การแต่งกายของ “เจ้า” ในล้านนา

การแต่งกายในอดีตของ “เจ้า” ในล้านนา สันนิษฐานกันว่า นิยมนุ่งผ้าฝ้ายและผ้าไหม ผ้าที่เชื่อกันว่าทอขึ้นใช้ในสมัยนั้น ได้แก่ ผ้าสีจันทน์ขาว, ผ้าสีจันทน์แดง, ผ้าสีดอกจำปา, ผ้าธรรมดา และผ้ากัมพล เป็นต้น

เจ้าล้านนาที่เป็นผู้ชายจะนุ่งผ้าต้อย ซึ่งเป็นผ้านุ่งขนาดต่าง ๆ กัน โดยจะม้วนชายผ้าเป็นเกรียวสอดระหว่างขาซึ่งเป็นการนุ่งแบบเดียวกับการถกเขมรและโจงกระเบน สวมเสื้อคอจีนติดกระดุม และสวมเสื้อไหมคล้ายเสื้อครุยทับอีกชั้นหนึ่ง มีผ้าพันเอว 2 ผืน คือ รัดทับผ้าต้อย ส่วนผู้หญิงจะนุ่งซิ่นลายขวางเกือบคล่อมเท้า ท่อนบนมีผ้าผืนหนึ่งไว้คล้องคอ พันหน้าอก หรือพาดบ่า เกล้าผมมวยกลางศรีษะปักปิ่นไว้ที่ผม นิยมห่มผ้าเฉียงแบบสไบเรียกว่า “ห่มผ้าสะหว้ายแล่ง” นุ่งผ้าซิ่น

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อพระราชชายาเจ้าดารารัศมี ในพระบาทสมเด็จพระจุลเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระบรมราชานุญาติให้เสด็จกลับมาประทับที่เมืองเชียงใหม่ พระองค์ได้ทรงนำรูปแบบการแต่งกายของสตรีในกรุงเทพฯ เข้ามาใช้ในคุ้ม แล้วแพร่หลายอยู่ในกลุ่มชนชั้นสูง คือจะสวมเสื้อแขนหมูแฮมแบบยุโรปใส่กับผ้าซิ่นไหมลายพม่าต่อตีนจกแบบเชียงตุงหรือเชียงใหม่ เกล้าผมทรงญี่ปุ่นปักด้วยดอกไม้ไหวทองคำ ส่วนผู้ชายจะนิยมสวมเสื้อราชประแตนสวมกางเกงแพรหรือนุ่งโจงกระเบนผ้าไหมทรงหางกระรอก ขณะที่สามัญชนทั้งชายหญิงยังแต่งกายแบบเดิม

คนชาติต่าง ๆ ที่เข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่ ร่วมกับคนเมืองมาแต่อดีต ปัจจุบันได้ผสมผสานเข้าด้วยกันในทางวัฒนธรรม ทั้งภาษาพูด อาหาร การแต่งกาย ประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ จนดูเหมือนว่าเชียงใหม่เป็นเมืองที่ประสบความสำเร็จในการผสมผสานทางวัฒนธรรมได้อย่าลงตัวและเหมาะสม อาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมล้านนาได้มีส่วนหล่อหลอมให้กลุ่มคนเหล่านี้ผสมกลมกลืนกันกลายเป็น “ชาวเชียงใหม่” จนถึงปัจจุบัน
บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น