ไตลื้อกลุ่มสุดท้ายของพะเยา

วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวไตลื้อนั้นดูโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ยากแก่กลุ่มชนอื่นจะลอกเลียนแบบได้ ทั้งประเพณี พิธีกรรม การแต่งกายและภาษาพูดของชาวไตลื้อ ดูจะผสมกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว จนเป็นแบบอย่างของการหลอมรวมวัฒนธรรมที่ยากแก่คนภายนอกอย่างเรา ๆ จะเข้าใจความอ่อนน้อมถ่อมตน ดูเหมือนจะเป็นบุคคลิกเฉพาะแบบของชาวไตลื้อ ยามที่ผมมีโอกาสเดินทางเข้ามาในดินแดนที่มั่งคั่งด้วยกลิ่นอาย
อารยธรรมไตลื้อ ที่อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา
แต่เดิมชุมชนของชาวไตลื้อมีการตั้งถิ่นฐาน ทำมาหากินอยู่ในแคว้นสิบสองปันนา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ในรอบ 200 ปีที่ผ่านมา ชาวไตลื้อมีการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในดินแดนทางภาคเหนือของไทย พื้นที่ที่ชาวไตลื้อตั้งถิ่นฐานมากที่สุดเห็นจะได้แก่จังหวัดพะเยาและน่าน นอกจากนั้นยังกระจายไปอยู่ตามที่ต่าง ๆ ของเชียงใหม่ เชียงราย และลำปาง

ย้อนกลับไปเมื่อตอนต้นพุทธศตวรรษที่ 24 สมัยเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน (พ.ศ.2374 – 2461) เมืองน่านและเมืองเชียงใหม่ มีบทบาทสำคัญทางการเมืองและทหารในแว่นแคว้นสิบสองปันนา รวมไปถึงเชียงตุง สมัยนั้นมีการกวาดต้อนและชักชวนให้ชุมชนไตลื้อในเมืองต่าง ๆ ของสิบสองปันนาให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานรกรากอยู่ในจังหวัดน่าน จากเอกสารการค้นคว้าของคุณอิสรา ญาณตาล ได้กล่าวไว้ว่า ชาวไตลื้อที่อพยพมาจากเมืองพง เมืองหย่วน และเมืองมาง ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่แรก ในบริเวณลุ่มปากแม่น้ำแวน ดังนั้นต้นตระกูลบรรพบุรุษของไตลื้อในอำเภอเชียงคำ น่าจะมีเชื้อสายมาจากกลุ่มไตลื้อเมืองพง เมืองมาง เมืองหย่วน และเมืองล้า ในสิบสองปันนา สังเกตได้จากการตั้งชื่อของหมู่บ้านต่าง ๆ ในเชียงคำ นอกจากนั้น ยังมีประเพณีในการนับถือเทวดาเมืององค์เดียวกัน คือ เจ้าหลวงเมืองล้า

ชาวไตลื้อในอำเภอเชียงคำมีวิถีการดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย ส่วนใหญ่จะตั้งบ้านเรือนเป็นกลุ่มอยู่ริมฝั่งแม่น้ำ เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของบ้านไตลื้อ คือ จะมีบ่อน้ำไว้ประจำแต่ละบ้าน นอกจากนั้นก็ยังมีการปลูกพืชผักสวนครัวอยู่ในบริเวณบ้านด้วย โดยปกติแล้วชาวไตลื้อจะประกอบอาชีพทำไร่นา หลังจากหมดสิ้นฤดูทำนาแล้ว ผู้หญิงไตลื้อก็จะพากันจับกลุ่มทอผ้า ซึ่งผ้าทอไตลื้อนั้นถือว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่น สวยงาม ไม่แพ้ผ้าทอจากที่อื่น

ที่บ้านหย่วนหมู่ที่ 3 อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา นอกจากที่นี่จะเป็นหมู่บ้านไตลื้อที่เก่าแก่ และยังถือว่าหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นชุมชนไตลื้อกลุ่มสุดท้ายของจังหวัดพะเยาอีกด้วย โดยเฉพาะที่เฮือนไตลื้อแม่แสงดา ซึ่งเป็นบ้านไม้โบราณที่สร้างมาจากบรรพบุรุษอายุร้อยกว่าปี ที่เฮือนหลังนี้ยังได้จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำของไตลื้อมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อไตลื้อเก่าอายุนับร้อยปี อุปกรณ์เครื่องมือในการจับสัตว์ นอกจากนี้ยังมีการจำลองห้องต่าง ๆ ของชาวไตลื้อ เช่นห้องนอน ห้องครัว เป็นต้น
บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น