“กู่กุด” เจดีย์บรรจุอัฐิ เจ้าแม่จามเทวีลำพูน

เจดีย์กู่กุด เป็นโบราณสถานเก่าแก่และมีความสำคัญในประวัติศาสตร์มากที่สุดวัดหนึ่งในจังหวัดลำพูน ใครเป็นผู้สร้างและสร้างมาแต่ครั้งใด
ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด ส่วนใหญ่เป็นการสันนิษฐานจากเอกสารซึ่งปรากฏในภายหลังประกอบตำนานและนิยายปรัมปราพื้นบ้านเท่านั้น
ภายหลังได้มีการบูรณะซ่อมแซมขึ้นใหม่เรียกกันว่า วัดสังฆราม หรือวัดจามเทวี โบราณสถานสำคัญในวัดจามเทวีมีประวัติความเป็นมาค่อน
ข้างสับสนเพียง 2 แห่ง คือกู่จามเทวี หรือกู่กุด หรือสุวรรณจังโกฏเจดีย์ กับรัตนเจดีย์ ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า เจดีย์แปดเหลี่ยม ซึ่งมีเอกสารและตำนานต่าง ๆ
กล่าวถึงโบราณสถานทั้งสองแห่งขัดแย้งกันมาก บางแห่งกล่าวว่า พระนางจามเทวีปฐมกษัตริย์แห่งเมืองหริภุญชัย โปรดให้สร้างพระบรมธาตุสุวรรณจังโกฏ
พร้อมทั้งได้สถาปนาวัดจามเทวี ส่วนเอกสารบางแห่งกล่าวว่า พระราชโอรสของพระนางจามเทวี คือ เจ้ามหันตยศและเจ้าอนันตยศ โปรดให้สร้างวัดจาม
เทวีขึ้นเพื่อถวายพระเพลิงพระศพของพระนางจามเทวีและภายหลังจากถวายพระเพลิงพระศพของพระนางจามเทวีแล้ว จึงโปรดให้สร้างเจดีย์เหลี่ยมมี
ยอดหุ้มด้วยทอง เรียกชื่อว่า “สุวรรณจังโกฏ”

ในตำนานจามเทวีฉบับแปลจากภาษาไทยยวน กล่าวว่า “พระยามหันตยศก็เลิกทราก ส่งสะการแม่แห่งตนเสียยังป่าไม้ยาง แล้วเอากระดูกช้อน
แว่นหวีไปรวมกันก่อเป็นเจดีย์ไว้ชื่อว่า สุวรรณจังโกฏ หนใต้เวียงหริภุญชัยวันนั้นแล…” ส่วนในตำนานมูลศาสนากล่าวว่า ครั้นถวายพระเพลิงเสร็จก็แห่
พระอัฐิเลียบมาหนวันออกเวียง แล้วก่อพระเจดีย์บรรจุพระอัฐิ เครื่องใช้ เครื่องประดับ ของพระนางจามเทวีไว้รองรับพระอัฐิของพระนางจามเทวี ให้ชื่อว่า สุ
วรรณจังโกฏเจดีย์ นอกจากนั้นในตำนานจามเทวีหริภุญชัยเชียงใหม่ก็กล่าวพ้องต้องกันกับตำนานมูลศาสนา แต่บอกว่า สร้างเจดีย์ไว้หนใต้เวียงหริภุญชัย
ภายหลังช้างพระที่นั่งล้มก็เอางาและกระดูกไปบรรจุไว้ใต้อัฐินั้น เจดีย์องค์นี้ชาวบ้านในสมัยนั้นจึงเรียกว่า “เจดีย์จามเทวี” หรือ “เจดีย์กู่กุด”
ต่อมาเจดีย์ได้ร้างไป จนกระทั่งปี พ.ศ.2469 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เสด็จประพาสภาคเหนือและทรงสำรวจ
โบราณสถานวัดกู่กุดแล้วทรงปรารภว่า พระนางจามเทวีทรงสร้างวัดนี้ขึ้นจึงโปรดให้เปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่ว่า “วัดจามเทวี”

ในสมัยที่เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองลำพูน ได้รับแจ้งจากสำนักพระราชวังว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7
แห่งกรุงรัตนโกสินทร์พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จะเสด็จประพาสจังหวัดเชียงใหม่ทรงมีพระราชประสงค์จะเสด็จประพาส
จังหวัดลำพูนเพื่อทอดพระเนตรโบราณสถานด้วย เจ้าจักรคำขจรศักดิ์จึงสั่งให้ช่วยกันแผ้วถางบริเวณวัดกู่กุดเป็นเวลาหลายวัน จนโล่งเตียนมองเห็นซาก
โบราณสถานได้ชัดเจนขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จทอดพระเนตรแล้ววัดจามเทวีก็ยัง
เป็นวัดร้างอยู่ตามเดิม เพราะไม่มีพระภิกษุสามเณรจำพรรษา จนกระทั่ง พ.ศ.2479 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์จึงได้อาราธนาครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนามา
ช่วยก่อสร้างโบสถ์ วิหาร กุฏิ ตลอดจนบูรณะปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานสำคัญ แล้วสถาปนาวัดจามเทวีขึ้นมาใหม่ มีพระภิกษุสามเณรอยู่จำพรรษา
สำเร็จเรียบร้อยโดยได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2480 และประกอบพิธีผูกพัทธสีมาอุโบสถเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2480 มีชื่อเรียกว่า
“วัดจามเทวี” สืบมาจนถึงปัจจุบัน

ภายในวัดจามเทวีมีโบราณสถานที่สำคัญคือ สุวรรณจังโกฏเจดีย์ หรือ กู่จามเทวี หรือกู่กุด ลักษณะเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมก่อด้วยศิลาแลงถือปูน
ประดับลวดลายปูนปั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น แต่ละชั้นมีซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับยืนปางประทานอภัย ชั้นละ 3 องค์ ทั้ง 4 ด้านด้านละ
15 องค์ รวมทั้งสิ้น 60 องค์ และที่มุมทั้งสี่ของเจดีย์แต่ละชั้นมีเจดีย์เหลี่ยมขนาดเล็กประดับประจำทุกมุม ใหญ่เล็กลดหลั่นกันขึ้นไปเป็นเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดใน
วัด ใกล้ ๆ กันมีเจดีย์เล็กชื่อว่า “รัตนเจดีย์” หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “เจดีย์แปดเหลี่ยม” เป็นเจดีย์ขนาดย่อมรูปทรงแปดเหลี่ยมก่ออิฐไม่ถือปูนประดับลวด
ลายปูนปั้น มีพระพุทธรูปประทับยืนปางประทานอภัย ประดิษฐานตามซุ้มเหลี่ยมละองค์ รวม 8 องค์เป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นภายหลังเจดีย์สุวรรณจังโกฏ
วัดจามเทวี วัดสำคัญเก่าแก่ของเมืองลำพูน มีประวัติความเป็นมาที่สามารถสืบค้นถึงการสร้างเมืองหริภุญชัยได้ ด้วยความที่วัดนี้มีโบราณ
สถานที่สำคัญจึงทำให้มีผู้คนจากที่ต่าง ๆ เดินทางมาสักการะเจดีย์กู่กุดและรัตนเจดีย์เป็นจำนวนมาก จนทำให้วัดจามเทวีกลายเป็นวัดสำคัญและมีนัก
ท่องเที่ยวนิยมเดินทางมากราบไหว้เจดีย์กู่กุดไม่แพ้วัดอื่นๆ ของจังหวัดลำพูน

ร่วมแสดงความคิดเห็น