“ผีหม้อนึ่ง” พิธีลงผีของคนล้านนา

ความเชื่อเรื่องการนับถือผีและวิญญาณ ถือได้ว่าอยู่คู่กับคนล้านนามาช้านานจนแยกจากกันไม่ออก โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ต่อการดำเนินชีวิตทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทว่ายังมีพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับ “ผี” อีกพิธีหนึ่งที่ปัจจุบันนับวันกำลังจะสูญหายไป เพียงเพราะความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี รวมทั้งการรับเอาวัฒนธรรมจากต่างชาติเข้ามาใช้ในสังคม พิธีกรรมที่ว่านี้ก็คือ “ผีหม้อนึ่ง” ซึ่งเป็นการเชิญวิญญาณของปู่ดำ ย่าดำเพื่อถามไถ่
เหตุการณ์และเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พิธีกรรมเช่นนี้ยังคงมีปรากฏให้เห็นในหมู่บ้านแถบชนบท ใครจะรู้ว่าสิ่งลี้ลับเหนือกฏเกณฑ์ของธรรมชาติ ผนวกกับความเชื่อแต่โบร่ำโบราณของคนล้านนา จะยังสามารถดำรงอยู่ให้เห็นมาจนถึงปัจจุบัน ขณะที่พวกหัวก้าวหน้าสมัยอาจมองว่า นี่เป็นเรื่องทางไสยศาสตร์ที่งมงาย

“ผีหม้อนึ่ง” เป็นพิธีกรรมโบราณของคนล้านนาที่สืบทอดต่อกันมานับร้อยปี การลงผีหม้อนึ่งส่วนใหญ่จะถามไถ่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตน เช่น การเจ็บไข้ได้ป่วย รวมไปถึงการทำนายในเรื่องอนาคต พิธีกรรมผีหม้อนึ่งถูกสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ รุ่นปู่ย่า มาถึงรุ่นพ่อแม่ เป็นเวลากว่า 100 ปีแล้ว หากจะกล่าวถึงที่มาของผีหม้อนึ่งนั้น แม่อุ้ยเงาเล่าว่า เริ่มแรกทีเดียวแม่เฟ่อ เอามาจากอำเภอเชียงแสน หลังจากที่แม่เฟ่อเสียชีวิตลงแม่อุ้ยเอ้ย ซึ่งท่านเป็นมารดาของอุ้ยเงาได้สืบทอดต่อมา จนแม่อุ้ยเอ้ยเสียชีวิตลง
แม่อุ้ยเงา ซึ่งเป็นลูกก็ได้สืบทอดผีหม้อนึ่งมาจนถึงปัจจุบัน และหากจะกล่าวว่าผีหม้อนึ่งของแม่อุ้ยเงาได้ ถูกสืบทอดต่อกันมาถึง 3 ชั่วอายุคนก็คงไม่ผิดนัก การลงผีหม้อนึ่ง จะใช้ขันตั้งเพียง 24 บาท ดอกไม้ธูปเทียนอีก 24 ชุดใส่ลงไปในกระด้ง ซึ่งบรรจุข้าวสาร หลังจากที่แม่อุ้ยเงาได้จุดธูปเทียน เพื่อเรียกวิญญาณของปู่ดำ “ย่าดำ” ซึ่งเป็นผีที่จะต้องเข้ามาสิงในหม้อนึ่งแล้ว ชาวบ้านที่มาก็จะถามไถ่ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นต้นว่า สาเหตุที่ตนเองมีอาการเจ็บไข้ได้ป่วยเนื่องจากอะไร

หลังจากนั้นปู่ดำย่าดำก็จะตอบ โดยการใช้แขนหม้อนึ่งขีดเขียนลงไปในกระด้ง ซึ่งมีข้าวสารเป็นรูปต่าง ๆ เมื่อชาวบ้านที่เดินทางมาขอให้ผีหม้อนึ่งช่วยทราบถึงสาเหตุ แล้วก็จะกลับไปแก้ไขตามที่ผีหม้อนึ่งบอกไว้ สำหรับการแก้ไขนั้นแม่อุ้ยเงาจะให้ส้มป่อยเอาไปแช่น้ำให้คนป่วยอาบ บางคนเมื่อแก้ไขแล้ว อาการป่วยดีขึ้นก็จะกลับมาให้รางวัลก็มี ในช่วงเข้าพรรษาชาวบ้านจะไม่นิยมลงผีหม้อนึ่ง ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงออกพรรษาไปแล้ว
นอกจากนั้นแม่อุ้ยยังเล่าต่อว่า ผีหม้อนึ่งนั้นมีอยู่ทุกบ้าน คนสมัยก่อนเวลาจะออกจากบ้านเดินทางไปไหนไกล ๆ หรือเข้าป่าไปหาของป่า เพื่อป้องกันภูตผีปีศาจก็จะนำข้าวตอกดอกไม้บอกกล่าว แก่ผีหม้อนึ่งที่สามเส้าของเตา หรือบางคนก็จะเอามือป้ายเศษเขม่าสีดำ ที่ติดอยู่ก้นหม้อมาแตะหน้าผาเป็นจุดสีดำ เป็นการป้องกันภูตผีที่จะเข้ามาทำร้าย

เรื่องราวของ “ผีหม้อนึ่ง” ของคนล้านนายังคงมีให้เห็นอยู่เสมอ แม้ว่าบางครั้งความเชื่อดังกล่าว อาจสูญหายหรือถูกหลงลืมไปบ้างตามเวลา แต่สิ่งสะท้อนที่ได้รับก็คือ ยาใจที่ผู้ป่วยต้องการเป็นที่พึ่งพิงสุดท้าย เพราะพวกเขามีความเชื่อ และเคารพในสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน และหลังจากนี้ไปภายในจิตสำนึก และความรู้สึกของชาวบ้านทุกคนจะเปี่ยมล้นด้วยความสุข ความอบอุ่นใจที่พวกเขาได้แสดงออกต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น