ประวัติศาสตร์ชุมชนลุ่มน้ำคำ “บ้านศรีดอนมูล” เมืองเชียงแสน

ชื่อของ “ศรีดอนมูล” อาจจะคุ้นหูของผู้คนทั่วไปอยู่ไม่น้อย เนื่องจากในช่วงของการเกิดเขตการค้าเสรีไทย – จีน ชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่เป้าหมายที่ จะใช้เป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีทั้งเสียงคัดค้านและสนับสนุน อันเป็นเรื่องปกติของชุมชนที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงสำคัญเกิดขึ้น แต่มากไปกว่าชื่อของชุมชนก็คงมีน้อยคนที่จะรู้จัก เพราะแม้แต่คนในชุมชนเองก็มีความรู้เกี่ยวกับชุมชนของตนเองไม่มากนัก และนี่เป็นที่มาของการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนลุ่มน้ำคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

พื้นที่การศึกษา ประกอบด้วย 3 หมู่บ้านที่อยู่ติดกับลำน้ำแม่คำ คือ บ้านด้าย บ้านศรีบุญยืนและบ้านศรีดอนมูล เพราะลำน้ำคำมีความสำคัญกับชุมชน เป็นเสมืนเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนให้สามารถทำนาเพาะปลูกได้อย่างสมบูรณ์ เราศึกษาถึงประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานของชุมชน รวบรวมข้อมูลพื้นฐานด้วยสภาพทางภูมิศาสตร์ เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและความเปลี่ยนแปลงของชุมชน วิธีที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล มีทั้งรวบรวมจากเอกสาร การสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ ภูมิปัญญาของผู้รู้ รวมถึงการจัดพูดคุยกันในกลุ่มเล็ก ๆ การจัดกิจกรรมภาพเก่าเล่าเรื่องและการลงสำรวจพื้นที่ ความรู้และสิ่งที่ชาวบ้าน เข้ามาร่วมกิจกรรมได้เรียนรู้ที่สำคัญมี 3 เรื่องด้วยกัน หนึ่งคือ ประวัติศาสตร์ชุมชน ทำให้รู้ว่าเป็นเพราะผู้นำชุมชนในอดีตเห็นว่า พื้นที่ตำบลศรีดอนมูลมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะเป็นพื้นที่ราบมีน้ำไหลผ่าน เหมาะสำหรับทำการเกษตร ซึ่งในการเพาะปลูกพืชของชาวบ้านนั้นพบว่า พื้นที่ตำบลศรีดอนมูลเป็นแหล่งปลูกข้าวแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของอำเภอ และเมื่อลองศึกษาข้อมูลจากเอกสารก็พบว่า ชุมชนศรีดอนมูลเป็นที่ตั้งของชุมชนโบราณถึง 3 แห่งคือ ชุมชนโบราณเวียงแก้ว เวียงสะโง้และชุมชนโบราณเวียงหนองปลาสะเด็ด ซึ่งมีอายุประมาณ 500 ปีทีเดียวอีกส่วนหนึ่งที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านก็คือ ลำน้ำคำ ซึ่งปัจจุบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำจากสายน้ำคำมักจะประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อทำนาปรังในหน้าแล้ง การทำวิจัยในครั้งนี้ทำให้ชาวบ้านได้มีโอกาสร่วมกันวิเคราะห์ถึงเหตุแห่งปัญหาได้ชัดเจนมากขึ้น นอกจากจะได้ทราบถึงเหตุแห่งปัญหาการขาดแคลนน้ำแล้ว สิ่งหนึ่งที่ชาวบ้านสะท้อนออกมาค่อนข้างตรงกันก็คือ การร่วมกันระลึกถึงพัฒนาการการจัดการน้ำของชุมชน ทำให้พวกเขาเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไปพร้อมกับน้ำก็คือ มิตรภาพ ความเอื้ออาทร ความสามัคคี และความมีน้ำหนึ่งใจเดียวของชุมชน

นอกเหนือจากข้อมูลที่ชาวบ้านได้รับแล้ว อีกส่วนหนึ่งคือ การรวบรวมวัฒนธรรมประเพณีและภูมิปัญญาในชุมชน ซึ่งก็พบว่ามีประเพณีบางอย่างที่กำลังจะสูญหายไป ได้แก่ ประเพณีการตานตอด ซึ่งเป็นประเพณีการให้ทานช่วยเหลือคนยากจนในชุมชน จึงเกิดแนวคิดที่จะอนุรักษ์เอาไว้ต่อไปสิ่งที่เรียนรู้ทั้งหมดนี้ ชาวบ้านมุ่งมั่นที่จะช่วยกันศึกษาวิจัยเพื่อแก้ปัญหาของชุมชน ก็คือ การหาแนวทางจัดการน้ำร่วมกับชุมชนลุ่มน้ำคำที่อยู่เหนือน้ำขึ้นไป พวกเขาเชื่อว่า หากคนในชุมชนร่วมแรงร่วมใจกัน ไม่เห็นแก่ตัว ไม่เอาเปรียบคนอื่นและไม่เอาเปรียบธรรมชาติ ชุมชนลุ่มน้ำคำแห่งนี้ ย่อมสามารถก้าวพ้นปัญหาต่าง ๆ ไปได้ด้วยดีดังเช่นที่ชุมชนเคยทำได้มาแล้ว

ร่วมแสดงความคิดเห็น