รฟม. ประกาศเดินหน้าโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ มุ่งพัฒนาระบบขนส่งทางรางในเมืองภูมิภาค

วันที่ 13 มีนาคม 2563 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จัดงานสัมมนาสื่อมวลชน (Press Seminar) โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ
ผู้ว่าการ รฟม. ให้เกียรติเป็นประธาน และเข้าร่วมเสวนาในหัวข้อ “Red Line Chiang Mai รถไฟฟ้ามหานครสู่รถไฟฟ้าเมืองภูมิภาค” พร้อมด้วย นายถนอม รัตนเศรษฐ ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม., นายกันต์ณธีร์ เนติโรจนชัยชาญ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาโครงการ, นายเฉลิมศักดิ์ สุรนันท์ เลขานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และนายสมชาย เอื้อวงษ์ชัย กรรมการเลขาธิการหอการค้าเชียงใหม่ เข้าร่วมเสวนา ณ ห้องดอยหลวง โรงแรมแคนทารีฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่

นายภคพงค์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า รฟม. ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยแก้ปัญหาการจราจรในเขตเมืองทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑลตลอดจนเมืองหลักในภูมิภาคซึ่งโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง โรงพยาบาลนครพิงค์ – แยกแม่เหียะสมานสามัคคี เป็นหนึ่งในโครงการระบบขนส่งมวลชน ในเมืองภูมิภาคที่ รฟม. ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการโครงการ โดยมีรูปแบบเป็นระบบรางไฟฟ้า (LRT/Tram) ทางวิ่งผสมระดับดินและใต้ดินมีแนวเส้นทางตามแนวเหนือใต้ ระยะทางรวมประมาณ 16 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีทั้งหมด 16 สถานี แบ่งเป็นสถานีระดับพื้นดิน 9 สถานี และสถานีใต้ดิน 7 สถานี มีอาคารจอดรถแล้วจร (Park & Ride) จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณจุดเริ่มต้นโรงพยาบาลนครพิงค์ รองรับรถยนต์ส่วนบุคคลประมาณ 1,600 คัน และรถจักรยานยนต์ 800 คัน และบริเวณที่ว่างข้างสำนักงานขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ รองรับรถยนต์ส่วนบุคคลประมาณ 1,200 คัน และรถจักรยานยนต์ 2,800 คัน มีศูนย์ซ่อมบำรุงโครงการตั้งอยู่บริเวณแยกหนองฮ่อ ขนาดพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ โดยมีกรอบวงเงินลงทุนโครงการรวมประมาณ 27,000 ล้านบาท

ปัจจุบันการดำเนินงาน อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา ซึ่งตามแผนงานเพื่อการศึกษาออกแบบแล้วเสร็จคาดว่าจะสามารถนำเสนอขออนุมัติดำเนินโครงการจากคณะรัฐมนตรีประมาณกลางปี 2564 และเริ่มก่อสร้างภายในปี 2565 โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2570 ทั้งนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จสมบูรณ์ จะเป็นการเพิ่มอีกหนึ่งทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ และมาตรฐาน มีความสะดวก รวดเร็ว และความปลอดภัย ให้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงสามารถลดการใช้รถยนต์ โดยรวมบนท้องถนน ซึ่งจะช่วยลดปริมาณมลพิษ ในอากาศที่เกิดจากการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงของรถยนต์ได้อีกด้วย

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น