เชียงใหม่ พบผู้ป่วยเพิ่มอีก 4 ราย สะสมเป็น 19 ราย ส่วนกรณีผู้ป่วยจากสำนักงานประกันสังคม จังหวัดเชียงใหม่นั้น ยังรอผลยืนยัน

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 27 มี.ค. 2563 ที่ห้องศูนย์ข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจ จังหวัดเชียงใหม่ (ศ.ข.ฉ.ก.) ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายแพทย์ชาญชัย พจมานวิพุธ รอง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ ได้ร่วมกันเปิดแถลงข่าว สถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ ประจำวันที่ 27 มี.ค. 2563 เพื่อแจ้งข้อมูลความคืบหน้าของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ให้พี่น้องประชาชนทราบโดยทั่วกันผ่านช่องทางไลฟ์สดในเฟซบุ๊ก เพ็จข้อมูลข่าวสารเฉพาะกิจ จังหวัดเชียงใหม่

โดยทาง นายแพทย์ชาญชัย พจมานวิพุธ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ภาพรวมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ในช่วง 24 ชม. ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อโควิด -19 เพิ่มขึ้นจำนวน 4 ราย รวมผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด 19 ราย โดยใน 1 รายนั้นกลับบ้านไปแล้ว ตั้งแต่ระยะต้นๆ และในปัจจุบันมีผุ้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจำนวน 18 ราย และมีผู้ป่วยที่อยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังอยู่ในโรงพยาบาลขณะนี้ จำนวน 77 ราย จากทั้งหมด 561 ราย กลับบ้านแล้ว 484 ราย ในส่วนของโรงพยาบาลนครพิงค์มีผู้ป่วยติดเชื้ออยู่ 9 ราย นอนอยู่ที่โรงพยาบาล 6 ราย ส่วนคนไข้ที่อาการดีขึ้น ได้ส่งตัวไปที่โรงพยาบาลประสาทจังหวัดเชียงใหม่ 3 ราย

สรุปแล้วจำนวนทั้งหมด 18 ราย ขณะนี้อยู่ที่โรงพยาบาลสันทราย 2 ราย , โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 1 ราย , โรงพยาบาลนครพิงค์ 6 ราย และโรงพยาบาลประสาท 9 ราย สำหรับการสอบสวนโรคใน 4 รายที่ติดเชื้อล่าสุดในช่วง 24 ชม. ที่ผ่านมา พบว่า 3 ราย นั้นต่อเนื่องมาจากการสัมผัสผู้ป่วยรายที่ 495 ซึ่งเป็นดีเจเอ็มซี ที่ทำงานที่ร้านซาวอัพ และที่ร้านเดอะบิววี ในอำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ และมีผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดอีก 8 ราย ทางทีมสืบสวนสอบสวนโรคได้มีการติดตามและมีจำนวนที่ตรวจพบแล้วคือ รายที่ 551 , 552 และ 553 ซึ่งตรวจแล้วพบผลเป็นบวก โดยในรายที่ 551 ทราบว่าทำงานที่ร้านซาวอัพผับ ในวันที่ 13,14 และ 17 มี.ค. และมีการเข้าไปในร้านโซนกาดสวนแก้ว วันที่ 13 มี.ค.และวันที่ 14 มี.ค.ยังไปทำงานที่ร้านเดอะบิววีผับ และ 18 มี.ค.ไปบ้านเพื่อน โดยในวันดังกล่าวมีผู้สัมผัสอยู่ 2 ราย และวันที่ 20 มี.ค.ไปร้านหม่าล่าแถวพายัพกับเพื่อน 1 คน และไปร้านมีนาในวันที่ 21 มี.ค.กับเพื่อนคนเดิม ดังนั้นสรุปว่าผู้ติดเชื้อรายนี้มีผู้สัมผัสสูง อยู่จำนวน 5 ราย ขณะเดียวกันมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในส่วนของร้านที่กาดสวนแก้วนั้นประมาณ 10-20 ราย

ในส่วนของรายที่ 552 ก็เป็นโซนเดียวกันคืออยู่ในส่วนของร้านซาวอัพผับ โดยทำงานในร้านวันที่ 14-17 มี.ค. 2563 และไปเที่ยวที่ร้านเดอะบิววีผับกับผู้ป่วยราย 495 และมีผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูงมากอยู่ 7 ราย เป็นเพื่อนที่ร่วมสังสรรด้วยกัน 6 ราย และเพื่อนร่วมห้องหรืออยู่บ้านเดียวกัน 1 ราย และในส่วนของรายที่ 553 ก้เป็นคนทำงานอยู่ที่ร้านซาวอัพผับ และได้ไปเที่ยวกับผู้ป่วยราย 495 มีผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงสูง อยู่ 6 ราย โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มเพื่อนที่ไปพริตตี้คลับ 5 ราย และเพื่อนร่วมห้องหรืออยู่บ้านเดียวกัน 1 ราย ซึ่งทั้ง 3 รายมีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่ยืนยันแล้วในรายที่ 495
และในส่วนของผู้ป่วยรายที่ 4 ที่เพิ่มขึ้นในวันนี้ เป็นผู้ป่วยที่กลับจากประเทศอังกฤษ ในวันที่ 11 มี.ค.ด้วยไฟล์บิน TG911 ลงที่สุวรรณภูมิ และต่อเครื่องตรงไปที่เชียงรายและกักตัวอยุ่บ้าน จากนั้น 17 มี.ค.เริ่มมีไข้ แต่ไม่ได้ไปตรวจที่ไหน อยู่บ้านกินยาลดไข้เอง และ 25 มี.ค. 2563 ขับรถจากเชียงรายมาที่โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ โดยรายนี้กำลังรอผลการสอบสวนเพิ่มเติม แต่ในเครื่องบินไฟล์บิน TG911 ที่ผู้ป่วยนั่งมานั้นไม่พบผู้สัมผัสเสี่ยง เนื่องจากผู้ป่วยเริ่มมีอาการวันที่ 17 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา

รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพิงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับคำถามเกี่ยวกับกรณีที่ว่ามีผู้ป่วยจากสำนักงานประกันสังคมจังหวัดเชียงใหม่นั้น ในส่วนนี้ยังไม่สามารถเรียกเป็นผู้ป่วยได้ เนื่องจากตอนนี้ยังไม่มีอาการอะไร ซึ่งรายนี้เป็นคนสนิทของผู้ป่วยติดเชื้อในรายที่ 551 ซึ่งได้มีการนำตัวไปที่โรงพยาบาลประสาทและได้ทำการส่งตรวจซึ่งยังไม่พบอาการและยังให้เป็นกรณีการกักตัวอยุ่ที่บ้านเพื่อรอผลตรวจโดยคาดว่าในช่วงค่ำวันนี้ผลตรวจก็น่าจะออกมาแล้ว และอีกประเด็นคำถามคือกรณีของผู้ที่ไปในพื้นที่เสี่ยงที่มีการแจ้งให้กักตัว 14 วัน ต้องนับจากวันที่เข้าไปสัมผัส เช่น เข้าไปในผับที่มีอินเด็กเคส ต้องนับต่อไปอีก 14 วัน

ขณะที่ทางด้าน นายรัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในส่วนของขณะนี้ได้มีมาตรการในการตรวจค้นคัดกรองพี่น้องประชาชนที่มาจากต่างจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ที่เป็นพื้นที่เสี่ยงติดโรค โดยขณะนี้ก็ได้มีการจัดเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องได้มีการตรวจสอบพื้นที่เดินทางเข้ามาทั้งสถานีรถไฟ สถานีขนส่ง และสนามบิน เพื่อดำเนินการตรวจสอบคัดกรอง และจดชื่อผู้เดินทางเข้ามาเพื่อที่จะเป็นข้อมูลในการสอบสวนโรค โดยจากการดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลต่อความไม่สะดวกของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในจังหวัดและที่เดินทางเข้ามา อย่างไรก็ตามในขณะนี้รายชื่อทั้งหมดที่ได้มาจาก 3 เส้นทาง ได้มีการนำส่งไปยังอำเภอท้องที่ที่ผู้เดินทางเข้ามามีภูมิลำเนาอยู่และฝากให้ทางชุดปฏิบัติการอำเภอได้ดำเนินการตรวจสอบและเฝ้าระวัง เพื่อให้มีการดำเนินการกักตัวอยู่ในที่พัก รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,199 ราย

ร่วมแสดงความคิดเห็น