ส่องเมืองเชียงใหม่ ในสถานการณ์โควิด-19 และหมอกควันสุมเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ระบุ สถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ ประจำวันที่ 2 เมษายน 2563 พบพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สีแดง คุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ ค่า PM2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง มีค่าระหว่าง 39-273 มคก./ลบ.ม. (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ขอความร่วมมืองดเผาในที่โล่ง เพื่อป้องกันการเพิ่มของฝุ่นละอองที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ
ทั้งนี้ในส่วนการขอความร่วมมือแต่ละพื้นที่ตามมาตรการเฝ้าระวังสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในเชียงใหม่ โดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมี นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ เป็นฐานะประธานคณะกรรมการฯ นั้น

จากที่ประกาศ คำสั่ง มาตรการเร่งด่วนป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ปิดสถานที่หลาย ๆ แห่งเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่ 19 มีนาคม 2563 อาทิ สถานบันเทิง, สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ, ร้านสปา, ร้านนวด, ร้านคาราโอเกะ, ร้านเกมส์, ฟิตเนส, กาดนัด, ถนนคนเดิน, สนามมวย, สนามม้า และสนามชนไก่ เป็นต้น

 

หลาย ๆ สถานที่ ซึ่งเป็นแหล่งค้าขาย แหล่งพบปะชุมนุมของผู้คน จำนวนมาก ตามห้างฯ, กาดนัด, แผงลอย, ร้านอาหาร, สถานบันเทิง มีการปิดป้าย แจ้งปิดบริการชั่วคราว ตั้งแต่ 19 มีนาคม 2563 และส่วนใหญ่จะเปิด 30 เมษายน 2563

อย่างไรก็ตาม หลังจำนวนผู้ป่วย ติดเชื้อมีแนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง ซึ่งเชียงใหม่พบผู้ป่วยติดเชื้อ 34 ราย และเฝ้าระวังโรคตามเกณฑ์กว่า 680 คน (ข้อมูล 1 เม.ย. 2563) หลายจังหวัดเริ่มมีมาตรการเข้มข้น มีการตั้งด่านจุดสกัด ห้ามการเดินทางเข้าออกพื้นที่ หากไม่มีความสำคัญ จำเป็นเร่งด่วน เช่น แม่ฮ่องสอน ,เชียงราย และหลาย ๆ จังหวัดกำหนดมาตรการ กลุ่มประชาชนที่เดินทาง มาจากพื้นที่เสี่ยง ต้องกักตัวอยู่ในบ้าน 14 วัน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ท่ามกลางบรรยากาศที่เป็นไปของเมือง โดยเฉพาะเชียงใหม่ ซึ่งถือว่าเป็น ศูนย์กลางภาคเหนือ เป็นเมืองท่องเที่ยวดังติดอันดับโลก หลาย ๆ สถานที่ ซึ่งปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการควบคุมไวรัสโควิด-19 เชียงใหม่ หลังจากปิดบริการชั่วคราว วันนี้เริ่มทยอยเปิด ทั้งร้านอาหาร แผงลอย และกาดหลวง

 

ผู้ค้าอาหาร ย่านหน้ามอแม่โจ้ กล่าวว่า มาตรการที่ท้องถิ่น ท้องที่ขอความร่วมมือไม่ให้ลูกค้านั่งทาน และให้ซื้อกลับไปบ้าน เช่น ร้านราดหน้าเจ้าดัง, ผัดไทขึ้นชื่อ ก็ปิดป้ายแจ้งลูกค้า และยอมรับว่า หันไปใช้บริการส่งด่วน เดลิเวอรี่ แต่ยอดขายไม่ดีเท่ากับช่วงปกติ

 

ส่วนแผงค้าอาหาร สารพัดอย่าง ซอยศาลเจ้า กาดหลวง นครเชียงใหม่ กล่าวว่า เปิดไปก็ไม่มีลูกค้า จะมีเพียงอาหารพื้นเมือง ที่สามารถซื้อกลับไปรับประทานที่บ้านได้ที่เปิดขาย ช่วงกลางวัน ส่วนร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านดังของทัวร์จีน หันมาทำเบเกอรี่ส่งขาย  ลูก ๆ หลาน ๆ ช่วยตั้งแผงขายเสื้อผ้า ช่วงวันหยุดเป็นรายได้เสริม เป็นต้น

ช่างเสม ป่าข่อยใต้ หนึ่งในผู้รับเหมา กล่าวว่า ช่วงไวรัสโควิด-19 ระบาด เป็นช่วงที่ต้องพึ่งพาแรงงานข้ามชาติ เพราะส่วนใหญ่ ไม่กลับบ้าน ฝั่งพม่า ด้วยมาตรการที่เข้มข้นในการคัดกรองตามด่าน โครงการสร้างบ้านในเชียงใหม่ระยะนี้ชะลอตัวไปมาก ถ้าไม่ใช่งานค้างสัญญา ก็ไม่มีงานทำกัน “หากไวรัสโควิด-19 ยืดเยื้อนานออกไป แรงงานรับเหมา จะกระทบหนักมาก เช่นเดียวกับกลุ่มแรงงานภาคท่องเที่ยว ซึ่งช่วงนั้นคงไม่มีใครอยากให้เกิด ต้องช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการที่ภาครัฐฯแนะนำ”

 

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบ ย่านการค้าชุมชน ในเขต สันทราย, เมือง, สันกำแพง จ.เชียงใหม่ พบว่าแผงค้าอาหาร ตามกาดนัด ตลาดสด เริ่มทยอยเปิด ผู้คนที่ออกมาจับจ่ายซื้อสินค้ายังบางตา แม้จะเป็นช่วงต้นเดือน แต่ตามสาขาห้าง มีประชาชนหนาแน่นในช่วงเย็นไปใช้สิทธิ์คูปองประชารัฐ

ร่วมแสดงความคิดเห็น