แล้งหนัก แต่ชาวนายังแห่ปลูกข้าวเกินเป้า 181%

ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจแก้ไขและบรรเทาวิกฤติภัยแล้ง ปี 2563 (กรมชลประทาน) รายงานว่า สถานการณ์น้ำในอ่างขนาดใหญ่และขนาดกลางกว่า 447 แห่งทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวม 38,141 ล้านลูกบาศม์เมตร (ลบ.ม.) หรือร้อยละ 50 ของความจุ มีน้ำใช้การได้ 14,433 ลบ.ม. หรือเพียง 28% เท่านั้น
สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30%  มี 21 แห่ง เขื่อนแม่กวง, เขื่อนแม่งัด (เชียงใหม่), เขื่อนภูมิพล, เขื่อนสิริกิตติ์ และอ่างแม่มอก เป็นต้น แผนจัดสรรน้ำในเขตชลประทาน มีแผนเพาะปลูกข้าวนาปรัง 2.31 ล้านไร่ แต่เพาะปลูกไปแล้ว 4.20 ล้านไร่ หรือเกินเป้าหมายกว่า 181.84%
ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานเพิ่มเติมว่า จังหวัดที่มีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินขณะนี้มี 23 จังหวัด 139 อำเภอ 714 ตำบล 3 เทศบาล 6,065 ชุมชน/หมู่บ้าน เช่น เชียงราย, พะเยา และน่าน
เครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย (ภาคเหนือ) ระบุว่าแม้จะมีสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  แต่ตลาดข้าวหลัก ๆ หลายประเทศงดส่งออก ประกอบกับราคาข้าวเพิ่มสูงต่อเนื่อง จึงเป็นอีกเหตุผลสำคัญ จูงใจให้ชาวนาขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว โดยไม่ตระหนักถึงคำแนะนำของหน่วยงานรัฐฯ ที่ย้ำเตือนเรื่องปัญหาการขาดแคลนน้ำในหลาย ๆ พื้นที่จากภาวะความแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วง

ทั้งนี้มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 27 สิงหาคม 2562 เห็นชอบโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2562/63 รอบที่ 1 วงเงินงบประมาณ 21,495.74 ล้านบาท (ความชื้นไม่เกิน 15%) เช่น ข้าวเปลือหอมมะลิ 15,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ไร่ ข้าวเปลือกเจ้า 10,000 บาท ไม่เกิน 30 ไร่ ข้าวเปลือกเหนียว 12,000 บาท ไม่เกิน 16 ไร่ ผู้มีสิทธิได้รับการชดเชย ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี รอบที่ 1 ปลูกข้าวระหว่าง 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2562 ไม่ใช่รอบใหม่นี้
และโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 วงเงิน 25,482.06 ล้านบาท เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 (รอบที่ 1) ซึ่งมีประมาณ 4.31 ล้านครัวเรือน โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือไร่ละ 500 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ โครงการช่วยเหลือค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว 26,458.89 ล้านบาท  ตั้งแต่พฤศจิกายน 2562 – 30 กันยายน 2563
ในพื้นที่เชียงใหม่นั้น ทาง นางเขมวรรณ ดวงจันทร์ เกษตรจังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลายในฤดูนาปรัง ปี 2562 / 63 หรือ การปลูกพืชใช้น้ำน้อย ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิต หันมาปลูกพืชอายุสั้น และใช้น้ำน้อยทดแทนสามารถสร้างรายได้ตลอดช่วงหน้าแล้ง  ในพื้นที่ทั้ง 25 อำเภอ กว่า 5,000 ไร่
ล่าสุด กรมการข้าว รายงาน สถานการณ์โรคพืช ในพื้นที่ภาคเหนือ พบว่าเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ สถานีย่อยดงหลักหมื่น เชียงใหม่ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย และศูนย์วิจัยข้าวแม่ฮ่องสอน ไม่ถึงระดับวิกฤต ความเสี่ยงการเกิดโรคไหม้รายงานจากสถานีศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ ศูนย์วิจัยข้าวเชียงใหม่ จุดที่ 1 ศูนย์วิจัยข้าวสะเมิง และศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย อยู่ในระดับต่ำกว่าค่าวิกฤต
อย่างไรก็ตามอุณหภูมิที่ค่อนข้างสูง เกษตรกรจึงควรสำรวจและติดตามการระบาดในแปลงนาที่มีการปลูกข้าวพันธุ์อ่อนแอ เช่น กข15 ขาวดอกมะลิ 105 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แพร่ ลำพูน ลำปาง และเชียงใหม่ โดยเฉพาะแปลงที่ปลูกข้าวแน่นและใส่ปุ๋ยไนโตรเจนสูง

ร่วมแสดงความคิดเห็น