CMU – HBNU International Capstone 2019 เรียนรู้แบบใหม่ ไม่อยู่แค่ในห้องเรียน

จริง หรือ ไม่ ที่คนเรามักมีทักษะจากประสบการณ์จริงในโลกกว้าง มากกว่าเรียนจากหน้าหนังสือ? มนุษย์แต่ละคนมีวีธีการเรียนรู้ต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ทักษะ หรือ ประสบการณ์อันช่ำชอง ต้องเกิดจากการได้ ลงมือทำ เฉกเช่นกับการใช้ชีวิต บางอย่างเราไม่สามารถทำตามทฤษฎี หรือ ตำราได้ 100% เพราะมักมีสิ่งที่ต้องพลิกแพลง แก้ไข ประยุกต์ ปรับตัวเสมอ หากเปรียบการทำงานในชีวิตจริงเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า สักอย่าง เมื่อความ ERROR บังเกิด เราเปิดคู่มือแล้วทำตาม ยังไม่สามารถแก้ไขได้เลยทีเดียว
ด้วยความจำเป็นที่กล่าวมาแล้ว การเรียนการสอนแบบ Capstone Project เป็นวิธีการหนึ่งที่วงการการศึกษาไทยนำมาประยุกต์ใช้ มุ่งให้นักศึกษาสร้างประสบการณ์จากการจำลองจากสถานการณ์ทำงานจริง ใช้ความรู้ที่ศึกษามาทั้งหมด เพื่อออกแบบ พัฒนา วิเคราะห์ และประเมินผล เสมือนกระบวนการในการทำงานของแต่ละองค์กรในโลกจริง CMU – HBNU International Capstone 2019 คือโครงการหนึ่งที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ Hanbat National University ประเทศเกาหลีใต้ จัดขึ้นเพื่อใช้เป็นกลไกในแผนพัฒนาการศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ระยะที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ให้มีคุณภาพระดับสากล ในการผลิตบัณฑิต ให้ความสำคัญกับการส่งเสริม และพัฒนานักศึกษาให้มีโอกาสเรียนรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับองค์กรต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาคณะฯ ดำเนินโครงการแลกเปลี่ยนกับต่างชาติทั้งแบบ Inbound และ Outbound โดยให้นักศึกษาเดินทางไปแลกเปลี่ยนกับมหาวิทยาลัยหรือองค์กรต่างประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนรับนักศึกษาต่างชาติเพื่อมาแลกเปลี่ยน ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์อย่างต่อเนื่อง

โครงการ CMU – HBNU มีเป้าหมายให้นักศึกษา และคณาจารย์มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ระหว่างกันทั้งด้านวิชาการ ภาษา วัฒนธรรม และขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายไปสู่ความร่วมมือทางวิชาการ จวบจนการทำวิจัยร่วมกันในอนาคต ทั้งยังฝึกการทำงานเป็นทีมในภาวะต่างวัฒนธรรม ต่างภาษา พัฒนาศักยภาพนักศึกษาให้พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคต โดยมีกำหนดกิจกรรม 2 ครั้ง ทั้งแบบ Inbound และ Outbound เริ่มจากนักศึกษา Hanbat National University (HBNU) ประเทศเกาหลีใต้ 10 คน มาแลกเปลี่ยน ณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มช. ระบุโจทย์หัวข้อ “การออกแบบบ้านผู้สูงอายุ” ให้นักศึกษา ทั้งสองสถาบันทำโครงการรูปแบบ Capstone ร่วมกันนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่ได้รับคัดเลือกจำนวน 12 คน พร้อมด้วยนักศึกษาจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 3 คน ภายใต้การดูแลของคณาจารย์ที่ปรึกษาทั้งสองสถาบัน ศึกษาดูงานสถานที่จริง เพื่อ ออกแบบบ้านที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุในจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากที่นักศึกษาเมืองโสมกลับไปแล้ว แต่ละกลุ่มได้ทำงานร่วมกันผ่านระบบ Teleconference เพื่อปรับปรุงแบบบ้านที่ได้ออกแบบไว้ในตอนต้นให้เหมาะสมและเป็นไปตามความต้องการของผู้สูงอายุ กิจกรรม ส่วนที่ 2 เป็นคราวที่ลูกช้าง มช. พากันไปเยือนเพื่อนชาวเกาหลี ณ Hanbat National University ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อเติมเต็ม แบบบ้านผู้สูงอายุให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และนำเสนอผลงานร่วมกัน ภายใต้การให้คำแนะนำของคณาจารย์ ที่ปรึกษาทั้งสองสถาบัน

นายณัฐวุฒิ สิทธิสาร นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมโยธา เปิดเผยถึงการตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการว่า “เริ่มแรก อาจารย์ที่ปรึกษาโปรเจกต์จบของผม ได้นำโครงการ CMU-HBNU International Capstone Project 2019 นี้มานำเสนอ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ทราบว่า เป็นโครงการเกี่ยวกับอะไร แต่เห็นว่าสามารถใช้เนื้อหาในโครงการนี้มาเป็นโปรเจกต์จบได้ บวกกับการจะได้ทำงานร่วมกับนักศึกษาต่างชาติ คือ เกาหลีใต้ ตัวผมเองอยากฝึกการใช้ภาษาอังกฤษ และความกล้าพูดคุยกับชาวต่างชาติ จึงสนใจโครงการนี้ระหว่างเข้าร่วมโครงการ สำหรับผมขอแบ่งเป็น 3 ช่วงนะครับ ช่วงแรกเป็นการเข้าค่ายรวมกับนักศึกษาเกาหลี ซึ่งได้ทำงานร่วมกันประมาณ 1 อาทิตย์ เราได้ทำกิจกรรมร่วมกันมากมาย เริ่มต้นด้วยการละลายพฤติกรรมเพื่ออยู่ร่วมกัน ไปเที่ยวถนนคนเดินเชียงใหม่ด้วยกัน เข้าชมคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ ได้ชมศิลปะล้านนาอันสวยงามมาก วันต่อมามีการบรรยายพิเศษจากอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เนื้อหานี้จะได้ใช้ในการทำ workshop โจทย์คือ ออกแบบบ้านผู้สูงอายุซึ่งเป็นครอบครัวอยู่กัน 5 คน มีผู้สูงอายุ 2 คน บ้านหลังนี้ต้องอนุรักษ์พลังงาน และป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ ภายใต้งบประมาณ 5 ล้านบาท ตอนแรกช่วยกันคิดออกแบบร่วมกันจากนักศึกษาเกาหลี และพวกเราชาวมช. วิศวฯ บวกกับสถาปัตฯ ระยะต้นๆ คิดไม่ค่อยออกว่าต้องพิจารณาอะไรก่อนหลัง แต่ก็ช่วยกันคิด พร้อมแก้ปัญหา ส่วนกิจกรรมในแต่ละวันก็จะมีการบรรยายพิเศษ และมีเวลาทำงานกลุ่มมีออกไปนอกสถานที่บ้าง เข้าเยี่ยมชมสถานที่จริงของสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ Care Resort – Health and Wellness Tourism Thailand ที่แม่ริม เพื่อให้รู้ถึงความต้องการ ที่แท้จริง สถานที่เขาสวยมากครับ ได้ความรู้ใส่สมองกลับมาเยอะมาก จนถึงวันสุดท้ายได้นำเสนอผลงานการออกแบบเป็น Conceptual Design แก่อาจารย์ และรับฟังข้อคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป ค่ำวันนั้นมีงานเลี้ยงส่ง Hanbat National University ที่ร้านอาหารเกาหลีในเมือง ซึ่งเราทุกคนสนุกมาก ช่วงที่สอง คือ การพัฒนาการออกแบบบ้านผู้สูงอายุ โดยติดต่อกันทาง Social Media ระหว่างกันของนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่กับนักศึกษาเกาหลี และช่วงสุดท้ายของโครงการ คือ การไปเยือน พร้อมเข้าค่าย ณ HBNU ในเดือนธันวาคม 2562 เป็นเวลาเกือบสัปดาห์ ซึ่งพวกเราตื่นเต้นมาก เพราะส่วนใหญ่ยังไม่เคยไปประเทศนี้ ผมได้เรียนรู้ ได้เห็นเทคโนโลยีที่น่าสนใจ และทันสมัยของเกาหลีมากมาย ได้ลงมือทดลองใช้เทคโนโลยีจริงๆ กิจกรรมที่ได้ทำมีทั้งการบรรยายพิเศษโดยอาจารย์ของ HBNU และ การทำงานกลุ่ม พัฒนาการออกแบบบ้านผู้สูงอายุให้โดดเด่นที่สุด อาจารย์จัดกิจกรรมน่าสนใจมาก ทั้งได้ทำงาน และเรียนรู้วัฒนธรรม อาหาร ภาษา รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยวในเกาหลี แม้จะหนาว แต่ตื่นเต้น และสนุกสุดๆ ช่วงท้ายก่อนปิดโครงการก็นำเสนอผลงาน การออกแบบบ้านผู้สูงอายุที่ทุ่มเททำกันมานานถึง 4 – 5 เดือน แก่คณาจารย์ของทั้งสองมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับคำชื่นชมในผลงาน เป็นอย่างมาก

การเข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ผมคิดว่าได้รับทั้งความรู้ ความสนุกจากการทำกิจกรรม และมิตรภาพจากเพื่อนชาวเกาหลี ของ HBNU รวมถึงได้รู้จักวัฒนธรรมเกาหลีที่เราไม่เคยได้สัมผัสจริงๆ มาก่อน เช่น ทำอาหารเกาหลี ทำกิมจิ และภาษาเกาหลี ที่ขาดไม่ได้ คือ การได้ชิ้นงานที่น่าสนใจจากการช่วยกันออกแบบบ้านผู้สูงอายุที่สามารถนำเนื้อหาใช้ทำโปรเจกต์เพื่อสำเร็จการศึกษา ในปี 4 อีกด้วย นับเป็นความคุ้มค่ามากจริงๆ ครับ”

นางสาวพิชชาพร พรหมภัทรา นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล อีกหนึ่งผู้ร่วมโครงการเสริมว่า “เหตุผลหลักที่ตัดสินใจร่วมโครงการนี้ คือ อยากฝึกภาษาอังกฤษ อยากทำความรู้จักเพื่อนต่างชาติ นอกจากนี้กิจกรรมยังน่าสนใจด้วย ช่วงอาทิตย์แรก เพื่อนเกาหลีมาแลกเปลี่ยนที่คณะฯ เรา 1 สัปดาห์ เราแบ่งกลุ่มกับเพื่อนจากภาควิชาวิศวกรรมโยธา และคณะสถาปัตย์ฯ จากนั้นเริ่มวางแผนเกี่ยวกับโปรเจกต์ที่เราจะทำ โดยมีอาจารย์คอยสอน หลังจากเพื่อนเกาหลีกลับไป พวกเราก็คุยงานกันอย่างต่อเนื่องผ่านแชต ซึ่งกลุ่มคนไทย จะนำเสนอความคืบหน้าของงานให้อาจารย์ทุก2 สัปดาห์ จนถึงเวลาที่จะได้ไปเกาหลี วันแรก ที่ไปถึงก็นำเสนองานให้อาจารย์ทั้งสองสถาบันฟัง แล้วแยกกันไปแต่ละกลุ่ม ปรับปรุงและแก้ไขงานไปเรื่อย ๆ การนำเสนอครั้งสุดท้ายเราทำโปสเตอร์สรุปงานทั้งหมด นอกจากการทำ โปรเจกต์ของโครงการแล้ว พวกเราก็ได้ทำอะไรเยอะมากที่เกาหลี ตอนเย็นในแต่ละวัน อาจารย์เกาหลีจะพาไปทานอาหารเย็น แล้วตอนค่ำก็กลับมาทำงานกันต่อในมหาวิทยาลัย หนูได้ความรู้หลายๆ ด้านมากขึ้น และได้ฝึกการค้นคว้าข้อมูลด้วยตัวเอง เช่น การคำนวณการใช้แผงโซลาร์เซลล์สำหรับบ้าน การวางแปลนสุขาภิบาล รวมถึงระบบไฟฟ้าภายในบ้าน แล้วยังได้ใช้ศาสตร์วิศวกรรมโยธา และ การออกแบบทางสถาปัตยกรรม จากเพื่อนๆ ด้วย ซึ่งหนูเรียนวิศวกรรมเครื่องกล ก็ไม่เคยเข้าใจมาก่อน นอกจากความรู้ที่ได้ ก็คือได้เพื่อน มิตรภาพใหม่มากมาย พร้อมฝึกทักษะการสื่อสารได้ความสนุกไปในตัว ซึ่งโครงการนี้ทำให้รู้สึกว่าตัวเองกล้าแสดงออกมากขึ้น เพราะได้นำเสนองานค่อนข้างบ่อย และต้องสื่อสารกับเพื่อนเกาหลีให้เข้าใจตรงกัน”

นับได้ว่า CMU – HBNU International Capstone 2019 บรรลุวัตถุประสงค์ได้เป็นอย่างดี เพราะนอกเหนือจาก ความตั้งใจส่งต่อองค์ความรู้ของศาสตร์ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ยังทำให้ผู้ร่วมโครงการเข้าใจภาพ และกระบวนการทำงานที่แท้จริง นอกเหนือจากนี้ยังเป็นการสอนใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น การทำงานในแต่ละสภาวะ ร่วมกับคนต่างชาติ ต่างนิสัย ต่างรสนิยม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะติดตัว เป็นประสบการณ์ และทักษะ ความรู้ความเข้าใจที่ไม่ใช่แค่ตัวหนังสือนั่นเอง

ร่วมแสดงความคิดเห็น