ร้านค้าเชียงใหม่ย่ำแย่ ทยอยปิดยาว หนีไวรัสโควิด-19

พนักงานศูนย์จำหน่ายรถยนต์ ในพื้นที่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ขณะนี้โชว์รูมขอความร่วมมือพนักงานให้ทำงานวันเว้นวัน เพื่อลดอัตราเสี่ยงจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประกอบกับ ลูกค้าทั้งรถเก่า รถใหม่ รถที่เข้ามารับบริการตรวจซ่อมลดลง แต่เงินเดือนยังคงจ่ายเท่าเดิม

ด้านร้านจำหน่าย สินค้าและเครื่องสำอางดัง ย่านกาดหลวง ได้ปิดป้ายแจ้งการปิดบริการชั่วคราวไปจนถึง 15 เม.ย. 63 นี้ ตามมาตรการที่คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ จ.เชียงใหม่ ขอความร่วมมือการเว้นระยะห่างทางสังคม โดยจะเปิดอีกเมื่อสถานการณ์คืนสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ นอกจากร้านเครื่องสำอาง สินค้าราคาถูก ในละแวกเดียวกันยังพบว่า มีร้านสังฆภัณฑ์, ร้านกิ๊ฟช็อฟสารพัดสินค้า รวมถึงร้านเครื่องดื่ม ปิดร้านกันเป็นจำนวนมาก

 

ในขณะที่พนักงาน สถาบันการเงินหลายแห่ง ในเชียงใหม่ กล่าวว่า มีคำสั่ง ให้พนักงานในกลุ่มเอ๊าท์ซอส งานติดตามลูกค้า และหลายส่วนงานที่ไม่ใช่งานธุรกรรมการเงิน ทำงานที่บ้าน เดิมกำหนดรอบระยะ 1-15 เม.ย. 63 เป็นช่วงแรก และจะประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ในรอบต่อไป ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็น 1-30 เม.ย. 63 (ส่วนเรื่องรายรับนั้น พนักงานธนาคารกลุ่มนี้ไม่ยอมเปิดเผย)

 

สมาชิกกลุ่มรถตู้เชียงใหม่ รายหนึ่งกล่าวว่า สภาพกลุ่มรถตู้ช่วงนี้ คือ จอดแช่อยู่บ้าน ไม่มีงานเข้ามาตั้งแต่ต้นปี มาเจอภาวะไวรัสโควิด-19 อีก แย่หนัก รายที่ใช้สินเชื่อรถตามสถาบันการเงินก็ทยอยร่วมมาตรการช่วยเหลือ ศักยภาพเครดิตแต่ละคนไม่เท่ากัน กลุ่มที่รถติดไฟแนนซ์ ลิสซิ่ง เห็นแย่กัน หากกู้ดอกโหดมาโปะน่าเห็นใจ
“บางครอบครัวเครียด หันไปดื่ม ทะเลาะเบาะแว้งกันในบ้าน จากปัญหารายได้ไม่มี แต่รายจ่ายรอกันบาน ช่วงเด็ก ๆ ปิดเทอม เห็นภาพพ่อ แม่ทะเลาะกัน รายไหนที่กลุ่มพอช่วยได้ก็พยายามเข้าไป แต่สภาพตอนนี้ทุกคนกระอักกันหมด”

 

กลุ่มผู้ค้ากาดนัด ในเชียงใหม่ กล่าวว่าจากมาตรการขอความร่วมมือ จากทางจังหวัด และการเปิดปิดกาดนัด หลาย ๆ สถานที่ ซึ่งตรวจสอบกับผู้จัดตลาดและผู้นำชุมชน พบว่า หลาย ๆ กาดนัด อาทิ กาดนัดหนองอุโบสถ, กาดนัดข้าง รพ.สันทราย, กาดศรีบุญเรือง ต้องรอผลการประเมินหลังสงกรานต์ไปแล้ว แต่เมื่อมีประกาศเคอร์ฟิวออกมาการเปิดแหล่งค้าในชุมชนตามปกติ คงยากแล้วคงต้องรอสถานการณ์แพร่ระบาดลดลง

ทีมข่าวพบว่า ตลอดเส้นทางสายเชียงใหม่-เจดีย์แม่ครัว ผู้ค้าตามกาดนัดส่วนหนึ่ง หันมาตั้งจุดขายริมข้างทางโดยเฉพาะอาหาร โดยผู้ค้าหลายราย ยอมรับว่ามาตรการขอความร่วมมือ ควบคุมไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด การเว้นระยะห่างทางสังคม อยู่บ้าน หยุดเชื้อ ทำให้เดือดร้อนด้านเศรษฐกิจความเป็นอยู่มาก
“มาตรการช่วยเหลือที่จะออกมา รายละ 5,000 บาท 3 เดือน ก็ยังต้องรอลุ้น ไม่แน่ชัดว่าจะได้รับเมื่อไหร่ ยิ่งครอบครัวที่ไม่มีสมาชิกมีเงินเดือนทำงาน มาขายของตามกาดนัด ย่ำแย่กันถ้วนหน้า จะเข้าไปพึ่งบุญข้าววัดข้างบ้านยังลำบาก เพราะคนมาทำบุญน้อยลง พระ เณร ต้องหุงหาอาหารฉันกันแล้ว”

ร่วมแสดงความคิดเห็น