สงคราม (สู้) เชื้อโรค จากอดีตถึงปัจจุบัน…ในประเทศไทย

เครือข่ายสาธารณสุข เขต 1 เชียงใหม่ เปิดวงเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่ม อสม.หลาย ๆ ชุมชน เพื่อร่วมมือพิชิตโรคอุบัติใหม่ “ไวรัสโควิด-19” ที่มียอดผู้ป่วยติดเชื้อทั่วโลกกว่า 1 ล้านคน และเสียชีวิตไปร่วม ๆ 5 หมื่นกว่าราย ต้องยอมรับว่าแม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยี ความรู้ ทางการแพทย์ การสาธารณสุขอันทันสมัย แต่การอุบัติใหม่ของโรคระบาดยังคงมีอย่างต่อเนื่อง จากอดีตที่การแพทย์ยังไม่ก้าวหน้า ไม่รู้สาเหตุต้นตอการอุบัติของโรค ต้องใช้วิธีการหนี อพยพ ย้ายถิ่นฐานหนีโรคร้าย ที่คร่าชีวิตผู้คนจากโรคระบาด หรือ “โรคห่า” ครั้งแล้วครั้งเล่า
ช่วงต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ คนไทยเคยล้มตายเพราะโรคระบาดกว่า 4 หมื่นชีวิต ในต่างแดน เช่น อิตาลี ซึ่งเผชิญไวรัสโควิด-19 อย่างสาหัสสากรรจน์ ขณะนี้ก็เคยมีประชากรล้มตายกว่า 2 ใน 3 ของประเทศในอดีต จากโรคกาฬโรคที่คร่าชีวิตผู้คนในโลกนี้มากถึง 25 ล้านคน

ในอดีตต้นตอการแพร่ระบาด  มีการสันนิษฐานว่า เกิดจากหมัดหนู ที่ติดมาจากท้องเรือสำเภา โดยในปีใน พ.ศ. 2398 เริ่มต้นที่ยูนนาน ประเทศจีน แพร่ไปตามการเดินเรือค้าขาย จนมาถึงไทยในช่วงปี พ.ศ. 2447 เกิดขึ้นตามตลาดและทุ่งนา ก่อนลามไปทั่วพระนคร ปรากฎการณ์คล้ายคลึง เกิดระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน จากตลาดค้าสัตว์ที่ผู้นิยมเปิบพิสดารแวะเวียนเข้าไปเลือกซื้อเนื้อสัตว์เหล่านั้น
หากอ้างอิงข้อมูลหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย ซึ่งมี “นภนาถ อนุทพงศ์พัฒน์” เป็นผู้จัดการได้ระบุถึงพงศาวดารเมืองลำพูน สมัยจามเทวีวงศ์ ราว ๆ ต้นศตวรรษที่ 11  “เกิดโรคระบาดขึ้นในหริภุญไชยนคร ล้มตายกันมาก ใครไปจับต้องคนตายก็จะตาย จนต้องทิ้งบ้านทิ้งเมืองปล่อยให้ร้าง”
ช่วงรัชสมัยพระเจ้าอู่ทอง  ซึ่งนักประวัติศาสตร์ไทย ส่วนหนึ่งมักจะกล่าวถึง “ตำนานและพงศาวดารเรื่องการย้ายพระนครของพระองค์หนีโรคห่า แล้วมาสถาปนากรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 1893 หรือย้อนไปกว่า 670 ปี ซึ่งนั่นคงจะเป็นห้วงอดีตที่ยาวไกลเกินไป
ลดทอนเวลามาที่ช่วง พ.ศ. 2363 ครั้งนั้นเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ “อหิวาตกโรค” หรือ “โรคห่าลงท้อง” ตามภาษาชาวบ้านเรียก มีผู้ป่วยตายในพระนครและต่างจังหวัดเป็นจำนวนมากราว ๆ 3 หมื่นกว่าคน
ปลายรัชสมัยรัชกาลที่ 3 พ.ศ. 2392 กว่าหนึ่งเดือนที่โรคนี้ที่ผู็คนยุคนั้นเรียก “ห่าลงปีระกา” ระบาดหนักในกรุงเทพ จนเกิดภาพผู้คนเสียชีวิตมากมายก่ายกอง ดังภาพที่หนังสือพิมพ์ข่าวของอังกฤษนำไปเสนอ โดยที่วัดสระเกศ 2,765 คน วัดบางลำพู 1,213 คน วัดบพิตรพิมุขร่วม ๆ 1,481 ศพ รวมแล้วกว่า 5 พันชีวิต ที่ต้องจากไปจากโรคระบาดนี้
โดยภาพแร้งรุมทึ้งซากศพที่วัดสระเกศ ฉายชัด ประวัติศาสตร์ได้แยบยลจนถึงวันนี้ ที่กำลังมีการกล่าวถึง ผ่านสื่อสังคมกับการย้อนตำนาน “โรคห่า” ในรอบ 100 ปี มักจะอุบัติขึ้นเสมอ ปี พ.ศ. 2263 กาฬโรค หรือโรคห่า (ตำตับระบาด พ.ศ. 2363 อหิวาตกโรค (โรคห่าตำไส้) ก็โผล่มา ปี พ.ศ. 2463 ไข้หวัดใหญ่หรือ ห่าตำหัว อาละวาดหนัก จนกระทั่งปัจจุบันปี พ.ศ. 2563 ไวรัสโควิด-19 หรือ “ห่าตำปอด” กำลังระบาดอย่างเมามันส์
สมัยนั้น การเดินทางเข้าออกสยามประเทศหละหลวม มีผู้คนสัญจรไปมาได้ทุกทิศทางเพื่อการค้าขาย ทั้งจากชาวฝรั่ง ชาวจีน กอร์ปกับการแพทย์ สาธารณสุขของไทยยังไม่ก้าวหน้า  เมื่อเปรียบเทียบพัฒนาการเศรษฐกิจ สังคม ปัจจุบัน ไม่แตกต่างจากสมมติโรคระบาดมากนัก
ทั้งนี้อหิวาตกโรคนั้นเป็นโรคระบาดรุนแรง ในแถบทวีปเอเชียและอินเดีย ห้วงเวลาการระบาด ตั้งแต่ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2359-2369 และครั้งที่ 7 ราว ๆ พ.ศ. 2504-2513 ความรุนแรงค่อย ๆ ลดลง เนื่องจากพัฒฯาการทางการแพทย์ อันทันสมัย สามารถจัดการโรคร้ายนี้ได้

เอกสารหอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย รวมถึงหอจดหมายเหตุสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุข สะท้อนข้อมูล การระบาดของโรคเหตุผลสำคัญ คือ วิวัฒนาการทางการแพทย์ยังไม่ทันสมัย แต่เมื่อการแพทย์ในไทยในราชสำนัก ซึ่งถือเป็นสถาบันหลักที่อุปถัมภ์ค้ำจุนการแพทย์แผนไทย ซึ่งแสดงตำแหน่งทางการแพทย์ต่าง ๆ ที่ปรากฏอาจมีนัยยะไปถึงแนวคิดการจัดแบ่งหมวดหมู่ความรู้ทางการแพทย์ของไทย
เช่น ห้วงต้นรัตนโกสินทร์ มีการจารึกวิชาการแพทย์ต่าง ๆ ไว้ที่ผนังศาลาวัดโพธิ์และจารึกตำรายาติด รวบรวมตำราการแพทย์ขึ้น แต่ช่วงกลางรัชสมัย รัชกาลที่ 2 ได้เกิดการระบาดของอหิวาตกโรค เรียกว่า ไข้ป่วงใหญ่ นาน 15 วัน ทั่วประเทศ คนตายไปประมาณ 3 หมื่นกว่าคน วิธีแก้ปัญหาในเวลานั้น คือ การทำพิธีอาฏานิยสูตรด้วยการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน และอัญเชิญพระแก้วมรกต พระบรมธาตุ พระราชาคณะต่าง ๆ ออกโปรยทรายปลุกเสกทั่วทั้งพระนคร ให้ขุนนางและประชาชนถือศีลบำเพ็ญทาน ปล่อยสัตว์
จากห้วงเวลารัตนโกสินทร์ตอนต้น มาจนถึงตอนกลาง จะเห็นพัฒนาการทางการแพทย์ การสาธารณสุขของไทยเด่นชัด เดิมนั้นประเทศไทยไม่มีโรงพยาบาลของรัฐที่ตั้งขึ้น เพื่อรักษาราษฎรที่ป่วยไข้ ก็เริ่มมีขึ้น
เมื่อเกิดอหิวาตกโรคระบาดในปี พ.ศ. 2424 รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงพยาบาลชั่วคราว (เรียกกันว่า โรงพยาบาลเอกเทศ) เพื่อให้การรักษาผู้ป่วยถึง 48 แห่งในกรุงเทพฯ เมื่อโรคระบาดสงบลง จึงยกเลิกไป และทรงมอบที่ดินบนเกาะกลาง อำเภอเมืองเชียงใหม่ ประมาณ 400 ไร่ ก่อตั้งสถานพยาบาลโรคเรื้อนแห่งแรก ต่อมาเรียกว่า สถาบันแมคเคน

มีการชำระตรวจทานคัมภีร์แพทย์ต่าง ๆ รวบรวมจัดทำขึ้นเรียกว่า ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง ระหว่าง พ.ศ. 2453–2468 พัฒนาการแพทย์และสาธารณสุขรุดหน้า มีการสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดทำยาตำราหลวง 8 ขนาน จำหน่ายให้ประชาชนและนำรายได้มาสังเคราะห์ผู้ยากไร้ ปรับปรุงการศึกษาแพทย์ ตั้งสถานเสาวภา สำนักงานคนป่วยโรคเรื้อนพระประแดง มีการสร้างส้วมซึมเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2467 เพื่อสุขอนามัย ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคจากการปลดทุกข์ในที่ต่าง ๆ ตามธรรมชาติ
หอจดหมายเหตุแพทย์ไทย ยังกล่าวถึง ระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2468-2477 มีการตรากฎหมายเสนาบดีแบ่งการประกอบโรคศิลปะออกเป็นแผนปัจจุบันและแผนโบราณจัดตั้งสภาการแพทย์ และปรับปรุงส่วนบริหารราชการ ในสาธารณสุข พ.ศ. 2477-2489 มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พุทธศักราช 247 (ฉบับที่ 1) ขึ้น เมื่อพบว่ามีโรคติดต่ออันตรายขณะนั้นหมายถึง กาฬโรค อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้กาฬนกนางแอ่นและไข้เหลือง เป็นต้น
ต่อมาประกาศใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พุทธศักราช 2479 (ฉบับที่ 2) เน้นกำหนดบทลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตาม และประกาศใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พุทธศักราช 2482 (ฉบับที่ 3) เน้นให้อำนาจข้าหลวงในท้องที่และรัฐมนตรีมีอำนาจในการสั่งการและแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดโรคติดต่อขึ้น
บังเอิญว่าเป็นห้วงเวลา สงครามโลก ครั้งที่ 2 แพร่ขยายเข้ามาในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนยา วิกฤติครั้งนั้นมีบันทึกประวัติศาสตร์ไว้ว่า “เลือดตาแทบกระเด็น ราวตกนรก”

ปัจจุบัน “โรคห่า” ตามคำเรียกของชาวบ้าน ทั้ง 3 โรคประกอบด้วย กาฬโรค, อหิวาตโรค ,ไข้หวัดใหญ่ เฉพาะ กาฬโรค และฝีดาษ ทางการแพทย์ มั่นใจถูกจำหน่ายออกไปจากสารบบเชื้อโรคในโลกนี้ไปแล้วส่วนอหิวาตกโรค และไข้หวัดใหญ่นั้น ด้วยนวัตกรรมความก้าวหน้าทางการแพทย์ การสาธารณสุข ไม่น่าห่วง เพราะ “เอาอยู่”
สำหรับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ที่ตัวเลขพุ่งทยานล่าสุด พบผู้ติดเชื้อกว่าล้านคน เสียชีวิตสูงถึง 5 หมื่น ทุกมาตรการที่ทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยประกาศสงครามสู้เชื้อโรค “โควิด-19 “
นักเศรษฐศาสตร์โลก และผู้นำหลาย ๆ ประเทศ ยืนยันตรงกันว่า เป็น “สงครามเชื้อโรค” ที่สร้างความเสียหาย มหาศาลส่งผลกระทบมากกว่าสงครามโลก ครั้งที่ 2 เพราะผลจะออกมาเป็นประการใด ไม่อาจคาดเดาจุดจบได้ อยู่ที่ความร่วมมือของทุกคน “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ”
นพ.เกียรติภูมิ งศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจความกังวลต่อไวรัสโควิด-19 ต้องร่วมมือมากกว่า 90% ขึ้นไป จะลดจำนวนผู้ป่วยลงได้ เพราะหากไม่ร่วมมือ หรือร่วมมือแค่ 70% ไม่เกิดประโยชน์ เพราะกราฟผู้ป่วยยังขึ้นสูง  เพื่อให้การระบาดเป็นไปอย่างช้า ๆ ระบบการแพทย์และสาธารณสุขรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพและพอเพียงกับผู้ป่วย ความร่วมมือจากประชาชน ช่วยกันเว้นระยะห่าง อยู่บ้าน อยู่ห่าง เพื่อให้ไทยอยู่รอด คือหัวใจที่จะพิชิตศึกครั้งนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น