พระธาตุหริภุญชัย จ.ลำพูน เจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดในล้านนา

พระธาตุหริภุญชัย เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาที่ใหญ่แห่งหนึ่งในอาณาจักรล้านนาไทย  สร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช (ราชวงศ์รามัญ) ซึ่งครองเมืองหริภุญชัยราว พ.ศ. 1590 เพื่อให้เป็นหลักฐานแห่งความรุ่งเรืองทางพุทธศาสนา พระเจ้าอาทิตยราชทรงเลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา ตอนแรกได้สร้างเป็นมณฑปขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุสูง 3 วา มีซุ้มทั้ง 4 ด้าน ครอบโกศทองคำสูง 3 ศอก บรรจุพระธาตุไว้ภายใน เมื่อมาถึงสมัยพระเจ้าติโลกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ โปรดให้เสริมพระบรมธาตุสูงขึ้นอีกเป็น 23 วา เอาทองจังโกฏก์ (ทองแดงปนนาคทำเป็นแผ่น) หุ้มตลอดทั่วทั้งองค์ตั้งแต่ฐานถึงยอด สิ้นทองจังโกฏก์ 15,000 แผ่น

ตำนานวัดพระธาตุหริภุญชัย ได้กล่าวถึงการสร้างพระบรมธาตุแห่งนี้ว่า เมื่อครั้งพุทธกาลสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระสาวกได้เสด็จมาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ พระองค์ได้เสด็จมายัง ณ หมู่บ้านปาทรคาม ลุ่มแม่น้ำพิงค์ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของชาวลัวะ (บางตำนานก็ระบุว่าเป็นชาวเม็ง) ครั้นเมื่อชาวบ้านทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดจึงพากันนำผลสมอ (บะนะ) มาถวาย เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จฉันท์ผลสมอ แล้วจึงนำผลสมอฝังไว้ ณ ดินแดนผืนนี้พร้อมกับให้คำทำนายว่า ในอนาคตกาลภายหน้าจะมีมหาราชองค์หนึ่งมาก่อพระเจดีย์สีทองขึ้น ลัวะได้ฟังดังนั้นจึงทูลขอพระเกศาธาตุจากพระพุทธองค์แล้วนำใส่กระบอกไม้รวกฝังไว้ลงดิน มีพญากาเผือกคอยบินวนเวียนอารักขาอยู่
กาลเวลาผ่านไปนานถึง 16 ศตวรรษ ชาวลัวะผู้นั้นเกิดเป็นพญาอาทิตยราช พระองค์ได้สร้างหอพระบังคนไว้ โดยทุกครั้งที่พระองค์จะเข้าไปทรงพระบังคน พญากาเผือกก็จะถ่ายลงมาใส่หัวพระองค์ทุกครั้ง ต่อมาพญาอาทิตยราชเกิดความสงสัยจึงได้นำทารกแรกเกิด 7 วัน ไปอยู่กับพญากาเผือกสลับกับอยู่มนุษย์คราวละ 7 วัน เป็นเวลานาน 7 ปี เพื่อเรียนรู้ภาษากา กระทั่งทราบว่า ณ บริเวณใต้ดินห้องพระบังคนเป็นสถานที่บรรจุพระเกศาธาตุของพระพุทธเจ้า และต่อมาได้มีการขุดพระเกศาขึ้น และได้ก่อเป็นพระบรมธาตุเจดีย์ศรีหริภุญชัยขึ้น

 

ในสมัยพระเจ้าเมืองแก้ว ได้บูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระมหาธาตุนี้อีกได้เรี่ยไรเงินจากชาวบ้านได้ 225,000 บาทเอาไปซื้อทองแดงและทองคำแผ่นหุ้มบุองค์พระเจดีย์ จนกระทั่งถึง พ.ศ. 2348 พระเจ้ากาวิละจึงโปรดให้เจ้าบุรีรัตน์ (เจ้าหลวงเศรษฐีคำฝั้น) และเจ้าศรีบุญมา ผู้น้องนำบริวาร 1,000 คน และครอบครัว ไปตั้งที่เมืองลำพูน ซึ่งเป็นเมืองร้าง เนื่องจากถูกพม่าเข้าครอบครองเป็นเวลากว่า 200 ปี จากนั้นจึงได้มีการบูรณะองค์พระธาตุนี้เรื่อยมา

 

พระมหาธาตุองค์นี้เป็นจอมเจดีย์ใหญ่องค์หนึ่งในจำนวน 8 องค์ของประเทศไทยที่มีอายุล่วงเกินกว่าหนึ่งพันปี และในตำนานพระธาตุประจำปีเกิดของนักปราชญ์ทางเมืองเหนือกล่าวว่า คนเราเกิดมาในโลกนี้เมื่อสิ้นอายุขัยแล้ว ดวงวิญญาณจะไปสถิตอยู่ตามพระธาตุเจดีย์ต่าง ๆ ตามปีเกิด และเมื่อขณะที่ยังมีชีวิตอยู่หากได้ไปนมัสการยังพระธาตุประจำปีเกิดแล้ว ถือว่าได้บุญกุศลและทำให้มีอายุยืนนาน พระบรมธาตุหริภุญชัยเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีระกา หรือปีไก่

ในบริเวณวัดพระธาตุหริภุญชัย ยังมาโบราณสถานที่สำคัญอีกหลายแห่ง เช่น เจดีย์กู่คำ ตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเขตพระราชฐาน เจดีย์กู่คำ หรือสุวรรณเจดีย์ หรือปทุมวดีเจดีย์ เป็นเจดีย์ที่นางปทุมวดีเทวี พระมเหสีของพระเจ้าอาทิตยราช ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา เจดีย์องค์นี้มีลักษณะคล้ายสุวรรณจังโกฏเจดีย์ หรือเจดีย์วัดกู่กุดของวัดจามเทวีมาก กล่าวกันว่า พระนางปทุมวดี ทรงจำลองแบบสุวรรณจังโกฏไปสร้าง แต่ย่อขนาดให้เล็กลง ภายในเจดีย์นี้บรรจุพระพิมพ์ ที่มีชื่อของลำพูนอยู่ด้วย คือ “พระเปิม” หรือ “พระเปิน”
วัดพระบรมธาตุหริภุญชัย เป็นพระอารามหลวงสำคัญชั้นเอกของเมืองลำพูน ทุกวันจะมีนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาเที่ยวชมศิลปกรรมและความสวยงามของวัดพระธาตุหริภุญชัย ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ด้วยรูปลักษณะทางศิลปกรรมที่งดงาม โดยเฉพาะองค์พระธาตุซึ่งเป็นเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ จึงทำให้องค์พระธาตุกลายเป็นแหล่งศึกษาค้นคว้าทางด้านศิลปกรรมของล้านนา
บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น