ชมภาพจิตรกรรมโบราณ ในหอไตร “วัดหนองเงือก”

วัดหนองเงือก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน เป็นวัดสำคัญเก่าแก่วัดหนึ่ง มีประวัติความเป็นมายาวนานที่วัดแห่งนี้ยังมีโบราณสถาน โบราณวัตถุอันทรงคุณค่ามหาศาล นอกจากนั้นวัดหนองเงือก ยังเป็นสถานที่ศึกษาค้นคว้าของนักโบราณคดี ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ลักษณะสำคัญของวัดหนองเงือก เป็นวัดที่สร้างขึ้นตามแบบศิลปกรรมพื้นบ้านเมืองเหนือสมัยเก่า ที่ซุ้มประตูหน้าวัดสร้างขึ้นตามแบบศิลปะล้านนา เป็นซุ้มประตูโขงประดับด้วยลวดลายวิจิตรพิศดาร แสดงให้เห็นถึงฝีมือทางสถาปัตยกรรมของช่างสมัยโบราณ

พระวิหารของวัดเป็นอาคารทรงไทยล้านนา บานประตูมีลวดลายแกะสลักไม้ที่สวยงามไม่แพ้ที่อื่น ๆ ภายในวิหารจะมีเสาไม้สักทั้งต้น ขนาดหนึ่งคนโอบ สูง 12 ศอก ด้านหลังของวิหารวัดเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์องค์นี้สร้างขึ้นในสมัยของครูบาญาณะ เจ้าอาวาสองค์ที่ 5 (พ.ศ. 2453-2490) ตามประวัติกล่าวถึงพระแก้วมรกตที่นำมาบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดหนองเงือก ว่าปี พ.ศ. 2467 ครูบาพ่อเป็ง โพธิโก ครูบาอินทจักร อินฺทจกฺโก ครูบาพรหมา พฺรหฺมจกฺโกและครูบาดำ คมฺภีโร พร้อมด้วยพระภิกษุอีกหลายรูป ได้เดินธุดงค์มาพักแรมที่วัดร้างป่าหนองเจดีย์ พอถึงฤดูเข้าพรรษาพ่อน้อยเมือง พิมสารพร้อมด้วยชาวบ้านบวกกอห้า บ้านโทกน้ำกัด บ้านดอน บ้านหนองเงือก และบ้านป่าเบาะกองงาม ได้พากันมาสร้างเสนาสนะให้
จากนั้นชาวบ้านจึงได้ปรึกษากันว่าจะหาพระประธานจากที่ไหนมาประดิษฐานไว้ในอุโบสถนี้ จึงได้พากันไปขุดหาพระพุทธรูปตามเจดีย์เก่าในบริเวณวัดป่าหนองเจดีย์ ทันใดนั้นพ่อน้อยพิมสาร ก็ขุดพบโกษดินเผา ซึ่งคนโบราณบรรจุไว้ในเจดีย์เก่า 1 ผอบ เมื่อเปิดออกดู ก็พบว่ามีพระแก้วมรกต 1 องค์ และพระบรมสารีริกธาตุอีก 101 องค์ บรรจุอยู่ในผอบนั้น จากนั้นจึงได้ตกแต่งน้ำอบน้ำหอมมาสระสรงองค์พระแก้ว ชาวบ้านจึงได้ปรึกษากันว่าจะนำไปประดิษฐานไว้ในเจดีย์วัดป่าเหียง ท่านครูบาเจ้าขัติยะ เจ้าอาวาสวัดป่าเหียงได้บอกว่า ที่วัดป่าเหียงนี้มีเจดีย์เรียบร้อยแล้ว แต่ที่วัดหนองเงือกยังไม่มีพระเจดีย์ จากนั้นจึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในเจดีย์ที่วัดหนองเงือก ตั้งแต่บัดนั้น
ชาวบ้านเคยเล่าว่า พระเจดีย์ของวัดหนองเงือกเคยแสดงปาฏิหาริย์ให้สาธุชนได้พบเห็นอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อใกล้จะถึงวันพระหรือวันศีล พระธาตุจะแสดงให้เห็นเป็นดวงไฟลอยอยู่เหนือยอดเจดีย์ สุกใสสว่างนวล บางครั้งก็ออกเที่ยวไปที่อื่น ก่อนจะกลับเข้ามาอีกครั้ง ส่วนมากชาวบ้านจะเห็นในตอนเช้ามืด ทุกปี เมื่อถึงวันแรม 15 ค่ำ เดือน 9 เหนือ ศรัทธาชาวบ้านหนองเงือกจะจัดให้มีพิธีสรงน้ำพระธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุขึ้นเป็นประจำ
ด้านทิศใต้ของพระเจดีย์เป็นหอพระไตรปิฏก เป็นสิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดภายในวัด สร้างขึ้นเป็นอาคารสี่เหลี่ยมคอนกรีต 2 ชั้น ศิลปกรรมล้านนาประยุกต์ อายุประมาณ 200 ปี ปัจจุบันเป็นที่เก็บพระธรรมคัมภีร์ต่าง ๆ ซึ่งจารึกลงในใบลานเป็นภาษาล้านนาด้วยตัวอักษรพื้นเมือง นอกจากนั้นยังเป็นที่เก็บของโบราณวัตถุมีค่าสำคัญของวัด เช่น พระพุทธรูปไม้ เชิงเทียน ตู้พระธรรม เทวรูป ระฆัง กังสดาลและโบราณวัตถุอีกหลายอย่าง ภายในตัวอาคารชั้นล่างยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือช่างสกุลล้านนาที่สวยงามและสมบูรณ์ที่สุด
ภาพเขียนฝาผนังในหอไตรวัดหนองเงือกเป็นภาพเขียนเรื่องราวทางพุทธประวัติและเรื่องรามเกียรติ์ เป็นภาพลักษณะ 2 มิติคล้ายกับภาพฝาผนังวัดพระแก้วมรกตในพระบรมมหาราชวัง หากต้องการจะชมความสวยงามของภาพเขียนจิตรกรรมอายุร้อยปีที่สวยงามและยังสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งในล้านนา ก็ต้องเดินทางไปชมที่วัดหนองเงือก
นอกจากนั้นบ้านหนองเงือก ยังนับเป็นหมู่บ้านของชาวยองหนึ่งในหลาย ๆ หมู่บ้านที่มีการทอผ้าฝ้ายแบบพื้นเมืองดั้งเดิม เล่ากันว่าชาวยองบ้านหนองเงือก มีต้นตระกูลมาจากเมืองยองในแคว้นสิบสองปันนา ที่ได้อพยพมาตั้งรกรากในอำเภอป่าซาง ชาวยองเหล่านี้กระจายกันอยู่ในหมู่บ้านต่าง ๆ หลายชุมชน โดยเฉพาะที่บ้านหนองเงือก ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมและประเพณีก็ว่าได้ ชาวบ้านบ้านหนองเงือกยังคงยึดถือปฏิบัติตามวัฒนธรรมดั่งเดิมของชาวยอง ซึ่งปรากฏให้เห็นได้ในงานประเพณีพื้นบ้าน เอกลักษณ์การแต่งกายของชาวยองก็โดดเด่นและน่าสนใจอยู่ไม่น้อย ผู้ชายชาวยองจะนิยมใส่กางเกงสะดอ สวมเสื้อม่อฮ่อม ผู้หญิงจะนิยมนุ่งผ้าซิ่น ใส่เสื้อป้าย โพกผ้าบนศรีษะโดยใช้ผ้าฝ้ายทอมือตามศิลปการทอผ้าแบบชนชาวยอง ด้วยเหตุนี้กระมังจึงทำให้ผ้าทอของชาวยองได้รับความสนใจจากคนทั่วไป
หมู่บ้านหนองเงือกจึงนับเป็นหมู่บ้านตัวอย่างหนึ่งในหลายหมู่บ้าน ที่มีความพยายามจะฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวยองโดยเฉพาะการทอผ้าของชาวยอง ให้กลับมาสร้างชื่อเสียงให้กับป่าซางอีกครั้ง แม้ว่าพวกเขาจะไม่หวังให้ผ้าทอชาวยองโด่งดังเหมือนกับผ้าทอแม่แจ่มจากเชียงใหม่ หรือผ้าทอยกดอกแบบดั่งเดิมของลำพูน แต่การสืบสานวัฒนธรรมประเพณีการทอผ้าแบบชาวยองก็ถือเป็นหนึ่งในความภูมิใจของชาวบ้านหนองเงือกทุกคน
บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น