ “กาดเริง” ส่วนตลาดโต้รุ่งที่ปัจจุบันมีสมัยก่อนไม่มี

ปัจจุบันมี “กาดนัด” เป็นตลาดที่ขึ้นอยู่กับผู้ขายหรือพ่อค้าแม่ค้ามีการนัดหมายกันว่า ในแต่ลำสัปดาห์หรือแต่ละเดือน จึงจะมีการเข้าตลาดครั้งหนึ่ง ถ้าเป็นตลาดวัวควาย เรียกว่า “กาดงัว – กาดควาย” แต่ก่อนชาวบ้านจะมีการนำวัวควายมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน นอกจากสัตว์แลัวก็ยังมี เครื่องมือทางการเกษตร ก็มักจะหาซื้อได้ที่นี่ไม่ว่าจะเป็น เชือก เคียว สมุนไพร ยันต์กันผี เสื้อผ้า กล้าผัก ฯลฯ ปัจจุบันนี้ก็ยังคงมีอยู่แต่คงเหมารวมเป็นกาดหมั้ว เพราะไม่มีการนำเอาวัวควายมา ซื้อขายแลกเปลี่ยน ถ้าพ่อค้าคนใหนสนใจก็จะต้องขับรถไปหาซื้อตามหมู่บ้าน ที่มีการเลี้ยงวัวควาย ทั้งการขนส่งวัวควาย ลำบาก รถราก็เยอะขึ้น และปัจจุบันเราก็เห็นแล้วว่าไม่มีการนำเอาวัวควายมาช่วยในการทำนา ที่เห็นคงเป็นรถไถ รถแทรกเตอร์ กาดวัวควายปัจจุบันจึงมีของมือสอง เช่น รถไถนา เครื่องตัดหญ้า เสียมากกว่า ส่วนวัว ควายที่เราเห็นกันอยู่ชาวบ้านเลี้ยง เพื่อส่งขายโรงฆ่าสัตว์ ให้นายทุนชำแหละเนื้อสัตว์ขายในตลาดสด

การตั้งชื่อกาดนั้น นอกจากที่เรากล่าวมาข้างต้นแล้วยังนิยมตั้งชื่อตามบุคคลและสถานที่ เช่น กาดอุ้ยทา กาดอุ้ยเงา กาดทุ่งฟ้าบด กาดศรีบุญยืน หรือบ้างก็เรียกตามชื่อเจ้าของหรือตระกูลของเขานั่นเอง ในอดีต “กาด” ไม่เป็นเพียงแต่สถานที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าเท่านั้น กาดยังเป็นสถานที่ที่คนทุกเพศทุกวัยได้มาพบกัน เป็นสถานที่พิเศษที่เป็นสีสันของชีวิตคนในสมัยก่อนจะชอบไปกาดกันมาก
ปัจจุบันได้มีการแบ่ง “กาด” ออกเป็น 2 ลักษณะ คือ กาดแบบที่เคยเป็นกันมา และกาดแบบห้างสรรพสินค้า กาดแบบแรกดูเหมือนจะเป็นที่สำหรับพ่อบ้านแม่บ้าน หรือผู้ที่ต้องการหาซื้อของแบบเป็นกิจลักษณะ และต้องประหยัดเงินเป็นหลักเท่านั้น สามารถที่จะต่อรองสินค้าได้ไม่ต้องกังวลที่เราจะต้องแต่งตัวสวย ๆ เสื้อผ้าหรู รองเท้าเก๋ ๆ บางร้านที่รู้จักก็อาจจะมีการลดแลกแจกแถมด้วยก็เป็นได้ ส่วนกาดแบบห้างสรรพสินค้า เป็นที่นิยมกันในหมู่หนุ่มสาว และผู้ที่มีฐานะแม้จะมีราคาสินค้าที่แพงกว่า ดูหรูหร่า ทันสมัย มีแอร์เย็น ไม่ต้องเดินตากแดดให้ผิวระคายเคือง มีเพลงให้ฟัง มีหนังให้ดู มีห้องคาราโอเกะให้ร้อง มีหนุ่มหล่อ สาวสวยคอยบริการ แนะนำสินค้า

ดังนั้น ห้างสรรพสินค้าจึงเป็นทั้งตลาดและงานวัดของหนุ่มสาวยุคใหม่ ไม่ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไปแต่กาดก็ยังจะเกี่ยวข้องผูกพัน และมีความสำคัญในฐานนะที่ต้องเกี่ยวข้องปัจจัย 4 เครื่องอุปโภคของมนุษย์เรา ซึ่งถือว่าเป็นพื้นฐานการดำรงชีวิตของมนุษย์ เราไม่สามารถแบ่งแยกว่ากาดที่กล่าวข้างต้นทั้ง 2 รูปแบบ แบบใหนจะดีกว่ากัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรสนิยม และการพิจารณาของเราที่จะเป็นไปตามสถานะว่า ที่ไหนจะให้ของที่ดี ราคาถูก ประหยัด และที่สำคัญต้องมีคุณภาพ รักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วยจะดีมาก

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น