พิธีล้างหน้าพระเจ้าของชาวเมียนมา

ชาวเมียนมาแห่งเมืองมัณฑะเลย์ นับเป็นอีกกลุ่มชนหนึ่งที่แสดงออกต่อศรัทธาพระพุทธศาสนาได้ไม่น้อยไปกว่าชาวลาวหลวงพระบาง หรือชาวไตลื้อแห่งเมืองเชียงตุง เพราะที่ประจักษ์แก่สายตาเบื้องหน้าในพิธีล้างพระพักตร์พระมหามุณี พระพุทธรูปสำคัญที่สุดของมัณฑะเลย์นั้น แทบไม่ต้องสงสัยเลยว่าแรงพลังแห่งความเชื่อศรัทธาของชาวพม่านั้นยิ่งใหญ่ไม่แพ้ชนชาติใด
ทุก ๆ เช้า ชาวพม่าแห่งเมืองมัณฑะเลย์นับร้อยคน จะพากันมานั่งรอเพื่อจะได้ร่วมพิธีล้างหน้าพระหรือล้างพระพักตร์พระมหามุณีให้ได้สักครั้งหนึ่ง ด้วยความเชื่อว่า พระพุทธรูปองค์นี้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้มอบลมหายใจอันศักดิ์สิทธิ์เสมือนเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า และด้วยเหตุแห่งความเชื่อที่พระพุทธรูปองค์นี้มีชีวิต จึงเป็นที่มาของพิธีล้างพระพักตร์ให้พระองค์ทุก ๆ เช้า เฉกเช่นกับมนุษย์ที่ต้องล้างแปรงฟันทุกวัน โดยมีพระสงฆ์รูปหนึ่งทำหน้าที่ล้างพระพักตร์พระมหามุณีทุก ๆ วันตั้งแต่ราวตีสี่ครึ่งไปจนถึงรุ่งสาง
พิธีล้างพระพักตร์พระมหามุณี จะเริ่มจากคณะกรรมการวัดทำการเปิดประตูเหล็กซึ่งถูกปิดล็อกอย่างหนาแน่น ขณะที่ชาวพม่าต่างพากันมานั่งรอ บ้างก็นั่งสมาธิ บ้างก็นั่งสวดมนต์ดังประสานกันกึกก้อง หลังจากที่เปิดประตูพระสงฆ์ผู้ทำหน้าที่ล้างพระพักตร์จะขึ้นไปบนแท่นซึ่งวางพาดระหว่างตักขององค์พระ พระ เริ่มจากการประพรมพระพักตร์ด้วยน้ำผสมเครื่องหอมที่ทำจากเปลือกไม้ที่เรียกว่าทานาคา จากนั้นก็ใช้แปรงขนาดใหญ่ขัดสีบริเวณพระโอษฐ์ แล้วจึงใช้ผ้าเปียกลูบไล้ไปบนหน้าพระพักตร์ จนมาถึงขั้นตอนสำคัญคือการใช้ผ้าขนหนูเช็ดพระพักตร์ให้แห้ง และขัดสีให้พระพักตร์สุกปลั่งเป็นเงาวามอยู่เสมอ

ทุก ๆ วัน ผ้าขนหนูที่ชาวบ้านนำมาวางไว้จะกองสูงเป็นตั้ง สูงเสียจนหลวงพ่อผู้ทำพิธีได้เพียงหยิบขึ้นมาลูบผ่านเพียงเล็กน้อย เพื่อให้ผ้าทุกผืนได้สมัผัสพระพักตร์ สนองแรงศรัทธาของชาวพม่าโดยถ้วนหน้า บางคนที่ไม่ได้นำผ้าขนหนูมาก็จะนำดอกไม้ธูปเทียนเข้าไปกราบไหว้บริเวณฐานองค์พระ หลังจากที่หลวงพ่อทำพิธีเสร็จก็จะมานั่งสวดมนต์ ขณะที่บริเวณด้านหน้าพระพักตร์มีการนำสำรับกับข้าว ผลไม้มาถวาย ประหนึ่งว่าหลังจากที่ล้างหน้าเสร็จก็จะต้องฉันภัตตาหารเช้า

ส่วนหลวงพ่อผู้ทำหน้าที่ล้างพระพักตร์รูปนี้ จะปฏิบัติภารกิจนี้ทุกวันโดยไม่มีแม้วันหยุด จนกว่าสังขารของท่านจะไม่เอื้ออำนวย คณะกรรมการวัดจึงจะมีการประชุมเลือกพระรูปใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน ซึ่งถือเป็นธรรมเนียมประเพณีที่ถือปฏิบัติมานานกว่า 200 ปีนับตั้งแต่ที่พระมหามุณีได้มาประดิษฐานอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์

พระมหามุณี พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ปางมารวิชัยหนึ่งในห้าของพม่า ขนาดหน้าตักกว้าง 9 ฟุต ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าจันทสุริยะ กษัตริย์ของชาวยะไข่แห่งเมืองธรรมวดี ปัจจุบันอยู่ในแคว้นอาระกันทางภาคตะวันตกติดประเทศอินเดีย โปรดให้หล่อพระมหามุณีขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.688 และเนื่องจากที่เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ จึงต้องหล่อเป็น 3 ท่อน แล้วนำมาประสานกันจนสนิทไม่มีรอยต่อ ว่ากันว่าความงดงามและความศักดิ์สิทธิ์ของพระมหามุณีเลื่องลือไปไกลจนเป็นที่หมายปองของกษัตริย์พม่า กระทั่งมีความพยายามยกทัพไปตีเมืองยะไข่ และเคลื่อนย้ายพระพุทธรูปองค์นี้อยู่หลายครั้ง แต่ไม่ประสบความสำเร็จ นับตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโนรธามหาราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรพุกาม เรื่อยมาจนถึงพระเจ้าจันสิทธะ กระทั่งมาประสบความสำเร็จในสมัยของพระเจ้าปดุง หรือ บูดอพญา ทรงเคลื่อนทัพไปยึดมืองยะไข่ แล้ว
ชะลอพระมหามุณีข้ามแม่น้ำอิระวดีมายังกรุงมัณฑะเลย์ โดยสร้างวัดเป็นที่ประดิษฐานเรียกว่า วัดมหามุณี

จนถึงวันนี้ แรงศรัทธาของชาวมัณฑะเลย์ต่อพระมหามุณีก็ยังไม่เสื่อมคลาย เพราะสิ่งที่แสดงให้เห็นเป็นรูปธรรมก็คือทั่วทั้งองค์ถูกพอกพูนไปด้วยทองคำเปลว จนแลดูอวบอ้วนกว่าองค์จริงมาก ถึงกลับมีชื่อเรียกพระพุทธรูปองค์นี้อีกชื่อว่า “พระพุทธรูปทองคำเนื้อนิ่ม” เพราะเว้นแต่พระพักตร์ที่ดูเปล่งปลั่งเป็นประกายแล้ว กดลงไปที่ใดก็จะสัมผัสได้ความนุ่มนิ่มแห่งเนื้อทองคำที่ชาวพม่านำมาปิดไว้นอกจากนั้นเมืองมัณฑะเลย์ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกมากมาย ได้แก่ พระราชวังมัณฑะเลย์ของพระเจ้ามินดงและกษัตริย์สีป้อ พระเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายของพม่า ก่อนเสียเอกราชให้กับอังกฤษ สร้างขึ้นจากไม้สักทองทั้งหลังอยู่ในเขตกำแพงเมืองมีคูน้ำล้อมรอบทั้งสี่ด้าน ภายในพระราชวังมีส่วนของอาคารทั้งแบบพม่า ยุโรปที่ทรงคุณค่าและสวยงามมาก
วัดยะไข่ หรือ วัดมหามุณี เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธมหามุณี พระพุทธรูปสำริดปิดทองศิลปกรรมแบบพม่า มีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพม่า ทุก ๆ เช้าจะมีพิธีล้างหน้าพระตอนประมาณตีสี่ ถือเป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวพม่า

วัดกุโสดอ เป็นวัดที่เคยทำสังคายนาพระไตรปิฏก ครั้งที่ 5 ของโลก ภายในวัดมีแผ่นศิลาจารึกพระไตรปิฏกทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์

วัดชเวนันดอ สร้างจากไม้สักทั้งหลัง แกะสลักลวดลายวิจิตรบรรจง ทั้งหลังคา บานประตูและหน้าต่าง เน้นรายละเอียดเกี่ยวกับพุทธประวัติและทศชาติของพระพุทธเจ้า ตามแบบศิลปะพม่าแท้ ๆ

สะพานอูเป็ง เป็นสะพานไม้สักที่นำมาจากพระราชวังในเมืองอังวะ สร้างขึ้นกว่า 200 ปีแล้วทอดข้ามทะเลสาบตองตะมัน มีความยาว 1,200 เมตร ถือว่าเป็นสะพานไม้สักที่ยาวที่สุดในโลก

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น