เตรียมพร้อมถ่ายภาพ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี”

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แนะนำหลากวิธีถ่ายภาพ “ซูเปอร์ฟูลมูน” ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี คืนวันที่ 8 เมษายน 2563
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ กล่าวว่า ในวันพุธที่ 8 เมษายน 2563 นี้ จะเกิดปรากฏการณ์ “ซูเปอร์ฟูลมูน” หรือ “ดวงจันทร์เต็มดวงเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปี” เป็นโอกาสดีสำหรับการถ่ายภาพดวงจันทร์ ซึ่งสามารถถ่ายได้หลากหลายรูปแบบ อาทิ การถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกเปรียบเทียบกับช่วงเต็มดวงไกลโลกด้วยอุปกรณ์เดียวกัน การถ่ายภาพจันทร์เปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า การถ่ายภาพดวงจันทร์ใกล้โลกกับบุคคล และการถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบนท้องฟ้า
1) การถ่ายภาพดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก เปรียบเทียบกับ ช่วงเต็มดวงไกลโลก ด้วยอุปกรณ์เดียวกัน เป็นรูปแบบที่นักดาราศาสตร์นิยมถ่ายภาพกันมากที่สุด แต่ต้องรอเวลาหลายเดือนเพื่อให้ได้ภาพช่วงดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกมากที่สุด หรือ “ไมโครฟูลมูน” (Micro Full Moon) โดยในปีนี้เกิดขึ้นตรงกับวันที่ 31 ตุลาคม 2563
2) การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบขนาดกับวัตถุบริเวณขอบฟ้า หรือ “Moon Illusion” เพื่อแสดงให้เห็นขนาดปรากฏของดวงจันทร์ในช่วงใกล้โลกมากที่สุด ผู้ถ่ายต้องหาตำแหน่งที่ดวงจันทร์จะขึ้นจากขอบฟ้า และวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพเพื่อเปรียบเทียบขนาดกับดวงจันทร์ และควรมีระยะห่างจากผู้ถ่ายไกลหลายกิโลเมตร
3) การถ่ายภาพดวงจันทร์ใกล้โลกกับบุคคล การถ่ายภาพเทคนิคนี้เป็นรูปแบบการถ่ายภาพที่สนุกมากทีเดียว เพราะตัวแบบกับคนถ่ายไม่จำเป็นต้องอยู่ไกลกันมากนัก (ประมาณ 100 เมตร) แล้วแต่ผู้ถ่ายภาพจะออกแบบและสร้างสรรค์ภาพถ่ายขึ้นมาตามอัธยาศัย
4) การถ่ายภาพดวงจันทร์เปรียบเทียบกับวัตถุบนท้องฟ้า (เครื่องบิน) การถ่ายภาพดวงจันทร์ Super Full Moon ในช่วงที่เครื่องบินกำลังบินผ่านดวงจันทร์พอดี นอกจากจะเป็นความบังเอินที่พอดีกันแล้ว หากเราลองเช็คตารางบินดูจากแอพพลิเคชั่น Flightradar24 ก็จะทราบเวลาการขึ้น-ลง และเส้นทางการบินได้ แต่อย่างไรก็ตามการถ่ายภาพเครื่องบินบินผ่านหน้าดวงจันทร์นั้น ต้องอาศัยจังหวะและตำแหน่งของวัตถุที่เหมาะสมกันพอดี อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดรุนแรงของไวรัสโคโรนาในช่วงนี้ จึงทำให้เที่ยวบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศงดบินชั่วคราว แต่ยังสามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้กับสัตว์ปีก หรือวัตถุอื่นได้ เช่น นก ค้างคาว ดาวเทียม ฯลฯ
ผู้ที่สนใจสามารถรอชมปรากฏการณ์ “ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี” หรือ “ซูเปอร์ฟูลมูน” และเก็บภาพความสวยงามของดวงจันทร์กันได้ ในวันดังกล่าวดวงจันทร์จะขึ้นทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 19:00 น. เป็นต้นไป ปรากฏบนท้องฟ้าตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า นายศุภฤกษ์ กล่าวปิดท้าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น