มหิดล เจ๋ง!! พัฒนาหน้ากากป้องกัน COVID-19 และ PM2.5 ได้แล้ว

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล เปิดแถลงข่าว ร่วมกับรศ.นพ.วิศิษฎ์  วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)  ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์  (TCELS)  ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  รศ.ดร.พานิช อินต๊ะ หัวหน้าหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้า (ประยุกต์) วิทยาลัยเทคโนโลยีและสหวิทยาการ มทร.ล้านนา รศ.วรรณะ มหากิตติคุณ นักวิจัยพัฒนาผ้ากันไรฝุ่นศิริราช และ รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รองผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช
(ภาพจาก https://mahidol.ac.th/th/2020/innovative-nano-masks/)
ในการเปิดตัวนวัตกรรมหน้ากากผ้านาโนกันไรฝุ่น (WIN-Masks: Washable Innovative Nano-Masks เพื่อป้องกัน COVID-19 เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 โดยตรง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติงานในพื้นที่ความเสี่ยง และประชาชนที่ต้องอยู่ในกลุ่มชนหรือพบปะผู้คนจำนวนมากเพื่อป้องกันการระบาดของไวรัสโคโรนา และลดขยะปนเปื้อนอย่างหน้ากากอนามัยแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
ตัวหน้ากาก WIN -Masks  มีโครงสร้าง 3 ชั้น ทำงานร่วมกัน ทำให้สามารถกรองฝุ่นและละอองฝอยจากเสมหะขนาดเล็กระดับ 2.5-5 ไมครอนได้ ซักล้างได้ มีคุณภาพมาตรฐาน ผ่านการทดสอบจากห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือ ได้แก่
  1. ชั้นที่หนึ่ง ผ้ากันไรฝุ่นศิริราชชนิดทอแน่น ที่มีรูผ้า (Pore size) ขนาด 4-5 ไมครอน ที่เคลือบสารนาโนกันน้ำ
  2. ชั้นที่สองเป็นผ้าไมโครไฟเบอร์ผสม ZnO ที่มีคุณสมบัติยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย
  3. ชั้นที่สามเป็นผ้าฝ้ายที่สามารถดูดซับน้ำจากไอจาม
โดยในระยะแรก จะส่งให้กับ โรงพยาบาลหลัก ๆ ก่อน สามารถส่งมอบได้ไม่เกิน 7,000 ชิ้น ภายใน 3 สัปดาห์ ภายใต้บรรจุภัณฑ์ฆ่าเชื้อ โดยการขยายผลต่อไปจะให้โรงงานที่ได้มาตรฐานรับดำเนินการผลิตขยายผลให้บุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ และดำเนินการให้ถึงมือประชาชนทั่วไป โดยอาศัยการระดมทุนในกลไก Crowd Funding ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือนส่วนจะได้เท่าใดนั้น ขึ้นอยู่กับผลการระดมทุนและกำลังการผลิตของโรงงาน
แนวคิดการออกแบบและดีไซน์ เพื่อให้แนบกับใบหน้าและสวมใส่สบาย และรูปแบบในการออกแบบ หน้ากาก WIN-Masks ออกแบบโดยทีมออกแบบของ ศลช. มุ่งเน้นการออกแบบที่ทันสมัย และสวมใส่สบาย มีหลายขนาด Small Medium Large ผลการทดสอบคุณสมบัติหน้ากาก WIN-Masks
  1. ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคของหน้ากาก (Particle filtration efficiency) เบื้องต้น หน้ากากต้นแบบสามารถป้องกันหรือกรองฝุ่นละออง PM 2.5 ได้ 65% ซึ่งมีค่าใกล้เคียง Surgical mask ทั่วไป และกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาให้สามารถกรองฝุ่น PM2.5 ได้ไม่ต่ำกว่า 80% ในชุดส่งมอบหน้ากาก 5,000 ชิ้น
  2. ความสามารถในการป้องกันการซึมผ่านของเหลว (Fluid resistance) ผลการทดสอบโดยการหยดน้ำลงบนพื้นผิวผ้ากรองไรฝุ่นที่เคลือบด้วยสารนาโน พบลักษณะน้ำกลิ้งบนใบบัว โดยที่น้ำไม่ซึมไปในเนื้อผ้า
  3. ความกระชับของหน้ากากเมื่อสวมใส่ (Fit test) ค่า Fit efficiency คือการทดสอบ ประสิทธิภาพการกรองอากาศจากภายนอกเมื่อสวมใส่ในคนทั่วไป พบว่า WIN-Masks สามารถป้องกันอากาศจากภายนอกเข้าได้ประมาณ 68% ซึ่งดีกว่าหน้ากากอนามัยทั่วไปที่สามารถป้องกันอากาศจากภายนอกได้เพียง 62%
ค่า Fit Factor เท่ากับ 3.11 หมายความว่า อากาศภายในหน้ากากนั้นมีความสะอาดมากกว่าอากาศภายนอก 3 เท่า ซึ่งมีค่าดีกว่า หน้ากากอนามัยทั่วไป (Surgical Mask) ซึ่งได้ค่า 2.65
  1. การทดสอบการซึมผ่านของอากาศ (Permeability Test) ผลทดสอบการซึมผ่านของอากาศ ของผ้ากันไรฝุ่นศิริราช ตามมาตรฐาน ISO 9237 : 1995 (E) โดยสถาบันพัฒนาสิ่งทอ แห่งประเทศไทย ได้ค่าเฉลี่ย 0.709 ลูกบาศก์เซนติเมตร ต่อตารางเซนติเมตร ต่อวินาที (โดยค่า = 0 แปลว่าไม่สามารถซึมผ่านได้ ค่า = 1 แปลว่ามีอากาศซึมผ่านที่ดีมาก) ทดสอบการหายใจด้วยอาสาสมัคร ในสภาพการทำงานในที่ร่ม พบว่าสามารถใส่ได้นานไม่รู้สึกอึดอัด
  2. สามารถซักซ้ำได้ประมาณ 30 ครั้ง ผลการทดสอบคุณสมบัติหลังการสักซ้ำที่
    0 ครั้ง  มีประสิทธิภาพการกรองที่ อนุภาค 0.3 ไมครอน ประมาณ 34%
    30 ครั้ง มีประสิทธิภาพการกรองที่อนุภาค 0.3 ไมครอนประมาณ 45%

    (https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2817846261584616&set=pcb.2817846864917889&type=3&theater)
สำหรับโรงพยาบาล หรือ แพทย์ ที่มีความสนใจและต้องการรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้ที่ Tel: 02644-5499 ext. 0 หรือ E-mail: [email protected]
สำหรับประชาชนที่กำลังคิดว่า หากต้องการใช้หน้ากากอนามัย ป้องกันไวรัส COVID-19 สักอันจะต้องเลือกอย่างไรนั้น ให้พิจารณาคุณสมบัติที่สำคัญดังนี้
  1. ประสิทธิภาพการกรองอนุภาคของหน้ากาก(Particle filtration efficiency: PFE) ที่สามารถป้องกันหรือกรองฝุ่นละอองฝอยขนาด 5 ไมครอนได้
  2. สามารถป้องกันการซึมผ่านของละอองฝอยเสมหะ หรือสารคัดหลั่งที่เป็นของเหลว (Fluid resistance) จากภายนอกสู่ผู้สวมใส่ และจากเสมหะผู้สวมใส่สู่ภายนอกได้
  3. ความกระชับของหน้ากาก (Fit test) สามารถสวมใส่ได้แนบกับใบหน้า ป้องกันอากาศจากภายนอกเข้าได้
  4. มีการซึมผ่านของอากาศได้ดี (Permeability Test) ไม่ทำให้การหายใจลำบาก
  5. สามารถซักซ้ำได้โดยไม่สูญเสียคุณสมบัติทั้ง 4 ด้าน
อย่างไรก็ตามการป้องกันการติดเชื้อไวรัสนอกจากการสวมหน้ากากแล้ว ต้องร่วมกับการล้างมือทุกครั้ง หรือล้างด้วย 70% แอลกอฮอล์ อย่างน้อย 20 วินาที ก่อนสัมผัสจมูกปากหรือขยี้ตา และการปฏิบัติสุขอนามัยอย่างเคร่งครัด กินร้อน ช้อนฉัน แยกภาชนะบรรจุอาหาร ไม่ใช้อุปกรณ์การรับประทานอาหารร่วมกัน
โดย…บ่าวหัวเสือ

ร่วมแสดงความคิดเห็น