นายกท้องถิ่นค้ายาอื้อ! เล็งยึดทรัพย์เครือข่ายยาเสพติด สมทบทุนสู้โควิด-19

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่ฝ่ายปกครองท้องที่ และ อ.สบปราบ จ.ลำปาง รวบตัว นายก อบต. แห่งหนึ่งที่พัวพันการค้ายาเสพติดได้ จากการจัดชุดเฝ้าติดตามพฤติการณ์มานาน จนรวบตัวพร้อมของกลางได้คาบ้านพัก
ระดับนโยบายที่กำกับดูแลกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น (กสถ.) ยืนยันว่าจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 7,852 แห่งย่อมมีทั้งคนดีและไม่ดี ซึ่งมีเป็นส่วนน้อยมากปะปนกันไป อย่าเหมารวม

ทีมข่าวตรวจสอบตรวจข้อมูล นักการเมืองพัวพันค้ายาเสพติดพบว่า คดียาเสพติดที่มีนักการเมืองเข้าไปพัวพันดังในอดีต เช่นช่วงปี 2536-2537 นั้นจะมีอดีต ส.ส.นครพนม หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า ‘เสี่ย ป.เป็ด’ นักธุรกิจระดับพันล้านบาท เจ้าโรงแรมชื่อดัง จ.เชียงราย ต่อมาตั้งแต่รัฐบาลประกาศสงครามยาเสพติด จนถึงปัจจุบัน มีผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งระดับ ส.ส., อดีตรัฐมนตรี และนายกเทศมนตรี พัวพันขบวนการค้ายาเสพติด ถูกจับกุม ทลายเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่ามีทั้งนายกฯและรองนายก ในกลุ่ม อบต. ถูกจับกุมต่อเนื่อง เช่น เชียงใหม่, เชียงราย และลำปาง จะเป็นพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภูมิภาคอื่น ๆ กระจายกันไป
ทั้งนี้ศูนย์ป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระดับภาคและจังหวัด จะมีเครือข่ายและพันธมิตรภาคประชาชน ร่วมกับหน่วยงานปราบปรามยาเสพติด, ปราบปรามการฟอกเงิน, คดีพิเศษ และตำรวจ, ทหาร เฝ้าติดตามเบาะแสจากงานที่ได้รับแต่ละพิกัด

กรรมการชมรม อปท.เชียงใหม่ กล่าวว่าผู้บริหารท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นนายกเทศมนตรี, รองนายก หรือแม้แต่สมาชิกสภา ที่มีพฤติกรรมพัวพัน เครือข่ายค้ายาเสพติด ยากที่จะหนีพ้นการจับกุมไปได้ และการจับกุมที่ปรากฎเป็นข่าว แต่ละช่วงเวลา ก็สะท้อนให้เห็นว่าทุกหน่วยงานเอาจริงเอาจังกับการปราบปราม ขจัดกลุ่มบุคคลเหล่านี้ ที่อาศัยทุนยาเสพติด มาทำงานการเมืองบังหน้า
ด้านกระทรวงยุติธรรม ซึ่งมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นรัฐมนตรีนั้น ล่าสุด แถลงสื่อฯว่าผลการประชุมคณะผู้บริหารกระทรวง มีการพิจารณาปรับลดงบ ส่งคืนรัฐ 40 ล้านบาท เพื่อนำไปช่วยเหลือประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

โดยงบส่วนหนึ่งมาจากงบก่อสร้างเรือนจำที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง และจะมีการยึดทรัพย์เครือข่ายค้ายาเสพติดรายใหญ่ ซึ่งพิสูจน์ทราบเบาะแส  มีหลักฐานชัดเจน ผ่านกระบวนการต่าง ๆ เป็นที่สิ้นสุด พบวงเงินเคลื่อนไหวกลุ่มละ 3-4 พันล้านบาท จะเร่งยึดทรัพย์มาเป็นสมบัติแผ่นดิน และอาจนำไปช่วยสังคมในกรณีโควิด-19 ต่อไปด้วย
ในขณะที่ อ.จรัญ ภักดีธนากุล มองว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนผู้ติดยาเสพติดสูงถึง 2 ล้านคน คดียาเสพติดที่เข้าสู่กระบวนการชั้นศาลกว่า 3-4 แสนคดี สะท้อนถึงนโยบายที่เน้นปราบปรามมากกว่าป้องกัน  อีกทั้งนโยบายกำปั้นเหล็กต้องใช้ยาแรง ประหารชีวิต เอามาติดคุกให้นาน ๆ

 

“กลายเป็นการใช้แหตาถี่ ๆ ที่หวังจะจับปลาใหญ่ แต่กลับได้แต่ปลาเล็กปลาน้อยเข้าเรือนจำเป็นจำนวนมาก พวกพ่อค้ารายย่อยที่ควรนำเข้าระบบบำบัดฟื้นฟู ถูกเบี่ยงเบนเข้าสู่คดีอาญา ทำให้เกิดคดีความล้นศาล ผู้ต้องขังแน่นคุก “
อ.กอบกูล จันทวโร อดีตที่ปรึกษาด้านกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส) มองว่าการใช้กฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดทุกกลุ่ม โดยไม่จำแนกแยกแยะ เป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ผู้ต้องขังล้นเรือนจำ การบังคับใช้กฎหมายควรให้ความสำคัญในการจับกุมตัวการใหญ่มากกว่า องค์กรลักลอบค้ายาหรือผู้ลักลอบค้ายาเสพติดรายใหญ่ คือวายร้ายตัวจริง เป็นเป้าหมายหลักต้องลงโทษหนัก ขั้นเด็ดขาด

 

ตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ยอมรับว่า จัดการรายเก่าไป รายใหม่ก็โผล่ เหมือนมีตัวตายตัวแทนขึ้นมาและในปีนี้ หน่วยงานด้านยาเสพติด ประเมินว่ายาเสพติดกลุ่มเมทแอมเฟตามีน ไอซ์ จะขยายตัวรุนแรงในภูมิภาค ที่น่าสนใจ คือ ภาคใดที่มีการตรวจค้น ตรวจจับเข้มข้น ก็จะย้ายไปยังจุดอื่น โดยผลการจับกุมมีปริมาณสูงขึ้น ยาเสพติดจะถูกลำเลียงเข้าไทย  จากแหล่งผลิต โรงงานที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะการนำเข้าสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ ที่นำไปสู่การผลิตสามารถจัดหาได้ง่าย เทคโนโลยีการผลิตที่มีความทันสมัย
“การติดต่อซื้อขายผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญ ที่เอื้อให้การค้ายาเสพติดขยายวงอย่างรวดเร็ว กลุ่มผู้ค้าเลี่ยงการส่งมอบยาให้ผู้ซื้อ จะใช้วิธีติดต่อผ่านสื่อสังคมแล้ว แจ้งจุดวางยาเสพติด นี่คือวิธีการที่หน่วยงานต้องสร้างเครือข่าย ประชาสังคมร่วมติดตาม เฝ้าระวัง”

ร่วมแสดงความคิดเห็น