คนเมืองยอง ย้ายถิ่นฐาน 215 ปี จากพม่า สู่ลำพูน

ยอง หรือไทยอง เป็นชื่อที่ใช้เรียกกลุ่มคน ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองยองและกระจายอยู่ทั่วไปในแถบเมืองต่าง ๆ ในรัฐฉาน ด้านตะวันออกของเมียนมา เมื่อ พ.ศ. 2348 กลุ่มชาวยองได้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน ด้วยสาเหตุของสงคราม การรวบรวมกำลังคน ต่อมาได้กระจายอยู่ในเมืองต่าง ๆ ของล้านนา
เมืองยอง เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ตำนานมายาวนาน เริ่มขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 18 โดยเริ่มจากการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนพื้นเมือง ได้แก่ พวกลัวะ ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 19 มีกลุ่มคนไทจากเมืองเชียงรุ้ง นำโดย เจ้าสุนันทะ โอรสของเจ้าเมืองเชียงรุ้ง ได้พาบริวารเข้ามามีอำนาจปกครองเมืองยองเหนือคนพื้นเมือง ได้ผสมผสานระบบความเชื่อและพิธีกรรมที่มีอยู่เดิมกับพุทธศาสนาที่เข้ามาภายหลัง นอกจากนั้นยังได้สร้างความสัมพันธ์กับคนพื้นเมือง

จากความสัมพันธ์ดังกล่าว คนเมืองยอง จึงสืบเชื้อสายมาจากผู้คนที่อพยพมาจากเมืองเชียงรุ้งและเมืองอื่นในสิบสองปันนา ซึ่งเป็นชนชาวไทลื้อ และเมื่ออพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเมืองลำพูน คนทั่วไปจึงเรียกว่า “คนเมืองยอง” เช่นเดียวกันคนเมืองเชียงใหม่ คนเมืองลำปาง คนเมืองเชียงตุง เป็นต้น กระทั่งเรียกให้สั้นเหลือเพียง “คนยอง”
การตั้งถิ่นฐานของชาวยองในลำพูน ในระหว่างปี พ.ศ. 2325-2347 ก่อนการตั้งเมืองลำพูน พระเจ้ากาวิละยังไม่ได้แต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นเจ้าเมืองลำพูน ด้านการปกครองยังมีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงใหม่ จนถึงปี พ.ศ. 2348 พระเจ้ากาวิละได้ฟื้นฟูเมืองลำพูนขึ้น อันเป็นนโยบายในการเตรียมกำลังคน เพื่อสนับสนุนเชียงใหม่ในยามศึกสงคราม

 

นอกจากนี้ กำลังคนในเมืองลำพูนก็ลดลงไป ในครั้งที่พระเจ้ากาวิละพาไปตั้งที่เชียงใหม่ ล่วงเข้าสู่วันขึ้น 5 ค่ำ เดือน 7 พระเจ้ากาวิละได้มอบหมายให้เจ้าคำฝั้นและบริวารจากเมือง 500 คน พร้อมด้วยเจ้าบุญมา น้องคนสุดท้องและบริวารจากเมืองลำปาง 500 คน มีเจ้าเมืองยองพร้อมด้วยบุตรภรรยา น้องทั้ง 4 ญาติพี่น้อง ขุนนาง พระสงฆ์และไพร่พลจากเมืองยอง จำนวน 20,000 คนเข้ามาแผ้วถางเมืองลำพูนที่ร้างอยู่ จนถึงวันขึ้น 8 ค่ำ จึงให้เข้ามาตั้งเมืองลำพูนได้
ในวันตั้งเมืองลำพูนมีพิธีทางศาสนาพระสงฆ์ 198 รูป สวดมงคลพระปริตในที่ไชยะมงคล 9 แห่ง ในเมืองลำพูน เจ้าเมืองยอง บุตรภรรยา พร้อมด้วยญาติพี่น้องและขุนนาง พระสงฆ์ระดับสูง ได้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ทางทิศตะวันออกของน้ำแม่กวง ส่วนไพร่พลอื่น ๆ ได้แยกย้ายกันไปตั้งบ้านเรือนตามลุ่มน้ำแม่ทา น้ำแม่ปิง

 

อย่างไรก็ตามการตั้งถิ่นฐานของชาวยอง จะเป็นการตั้งถิ่นฐานและขยายตัวของชุมชนตามแนวลำน้ำ ที่เหมาะสมในการเกษตรเป็นสำคัญ จากหมู่บ้านหลักในลุ่มน้ำแม่กวงบ้านเวียงยอง บ้านยู้ บ้านหลวย บ้านตอง ได้ขยายตัวออกไปเป็นบ้านหลิ่งห้า (ศรีบุญยืน) เขตลุ่มน้ำปิง ห่างจนถึงบ้านหนองหมู บ้านป่าลาน ป่าเห็ว เป็นต้น

 

นอกจาการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของชาวยองในลำพูน ซึ่งถือเป็นประชากรส่วนใหญ่ของเมืองลำพูนแล้ว ยังปรากฏมีชาวไตเขินจากเชียงตุง มาตั้งถิ่นฐานที่บ้านสันดอนรอมในเขตนอกกำแพงเมือง ด้านทิศใต้อีกด้วย ไพร่พลที่อพยพเข้ามาอยู่ในลำพูนนี้ ต่อมาได้สืบลูกสืบหลานกลายเป็นประชากรส่วนใหญ่ของลำพูน หากจะเรียกว่าชาวลำพูนส่วนใหญ่ สืบเชื้อสายมาจากชาวยองก็คงไม่ผิดนัก

 

บริเวณที่มีการตั้งถิ่นฐานของชาวยองที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง คือบริเวณที่ราบลุ่มน้ำแม่ทา น้ำแม่กวงและน้ำแม่ปิงไหลมาบรรจบกันในเขตอำเภอป่าซาง คือ “สบทา” ก็นับเป็นบริเวณที่มีชาวยองมาตั้งถิ่นฐานอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะบริเวณแถบนี้ นอกจากจะเป็นแหล่งเสบียงอาหารอันอุดมสมบูรณ์ที่ผู้คนตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว ยังเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำที่สำคัญ ระหว่างเชียงใหม่ ลำพูน กับหัวเมืองต่าง ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่ม บ้านฉางข้าว
น้อย อำเภอป่าซาง ซึ่งถือเป็นหมู่บ้านหลักของผู้คนที่อพยพมาจากเมืองยอง มีนิสัยรักสันโดษ มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ดำรงรักษาประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของบรรพบุรุษเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

 

จากจารึกไม้สักบ่งบอกว่า วัดฉางข้าวน้อยมีอายุหลัง 200 ปีเล็กน้อย มีการสร้างวิหารขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2371 วัดและชุมชนในบริเวณนี้น่าจะถูกตั้งขึ้นมาหลังการอพยพจากเมืองยองในปี พ.ศ. 2348 ไม่นานนัก เมื่อมีผู้คนหนาแน่นขึ้น ชุมชนเริ่มก่อตั้งอย่างมั่นคง ชาวบ้านมีความเป็นอยู่ที่ดี จึงมีเวลาในการทำนุบำรุงพระศาสนา โดยสร้างวิหารและพระพุทธรูปขึ้น
ปัจจุบันความเจริญได้โถมถาเข้าสู่วิถีชีวิตชุมชน นำไปสู่การผสมกลมกลืนของวัฒนธรรมเก่ากับวัฒนธรรมใหม่ ทว่าคนยองป่าซาง กลับดำรงอยู่ในฐานะของคนยองส่วนใหญ่ในสังคม ไม่ว่าระดับหมู่บ้าน ระดับท้องถิ่น ได้ตรงแบบแต่ดั้งเดิมไม่มีผิดเพี้ยน คนยองยังคงรักษาลักษณะทางสังคมและวัฒนธรรมได้ค่อนข้างยาวนาน โดยเฉพาะวัฒนธรรมทางภาษา และขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ เป็นต้น
บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น