วว. ชวนเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ที่บ้าน สร้างผู้ประกอบการรายย่อย

ปัจจุบันเทคนิคการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช มีการพัฒนาและปรับปรุงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ มีการพัฒนาดัดแปลงเพื่อทำให้ได้ง่ายขึ้นและลดต้นทุนลง เนื่องจากกล้วยไม้เป็นอุตสาหกรรมการส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย และมีรายได้จากการส่งออกต่อปีเป็นมูลค่ามหาศาล
นอกจากการส่งออกแล้ว กล้วยไม้ตัดดอกภายในประเทศก็เป็นที่นิยม ทำให้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้มีการขยายตัวมากขึ้น ทั้งฟาร์มกล้วยไม้ขนาดใหญ่และขนาดย่อม มีการทำสวนกล้วยไม้เป็นธุรกิจส่วนตัวจำนวนมาก ดังนั้นหากมีการดัดแปลงวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้อย่างง่ายขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือการเพาะเลี้ยงภายในครัวเรือน ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้ปลูกเลี้ยงกล้วยไม้รายย่อยอย่างยิ่ง
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์  วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) มีความเชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ผ่านการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาโดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ดังกล่าวทั้งในเชิงสังคมและเชิงพาณิชย์มาอย่างต่อเนื่อง “การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้”  เป็นหนึ่งในความเชี่ยวชาญของ วว. ที่มีประโยชน์ต่อทุก ๆ ท่าน โดยมีวิธีการทำ ดังนี้1. การเตรียมอาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้อย่างง่าย คือ การใช้ปุ๋ยกล้วยไม้แทนธาตุอาหารหลักและธาตุอาหารรอง และใช้ส่วนผสมของมันฝรั่งบดและกล้วยหอมบดแทนการใช้สารเคมีที่มีราคาสูง โดยอาหารดัดแปลงนี้ สามารถทำให้กล้วยไม้เจริญได้ดีเช่นกัน
วว.ได้ทดลองใช้ปุ๋ยกล้วยไม้สูตร N-P-K = 30-20-10 + vitamin B1 และน้ำมะพร้าวอ่อนแทนอาหารสูตร Vacin and Went (VW) ซึ่งนิยมใช้ในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ทั่วไปพบว่า ต้นกล้วยไม้สามารถเจริญเติบโตได้ดีไม่แพ้อาหารสูตร VW และหากเติมกล้วยหอมบดและมันฝรั่งบดลงไปด้วย จะทำให้ต้นกล้วยไม้เจริญเติบโตได้ดีและมีรากสามารถนำออกปลูกได้ และปัจจุบันมีการทดลองทำให้อาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปลอดเชื้อได้ โดยไม่ต้องใช้หม้อนึ่งความดัน (autoclave) เช่น การนึ่งอาหารโดยวางในลังถึงนึ่งในน้ำเดือดเป็นเวลาประมาณ 30 นาที
ทั้งนี้มีเทคนิคที่ง่ายกว่า ใช้เวลาน้อยกว่า และประหยัดค่าใช้จ่ายได้  คือ การใช้ไฮเตอร์หรือน้ำยาซักผ้าขาวทำให้อาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อปลอดเชื้อได้ เนื่องจากในไฮเตอร์มีสารโซเดียมไฮโปคลอไรด์ (Sodium hypochloride : NaOCI)  ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อจุลินทรีย์2. เมื่อต้มอาหารจนเดือดและวุ้นละลายหมดแล้วคนให้เข้ากันดี ให้หยดไฮเตอร์ลงในอาหาร 3 ถึง 5 หยด (ต่ออาหารเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ 1 ขวด) ขณะที่อาหารยังร้อนแล้วปิดฝาทันที เพื่อเป็นการรมภายในขวดให้ปลอดเชื้อ โดยวิธีนี้ไม่จำเป็นต้องใช้หม้อนึ่งความดัน เมื่อเพาะเลี้ยงกล้วยไม้เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จะไม่มีราหรือแบคทีเรียขึ้นเลย และกล้วยไม้สามารถเจริญเติบโตได้ปกติเหมือนกับอาหารที่ทำให้ปลอดเชื้อโดยใช้หม้อนึ่งความดันการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ต้องทำในตู้ปลอดเชื้อ ปัจจุบันมีบริษัทที่ผลิตตู้ปลอดเชื้อในประเทศไทยเป็นตู้ไม้ราคาประมาณ 10,000  ถึง 12,000 บาท หากต้องการประหยัดมากกว่านั้นสามารถใช้ตู้ปลาหรือตู้กระจกแทนก็ได้ โดยเช็ดภายในตู้กระจกให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70% และปากคีบที่ใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจุ่มแอลกอฮอล์แล้วเผาไฟ 3 ถึง 4 ครั้งแทนการนึ่งฆ่าเชื้อได้ทั้งนี้หากเพาะเลี้ยงโดยวิธีซึ่ง วว. แนะนำ ไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ที่มีราคาแพงอย่างหม้อนึ่งความดันและตู้ปลอดเชื้อ  สามารถประยุกต์ทำการเพาะเลี้ยงอย่างง่าย ๆ ที่บ้านได้ ถือเป็นงานอดิเรกสำหรับผู้ที่รักการปลูกเลี้ยงกล้วยไม้หรือสามารถเป็นผู้ผลิตกล้วยไม้รายย่อยได้ แต่ต้องอาศัยประสบการณ์ด้านเทคนิคปลอดเชื้อ (aseptic technique) ของผู้เพาะเลี้ยง เพราะปัจจัยสำคัญในการทำเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อให้ปลอดเชื้อ คือ ทักษะ ความสะอาดของมือ และความปลอดเชื้อของอุปกรณ์ที่สัมผัสกับเนื้อเยื่อพืชการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยไม้ ตามวิธีดังกล่าว เป็นการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้เหมาะสมกับผู้นำไปใช้กับขนาดของพื้นที่ครัวเรือนหรือธุรกิจ นอกจากจะนำไปเป็นงานอดิเรกแล้ว ยังสามารถนำไปประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงต่อไป สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. โทร. ‪02-5779000‬  อีเมล [email protected] ในวันและเวลาราชการ

ร่วมแสดงความคิดเห็น