สดร. ชวนจับตา “ดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS)” อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในเดือน เม.ย.​ นี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ชวนจับตา “ดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS)” (ซีสองศูนย์หนึ่งเก้าวายสี่ แอตลาส) อาจสว่างจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในเดือนเมษายน 2563
นายสิทธิพร เดือนตะคุ เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร. เผยว่า ขณะนี้ดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) กำลังโคจรเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน และมีค่าความสว่างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างร่วมกันจับตามอง เนื่องจากมีโอกาสสว่างจนมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ค้นพบครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมาโดยกล้องโทรทรรศน์ของโครงการแอตลาส (Asteroid Terrestrial-impact Last Alert System ; ATLAS) ตั้งอยู่บนหมู่เกาะฮาวาย ขณะนั้นมีความสว่างน้อยเพียงแมกนิจูด 19 จึงเป็นเพียงดาวหางดวงหนึ่งที่พบได้ทั่วไป แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2563 ความสว่างของดาวหางดวงนี้กลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนคาดว่าอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก
[1]
ภาพถ่ายดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ ยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ภายใต้โครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ ในความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กองทัพอากาศ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
นายสิทธิพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ดาวหางดวงล่าสุดที่สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจนในไทย คือ ดาวหางเฮล-บอปป์ (Hale-Bopp) เมื่อปี 2539 มีค่าความสว่างปรากฏที่แมกนิจูด -1.3 (ความสว่างปรากฏของวัตถุท้องฟ้าที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า มีค่าประมาณ 6 ส่วนค่าความสว่างปรากฏของดวงจันทร์เต็มดวงประมาณ -12.6) นายเซอิจิ โยชิดะ นักล่าดาวหางชื่อดังของญี่ปุ่น คาดการณ์ว่าดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) อาจสว่างได้ถึงระดับ แมกนิจูด -2 หมายความว่าดาวหางดวงนี้อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเช่นเดียวกับดาวหางเฮล-บอปป์
C/2019 Y4 (ATLAS) เป็นดาวหางคาบยาวที่มีวงโคจรเกือบจะเป็นพาราโบลา (near-paraboric) กล่าวคือ มีค่าความรีสูง คาบการโคจรประมาณ 6,000 ปี จะเดินทางเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน แต่ละครั้งใช้เวลาหลายพันปี ทำให้การเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งนี้จะเป็นครั้งเดียวในช่วงชีวิตของเราที่จะสามารถสังเกตเห็นดาวหางดวงนี้
[2]
ภาพกราฟแสดงค่าความสว่างของดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) ที่คาดการณ์ไว้ (เส้นสีแดง) เทียบกับผลการสังเกตการณ์จริง (จุดสีดำ) โดย เซอิจิ โยชิดะ นักล่าดาวหางชื่อดังของญี่ปุ่น (ภาพจาก www.aerith.net)
ปกติแล้วเมื่อดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเท่าใด ก็จะยิ่งสว่างมากขึ้น ซึ่งดาวหางดวงนี้จะเข้าใกล้โลกมากที่สุด ในวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ระยะห่างประมาณ 117 ล้านกิโลเมตร จากนั้นจะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดในวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ห่างเพียง 0.26 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 39 ล้านกิโลเมตร อย่างไรก็ตาม ช่วงที่สามารถสังเกตการณ์ได้ดีที่สุด คาดว่าในเดือนเมษายน เนื่องจากไม่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไป
ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2563 ตำแหน่งของดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) ปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวหมีใหญ่ (Ursa Major) สังเกตได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กหรือกล้องสองตา ก่อนเคลื่อนเข้าสู่กลุ่มดาวยีราฟ (Camelopardalis) ในเดือนเมษายน คาดว่าจะสว่างมากขึ้นจนอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ผู้ใดสนใจชมดาวหาง ควรหาสถานที่ห่างจากตัวเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงแสงรบกวน สำหรับการหาพิกัดดาวหางบนท้องฟ้า สามารถดาวน์โหลดแผนที่ดาวพร้อมตำแหน่งดาวหางในแต่ละช่วงได้ที่ https://www.britastro.org/sites/default/files/2019y4.pdf
[3]
ภาพจำลองวงโคจรของดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) (ภาพจาก Solar Dynamic System JPL/NASA)
ทางด้าน สดร. ได้ร่วมติดตามดาวหาง C/2019 Y4 (ATLAS) ด้วยกล้องโทรทรรศน์ควบคุมระยะไกลอัตโนมัติ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ บริเวณยอดดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ภายใต้โครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ ในความร่วมมือระหว่าง สดร. กองทัพอากาศ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีวัตถุประสงค์หลักในการเฝ้าติดตามและศึกษาวงโคจรของวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศ เก็บรวบรวมและสร้างฐานข้อมูล เพื่อนำไปศึกษาวิจัยต่อยอดองค์ความรู้ เป็นศูนย์ข้อมูลการเตือนภัย รวมทั้งสร้างความตระหนัก ความรู้ และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวัตถุใกล้โลกและวัตถุอวกาศให้กับสาธารณชน ซึ่งการที่ดาวหางโคจรเข้าใกล้โลก ถือเป็นเหตุการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติ สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ นายสิทธิพร กล่าวปิดท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น