ตลาดเงินโลกผันผวนหนัก ‘เฟด’ ลดดอกเบี้ยเหลือ 0%

เช้านี้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น 31.75 บาทต่อดอลลาร์ จากการปิดตลาดเมื่อวานที่ปิดอยู่ที่ 31.80 บาท ต่อดอลลาร์ โดย บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) คาดว่าวันนี้กรอบเงินบาทจะวิ่งอยู่ที่ 31.60-32.00 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงเช้าของวันที่ 15 มีนาคม 63 ตามเวลาท้องถิ่น เฟด หรือ “ธนาคารกลางสหรัฐฯ” มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (federal funds rate) ลงอีก 1.00% จากระดับ 1.00-1.25% มาอยู่ที่ระดับ 0.00-0.25% และประกาศซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) วงเงินประมาณ 21.7 ล้านล้านบาท เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ “โควิด-19”
โดย “เฟด” จะตรึงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวไปจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ แถลงการณ์ของ เฟด ระบุว่า เพื่อให้เกิดการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพของราคา ทั้งนี้ เฟด ยังได้ขยายอายุเงินกู้เป็นเวลา 90 วัน  และปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับธนาคารพาณิชย์ลง 1.25% สู่ระดับ 0.25% ในส่วนของ เงินกู้ฉุกเฉิน
ขณะเดียวกัน เฟด ยังปรับลดอัตราการกันสำรองของธนาคารลงไปที่ 0% พร้อมทั้ง ขอความร่วมมือไปยังธนาคารกลางระดับโลก เช่น ธนาคารกลางสวิส, ธนาคารกลางแคนาดา, ธนาคารกลางญี่ปุ่น, ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษในการเพิ่มสภาพคล่องเงินดอลลาร์ทั่วโลก ผ่านเงื่อนไขข้อตกลงสว็อประหว่างธนาคาร
การประชุมฉุกเฉินครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ของเฟดมีกำหนดจัดการประชุมวาระปกติในวันที่ 17-18 มี.ค. และความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของ เฟด ถือเป็นมาตรการครั้ง “ใหญ่ที่สุด” ที่เคยดำเนินการมา เรื่องดังกล่าวทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ออกมาแสดงความชื่นชม ต่อการตัดสินใจครั้งนี้ของ เฟด ว่า “นี่คือข่าวที่ดีมาก ๆ และถือว่าเป็นสิ่งที่ดีเยี่ยมสำหรับประเทศชาติของเรา”
เรื่องดังกล่าวทำให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต้องเรียกคณะกรรมการนโยบายการเงินประชุมฉุกเฉิน จากเดิมที่มีกำหนดการประชุมตามกำหนดการเดิมในวันที่ 18-19 มี.ค. เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐประกาศลดอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2558
การประชุมฉุกเฉินดังกล่าวทำให้ดัชนีนิกเกอิ ในตลาดหุ้นโตเกียวเปิดการซื้อขายเปิดบวก 155.03 จุด หรือ 0.89% แตะที่ 17,586.08 จุด ก่อนที่จะร่วงลง 159.81 จุด หรือ 0.92% แตะที่ 17,271.24 จุด หลังจากตลาดเปิดทำการได้เพียง 15 นาที
ในระยะสั้นเชื่อว่าการปรับลดดอกเบี้ยของ เฟด อาจจะมีการส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินทีละจุด โดยเริ่มจากเงินดอลลาร์ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีอ่อนค่าลง แต่ในช่วงที่ผ่านมากลับแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนในสถาบัญชางส่วนขาดสภาพคล่อง ดังนั้นเมื่อ เฟด มีการปรับลดดอกเบี้ยลง 1.00% ควบคู่กับการใช้นโยบาย QE เป็นสัญญาณเตือนค่อนข้างชัดเจนว่าดอลลาร์ จะมีการอ่อนค่าลงอย่างแน่นอน
แต่ประเด็นที่น่าติดตามและน่าจับตามองคงหนี้ไม่พ้นเรื่องของราคาทองคำและทิศทางของบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ เนื่องจากการปรับลดครั้งนี้ส่งผลให้ พันธบัตรปรับตัวลดลงทั้งหมด หนุนให้ทองคำปรับตัวสุงขึ้น พร้อมทั้งสกุลเงินเอเชียด้วย เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย
ในส่วนของค่าเงินบาทมีโอกาสอย่างมากที่จะผันผวนอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้นำเข้าและส่งออกอยู่ในสภาวะที่ระมัดระวังตัวอย่างมากเนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการผันผวนของค่าเงินบาทที่อาจผันผวนตามทิศทางของค่าเงินในภูมิภาค แต่จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ เฟค ครั้งนี้ เชื่อว่าส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างมากในระยะยาว เมื่อเปรียบเทียบกับดอลลาร์

ร่วมแสดงความคิดเห็น