ตามรอย “ครูบาขาวปี” วัดผาหนาม ลูกศิษย์ผู้ติดตามครูบาศรีวิชัย

เมื่อเอ่ยชื่อของครูบาเจ้าอภิชัย หรือครูบาขาวปี คนรุ่นปัจจุบันน้อยคนนักจะรู้จัก แต่ว่าเมื่อถามคนในอดีตเมื่อ 80 – 90 ปีที่แล้วไม่มีใครไม่รู้จักเกจิชื่อดัง แห่งล้านนาคนนี้ เพราะว่าท่านเป็นลูกศิษย์เอกของครูบาเจ้าศรีวิชัย ซึ่งกล่าวกันว่า ครูบาเจ้าอภิชัย (ขาวปี) จะเป็นผู้สืบต่องานพัฒนาจากครูบาศรีวิชัย ซึ่งหลังจากที่ครูบาศรีวิชัยได้มรณภาพลงแล้ว ครูบาเจ้าอภิชัยก็ได้สร้างสรรงานต่าง ๆ ในรูปถาวรวัตถุ ทั้งด้านพุทธจักรและอาณาจักรไว้มากมาย รวมถึงในด้านการเผยแพร่ธรรมะ อันเป็นคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมกับอบรมสั่งสอนบรรดาประชาชนผู้เลื่อมใสในตัวท่านให้ตั้งตนเป็นคนดีอยู่ในศีลธรรม
ชีวิตในวัยเด็กของเด็กชาย “จำปี” หรือครูบาเจ้าอภิชัย (ขาวปี) ก็เหมือนกับชาวบ้านจน ๆ ทั่วไป ท่านเกิดในครอบครัวชาวบ้านป่าครอบครัวหนึ่งที่บ้านแม่เทย อ.ลี้ จ.ลำพูน เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2443 ซึ่งถึงปัจจุบันนี้เป็นเวลากว่า 118 ปี ตอนสมัยยังเล็กเด็กชายจำปีมีร่างกายที่บอบเบามาก เพราะไม่มีโอกาสได้รับประทานอาหารที่ดี กินแต่ผักกับกลอย เจ็บป่วยเป็นโรคขาดสารอาหารแต่ก็ไม่ร้ายแรงนัก หลังจากนั้นอีก 4 ปี ครอบครัวของเด็กชายจำปีก็ต้องสูญเสียเสาหลักของล้าน คือ ผู้เป็นบิดาไปด้วยโรคไข้ป่า

เมื่อเด็กชายจำปีเติบโตขึ้น แม้ร่างกายจะเล็กแต่สิ่งแวดล้อมก็หล่อหลอมหัวใจของท่าน ให้แข็งแกร่งดังเพชร เด็กชายจำปีกับแม่ ช่วยกันต่อสู้ในการดำรงชีวิตอย่างทรหด จนเมื่ออายุได้ 16 ปี ผู้เป็นแม่จึงนำเด็กชายจำปีเป็นฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของครูบาศรีวิชัยที่วัดบ้านปาง ซึ่งนอกจากจะเป็นการศึกษาเล่าเรียนหนังสือ แล้วการบวชยังเป็นการทดแทนพระคุณของพ่อแม่ที่ดีที่สุด ระหว่างที่ท่านเป็นสามเณร ท่านได้ปฏิบัติกิจอันจะพึงมีแต่พระอาจารย์ คือ ครูบาเจ้าศรีวิชัย อย่างครอบถ้วน ท่านเป็นที่รักของอาจารย์และสามเณรด้วยกัน ครูบาศรีวิชัยจึงได้ตั้งชื่อให้เหมือนกับท่าน คือ สามเณรศรีวิชัย หลังจากที่สามเณรศรีวิชัยได้บวชเรียน ฝึกปฏิบัติธรรม กัมมัฏฐาน จนอายุได้ 22 ปีแล้ว ครูบาเจ้าศรีวิชัยจึงได้ทำการอุปสมบทให้ แต่เหตุที่ท่านมีชื่อเหมือนกับครูบาศรีวิชัย

เมื่อเป็นพระภิกษุจึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “อภิชัยขาวปี” เมื่ออุปสมบทได้เพียง 2 พรรษา จึงได้กราบลาอาจารย์ เพื่อแยกไปมุ่งงานก่อสร้างปฏิสังขรณ์ต่อไป ซึ่งท่านได้ปฏิบัติงานก่อสร้างในสถานที่ต่าง ๆ ตั้งแต่อายุ 24 ปีจนถึงอายุ 35 ปี ชีวิตของครูบาเจ้าอภิชัย (ขาวปี) ในช่วงนี้ คงมุ่งอยู่กับงานก่อสร้างไม่หยุดหย่อน จนกระทั่งเมื่อครูบาเจ้าศรีวิชัยอาพาธหนักแล้วถึงแก่มรณภาพ ในฐานะที่ครูบาอภิชัยขาวปีเป็นลูกศิษย์ ที่ครูบาศรีวิชัยได้พร่ำสอนตั้งแต่ยังเล็ก ท่านก็มีความโศกเศร้าไม่น้อย แต่ก็ปลงด้วยธรรมสังเวชโดยอารมณ์กัมมัฏฐาน แล้วทำทุกอย่างในฐานะของศิษย์จะพึงมีแก่อาจารย์ด้วยกตเวทิตาธรรม ท่านจึงสร้างเมรุหลังหนึ่งกับปราสาทอีกหลัง พร้อมหีบบรรจุศพเพื่อเก็บศพของครูบาศรี
วิชัย วันคืนยังคงหมุนไปพร้อม ๆ กับความเป็นพระนักก่อสร้าง พระนักพัฒนาของท่านก็ยิ่งลือกระฉ่อนยิ่งขึ้น เมื่อสิ้นบุญของครูบาเจ้าศรีวิชัย ผู้คนก็หลั่งไหลกันมาหาท่านในฐานะทายาททางธรรมของครูบาเจ้าศรีวิชัย

จนเมื่อปี พ.ศ. 2470 สังขารของท่านเริ่มชราลง แต่ท่านยังคงแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2520 ขณะที่ครูบาเจ้าอภิชัย (ขาวปี) ได้มุ่งหน้าไปเป็นประธาน ในการก่อสร้างพระวิหารวัดท่าต้นธงชัย จังหวัดสุโขทัยได้เพียงวันเดียว ท่านก็ได้จากไปด้วยอาการสงบ
อย่างไรก็ตามแม้ว่าปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 40 ปี ที่ท่านจากไป ทว่าผลงานและคุณความดีต่าง ๆ ที่ท่านได้สร้างขึ้น ยังย้ำเตือนอยู่ในความทรงจำของบรรดาสาธุชนลูกศิษย์ลูกหา ด้วยผลบุญแห่งการบำเพ็ญมาอย่างใหญ่หลวงเหลือคณานับ คงเหลือแต่ผลงานและประวัติชีวิตอันบริสุทธิ์ของท่านทิ้งไว้แด่อนุชนรุ่นหลังได้ชื่นชม.

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น