พิธีฟังสาร ผบ.ทอ. เนื่องในวันกองทัพอากาศ ประจำปี 2563

วันที่ 9 เมษายน 2563 น.อ.นรุธ กำเนิดนักตะ ผู้บังคับการกองบิน 41 พร้อมด้วยข้าราชการในสังกัด ร่วมพิธีฟังสารผู้บัญชาการทหารอากาศ ผ่านสัญญาณการถ่ายทอดสดจากกองทัพอากาศ (ดอนเมือง กรุงเทพมหานคร) เนื่องในวันกองทัพอากาศ ประจำปี 2563 ณ หอประชุมเดชะตุงคะ กองบิน 41โดย ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้กล่าวขอบคุณและให้กำลังใจกำลังพลของกองทัพอากาศ ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้มแข็ง เสียสละ และอดทน รวมถึงขอขอบคุณในความร่วมมือร่วมใจของกำลังพล ที่ช่วยพัฒนาโครงสร้างของกองทัพอากาศให้ยั่งยืน พร้อมทั้งให้โอวาทแก่กำลังพล ให้มีจิตใจที่เข้มแข็งในสภาวะของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง ทำหน้าที่อย่างมีสำนึก รับผิดชอบ มีอุดมการณ์ เสียสละเพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และประชาชน ตลอดจนให้กำลังพลพัฒนาปรับปรุงการปฏิบัติงานอยู่เสมอ เพื่อนำไปสู่การเสริมสร้างกองทัพอากาศ และประเทศชาติให้มั่นคงและยั่งยืนตลอดไปทั้งนี้ กิจการด้านการบินของไทย เกิดขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อปี พ.ศ.2453 เมื่อ นายชาร์ล ว็อง แด็ง บอร์น นักบินชาวเบลเยี่ยม ได้นำเครื่องบินมาทำการบินแสดงให้ชาวไทยได้ชม ณ สนามม้าสระปทุม หลังจากนั้นเพียง 1 ปี กระทรวงกลาโหม ได้คัดเลือกนายทหาร 3 คน ไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส ประกอบด้วย นายพันตรี หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ, นายร้อยเอก หลวงอาวุธสิขิกร และนายร้อยโท ทิพย์ เกตุทัต (เก-ตุ-ทัด) ซึ่งภายหลังนายทหารทั้ง 3 ท่าน ได้รับเกียรติยกย่องให้เป็น “บุพการีทหารอากาศ” ขณะที่นายทหารทั้ง 3 กำลังศึกษาวิชาการบินอยู่นั้น ทางราชการได้สั่งซื้อเครื่องบิน รวมทั้งมีผู้บริจาคเงินร่วมสมทบซื้อด้วยเป็นครั้งแรก จำนวน 8 เครื่อง คือ เครื่องบินเบรเกต์ปีก 2 ชั้น จำนวน 4 เครื่อง และเครื่องบินนิเออปอรต์ปีกชั้นเดียว จำนวน 4 เครื่อง โดยใช้สนามม้าสระปทุม หรือราชกรีฑาสโมสรในปัจจุบันเป็นสนามบิน แต่ด้วยความไม่สะดวกหลายประการ บุพการีทั้ง 3 ท่าน จึงได้พิจารณาหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมต่อการบิน และได้เลือกเอา ตำบลดอนเมือง เป็นที่ตั้งสนามบิน พร้อมทั้งได้ก่อสร้างอาคาร สถานที่โรงเก็บเครื่องบินอย่างถาวรขึ้นเมื่อการโยกย้ายกำลังพล อุปกรณ์ และเครื่องบิน ไปไว้ยังที่ตั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 27 มีนาคม
พ.ศ. 2457 กระทรวงกลาโหม จึงได้สั่งยกแผนกการบินขึ้นเป็น “กองบินทหารบก” ซึ่งถือได้ว่า กิจการการบินของไทย ได้วางรากฐานอย่างมั่นคงขึ้นแล้ว ตั้งแต่บัดนั้นมา กองทัพอากาศจึงถือเอา วันที่ 27 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันที่ระลึกกองทัพอากาศ” ในเวลาต่อมากำลังทางอากาศ ได้พัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติทางด้านต่าง ๆ อันเป็นรากฐานของกิจการหลายอย่างในปัจจุบัน อาทิ การบินส่งไปรษณีย์ทางอากาศ การส่งแพทย์ และเวชภัณฑ์ทางอากาศ เป็นต้นบทบาทของกำลังทางอากาศได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญ และมีการพัฒนาอย่างเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 กับพันธมิตรในยุโรป เมื่อปี พ.ศ.2460 ซึ่งทำให้ชื่อเสียง และเกียรติภูมิของชาติเป็นที่ยอมรับและยกย่องเป็นอันมาก ต่อมาทางราชการได้ยกฐานะกองบินทหารบกขึ้นเป็น “กรมอากาศยานทหารบก” ในปี พ.ศ.2465 กระทรวงกลาโหมได้พิจารณาเห็นว่า กำลังทางอากาศมิได้มีความสำคัญเฉพาะทางด้านการทหารเท่านั้น แต่มีประโยชน์อย่างกว้างขวางต่อกิจการด้านอื่น ๆ อีกด้วย จึงแก้ไขการเรียกชื่อกรมอากาศยานทหารบก เป็น “กรมอากาศยาน”และเป็น “กรมทหารอากาศ” ในเวลาต่อมา โดยให้อยู่ในบังคับบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมโดยตรง พร้อมทั้งได้มีการกำหนดยศทหาร และการเปลี่ยนแปลงเครื่องแบบจากสีเขียวมาเป็นสีเทา ดังเช่นปัจจุบันต่อมากระทรวงกลาโหม ได้ยกฐานะ กรมทหารอากาศ ขึ้นเป็น “กองทัพอากาศ” เมื่อวันที่ 9 เมษายน พ.ศ.2480 ภายหลังจึงได้กำหนดให้ วันที่ 9 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันกองทัพอากาศ”ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กองทัพอากาศได้เสริมสร้างและพัฒนากำลังทางอากาศ ให้มีความเข้มแข็งและทันสมัย เพื่อก้าวสู่วิสัยทัศน์ “กองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค” โดยกำหนดยุทธศาสตร์กองทัพอากาศ 20 ปี เพื่อขับเคลื่อนและรองรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดย “มุ่งมั่น” พัฒนา เพื่อสร้างความยั่งยืนโดยสานงานเดิมเสริมความเข้มแข็งในทุกมิติ และสร้างพื้นฐานการพัฒนาในทุกด้านอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความ “มั่นคง” ในการเป็นทหารอาชีพอย่างภาคภูมิและสมเกียรติ เพื่อให้ประชาชน “มั่นใจ” ว่ากองทัพอากาศมีความพร้อม ในการปกป้องคุ้มครองผืนแผ่นดินและน่านฟ้าไทย รวมถึงการรักษาเอกราช ราชบัลลังก์และอธิปไตยของชาติไว้ให้มั่นคงยั่งยืน ตลอดจนสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสำคัญของชาติและนโยบายของรัฐบาล ในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ เพื่อยังความผาสุขมาสู่พี่น้องประชาชนและประเทศชาติตลอดไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น