ปีนี้ไม่มีสาดน้ำ ไทยและหลาย ๆ ประเทศ “งดจัดสงกรานต์”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อมวลชนในกลุ่มอาเซียน ได้รวบรวมข้อมูล ภาพกิจกรรมการจัดงานในเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา นำเสนอ เช่น เพจ :อ้ายจง สื่อดังในแวดวงนักท่องเที่ยวชาวจีน ระบุว่า “สงกรานต์ปีนี้ ไม่ได้มีแค่ไทยที่ยกเลิก แต่ที่ประเทศจีน งานสงกรานต์ในสิบสองปันนา, เต๋อหง, ผูเอ๋อ และเมืองอื่น ๆ ที่มีสงกรานต์ของชาวไต (ไทลื้อ) ยกเลิก ให้เป็นวันทำงานปกติ ตามมาตรการป้องกันและควบคุมแพร่ระบาดโควิด-19 “

นอกนั้น สื่อออนไลน์ดังในกลุ่มชาวจีน ยังนำเสนอข้อมูลว่า สงกรานต์ของชาวไตในจีน ที่มีชื่อเสียง เช่น สงกรานต์ชนชาติไต อ.จิ่งหง หรือเชียงรุ้ง เมืองสิบสองปันนา เขตปกครองตนเองชนชาติไตและคะฉิ่น เมืองเต๋อหง มณฑลยูนนาน เทศกาลสงกรานต์นานาชาติ อ.หมาง เมืองเต๋อหง ซึ่งปกติช่วงสงกรานต์ 13-15 เมษายน ทุก ๆ ปี  ชาวบ้านจะออกมา ทำบุญ สรงน้ำพระ ก่อเจดีย์ทราย รดน้ำดำหัว มีลักษณะคล้ายกับไทยเรา

 

ส่วนสื่อเมียนมา นำเสนอว่าเทศกาลสงกรานต์ในเมียนมา จะเรียกว่าเหย่บะแวด่อ (เหย่ แปลว่า “พิธีน้ำ” บะแวด่อ แปลว่า “เทศกาล”) ปัจจุบันรัฐบาลกำหนดประเพณีสงกรานต์ ให้ตรงกับวันที่ 13-17 เมษายนของทุกปี จะมีการเข้าวัด รักษาศีล สรงน้ำพระ รดน้ำดำหัว และเมื่อสิ้นวันสงกรานต์ ชาวเมียนมาจะนิยมจัดงานบวชเณรให้ลูกชาย และจัดงานเจาะหูให้ลูกสาว จะมีขบวนแห่ลูกแก้วและลูกหญิงไปตามท้องถนนและรอบลานพระเจดีย์ ตามวัดต่าง ๆ เป็นอีกกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในเมียนมา

สำหรับกัมพูชานั้น สื่อกัมพูชา นำเสนอว่า เนื่องจากมาตรการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รัฐบาลจึงห้ามจัดงานในปีนี้  ซึ่งเทศกาลสงกรานต์ของกัมพูชา เรียกว่า โจลชนัมทเมย  ในแต่ละปีรัฐบาลจะกำหนดให้จัดขึ้น 13-15 หรือ 14-16 เมษายน ประเพณีไม่แตกต่างจากไทย มีการทำบุญตักบาตร ก่อเจดีย์ทราย สรงน้ำพระ มีการละเล่นพื้นบ้าน รดน้ำดำหัวผู้อาวุโสที่เคารพนับถือเช่นกัน

ด้านสื่อใน สปป.ลาว ทั้งสื่อออนไลน์ และสื่อรูปแบบต่าง ๆ นำเสนอว่า สปป.ลาว จากที่เคยจัดเทศกาลงานประเพณีสงกรานต์ช่วง 14-16 เมษายน ของทุกปี และเมืองท่องเที่ยวชื่อดัง ไม่ว่าจะหลวงพระบางและเวียงจันทน์ ที่จัดงานสงกรานต์ยิ่งใหญ่ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดินทางไปร่วมสัมผัสงานแน่นขนัดทุกปี ก็ยกเลิกการจัดงานตามคำสั่งของรัฐบาล

ทั้งนี้บทวิเคราะห์ของสื่อแต่ละประเทศในกลุ่มอาเซียน ที่มีชายแดนติดไทย ไม่ว่าจะเป็นเมียนมา, สปป.ลาว และกัมพูชา รายงานตรงกันว่า การงดจัดกิจกรรม เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพของพลเมือง ส่วนประเด็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ
“ผลกระทบจากรายได้ที่เคยเกิดขึ้น หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสู่สังคม สู่ชุมชนช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น ไม่ใช่เป้าหมายในภาวะการณ์ช่วงโควิด-19 ระบาด เพราะทุกชีวิตสำคัญกว่า ต้องรอด ปลอดภัยจากโรคอุบัติใหม่นี้ แล้วค่อยมาคิดฟื้นฟูกันภายหลัง”
ขอบคุณภาพ ประกอบจาก กลุ่มสื่ออาเซียน, เพจ-อ้ายจง, ททท.,และเที่ยวเลย

ร่วมแสดงความคิดเห็น