ท่าน้ำโบราณ เมืองเชียงใหม่

ในอดีตการเดินทางหรือการใช้แม่น้ำปิงเพื่อคมนาคม จำเป็นต้องมีท่าเรือหรือท่าน้ำ เกิดขึ้นหลายแห่ง ซึ่งแต่ละท่าน้ำก็มีความสำคัญ ได้แก่ ท่าน้ำสำหรับขนขึ้นไม้ซุง เป็นท่าน้ำของผู้ที่มีโรงเลื่อยส่วนตัวทำการแปรรูปไม้ท่อนเพื่อใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน หรืออาจจะชักลากไม้ขึ้นเก็บไว้เพื่อขายให้กับบริษัทต่าง ๆ ซึ่งไม่ได้รับสัมปทานจากทางราชการ ไม้เหล่านี้ลำเลียงมาในรูปของแพประกอบด้วยไม้ซาง จะจอดเฉพาะท่าของแต่ละเจ้าของ เช่น ท่าน้ำพ่อเลี้ยงหม่องผ่อ ท่าน้ำพ่อเลี้ยงน้อยแก้ว ท่าน้ำขุนกัน ท่าน้ำเจ๊กแก้ว ท่าน้ำเจ๊กภูเทียม และท่าจักรของหมอเอ็ม.เอ.ซิค เป็นต้น
ท่าน้ำสำหรับขนขึ้น-ขนลงสินค้า เรือสีดอซึ่งเป็นเรือขนาดเล็กกว่า แม่ปะ จะจอดเคียงคู่กันไปเสมอ ท่าจอดท่าน้ำฝั่งโน้น ฝั่งนี้แล้วแต่จะตกลงกันไว้กับผู้รับเหมา แต่ที่เห็นจะคึกคักและท่าใหญ่นั้นคือ ท่าน้ำไปรษณีย์ท่าสะต๋อย ท่าวัดเกต และท่าศาลา เป็นต้น สินค้าที่ขึ้นลง ณ ท่าไปรษณีย์หรือท่าน้ำสถานนั้น ตั้งอยู่ที่ว่าการอำเภอเมืองเชียงใหม่ (ปัจจุบันเป็นโรงเรียนคำเที่ยงอนุสรณ์)  คือผ้าชนิดต่าง ๆ เครื่องเหล็ก เครื่องมือชั่ง เหล้าฝรั่ง อาหารกระป๋อง ของกินของใช้และเครื่องอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ในขณะนั้นนครเชียงใหม่ยังอยู่ในสภาพของประเทศราช อาหารการกิน จึงค่อนข้างอัตคัตและขาดแคลนมาก

การบุกเบิกที่ดินเพื่อทำไร่ ทำนาและทำสวน จึงไม่มีมากนัก เว้นแต่การปลูกต้นหมากพลู และปล่อยครั่งตามต้นฉำฉา สินค้าที่นำไปขายขาเรือล่อง จึงได้แก่ ครั่ง หมาก พริกแห้งและของป่าเท่านั้น สินค้าที่เหนือจากนี้มีราคาสูงคือ ฝิ่น ซึ่งบรรดาพ่อค้าขาล่องจะนำฝิ่นลงไปด้วย ทั้งที่กฏหมายได้ตราขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 ว่า “ห้ามซื้อ ห้ามขายฝิ่นและห้ามสูบฝิ่น (พ.ศ. 2345)” ในสมัยนั้นเรื่องยาเสพติด เช่น กัญชา ยุคนั้นมีวางขายตามท้องตลาดอย่างเปิดเผย ขายเป็นมัดเล็ก ๆ ผู้ที่ต้องการสูบกัญชาก็สามารถนำเข้าไปหั่นสูบในโรงสูบฝิ่นได้ ไม่ผิดกฏหมายแต่ประการใด โรงสูบฝิ่นสมัยนั้นมีอยู่ 3 แห่ง คือโรงสูบฝิ่นตรอกเล่าโจ๊ว โรงสูบฝิ่นประตูแดงและโรงสูบฝิ่นหลังโรงหนังตงเฮง เจ้าหน้าที่กรมสรรพสามิตเป็นผู้จำหน่ายฝิ่นแก่ผู้เข้าไปสูบของรัฐและเอกชน เรียกว่า “ฝิ่นเถื่อน”

 

ท่าน้ำต้อนรับเจ้านาย ท่าน้ำจะเป็นท่าผูกขาดใช้เฉพาะเจ้านาย เป็นท่าขึ้น-ลงและจอดเรือของเจ้านายเท่านั้น  ซึ่งมีบันทึกการเดินทางเสด็จมาเยี่ยมนครเชียงใหม่ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อปี พ.ศ. 2451-2452 ซึ่งเป็นการเตรียมการรับเสด็จทางเรือพระที่นั่งตามลำน้ำปิง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งในสมัยนั้น ข้าหลวงประจำนครเชียงใหม่ (เทียบเท่าผู้ว่าราชการจังหวัด) ต้องสนองคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทย ทำการสำรวจพื้นที่ ออกคำสั่งถึงนายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ท้องที่ที่ขบวนจะเสด็จผ่านโดยการเกณฑ์แรงงานราษฏร ตัดไม้ซาง ไม้บงและฟาง เพื่อทำประรำชั่วคราว ต้อนรับขบวนเรือของพระราชชายาเจ้าดารารัศมีที่จะจอดพักค้างคืน

 

ท่าน้ำสำหรับเจ้านายอาบน้ำดำหัว ท่าน้ำจะจัดขึ้นเป็นกรณีพิเศษในวันสงกรานต์หรือวันสังขารล่อง ซึ่งเป็นประเพณีที่คนพื้นบ้านจะรักษาไว้อย่างเคร่งครัด โดยการนำของเจ้าผู้ครองเมืองในยุคนั้น  พระยาอนุบาลพายัพกิจได้บันทึกไว้ว่า ตามที่ได้สืบถามผู้สูงอายุในเชียงใหม่ว่าขณะที่ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เป็นเจ้าครองเชียงใหม่อยู่นั้น เมื่อถึงวันสงกรานต์ล่อง (วันมหาสงกรานต์) พระเจ้าอินทวิชยานนท์แต่งองค์เสด็จแต่เช้าลงจากคุ้มหลวงกลางเวียง ซึ่งมีบริเวณประมาณหน้าศาลากลางจังหวัด (หลังเดิม) ประทับแคร่หาม มีขบวนแห่ฆ้อง กลอง พร้อมด้วยเจ้านาย พระญาติราชวงศ์ ข้าราชบริพารตามเสด็จออกจากคุ้ม มุ่งหน้าไปตามประตูช้างเผือกเลียบคูเวียงลงไปจนถึงท่าน้ำเจดีย์งาม ในบริเวณนั้นเคยมีคุ้มของเจ้านายอยู่ทางด้านเหนือและใต้

 

 

 

เมื่อขบวนแห่ถึงพร้อมแล้ว พระเจ้าอินทวิชยานนท์จะเสด็จลงสู่ที่ประทับ ซึ่งจัดไว้กลางแม่น้ำปิงทางสะพานเชือก ที่ประทับนั้นทำด้วยไม้มะเดื่อ เรียกว่า “ป้องเดื่อ” เมื่อเสด็จถึงป้องเดื่อแล้ว ลงสรงน้ำดำหัวในแม่น้ำปิง ขึ้นจากน้ำแต่งองค์แล้ว เจ้านาย พระญาติ พระวงศ์ ลงโปรดน้ำขออวยพร โอกาสเดียวกันนั้น ชาวลัวะ ชาวยาง ส่วนมากมีภูมิลำเนาอยู่ในอำเภอแม่สะเรียงและท้องที่อื่นของแม่ฮ่องสอน ลงไปเฝ้าถวายดอกเอื้องแซะ ยาสูบและกล้องยาสูบ ซึ่งท่านจะทรงสูบยาหลังจากที่ถวายให้แล้ว ณ  ที่นั้น ของถวายอีกอย่างหนึ่งได้แก่ ขิง ซึ่งพระเจ้าอินทวิชยานนท์ทรงเคี้ยวแล้วพ่นใส่พานพวกลัวะพวกยาง ที่มาเฝ้า ซึ่งพวกนั้นนิยมว่า พ้นทุกข์พ้นภัย ทำไร่ทำนาได้ผลดี เสร็จพิธีแล้วเสด็จขึ้นประทับแคร่หามไปตามถนนวิชยานนท์ ผ่านไปทางตลาดออกสู่ถนนท่าแพ พ่อค้า คหบดี คนเฒ่าคนแก่ หรือผู้ที่มีความปรารถนาจะรดน้ำ พระเจ้าอินทวิชยานนท์ก็ทรงรับด้วยความยินดี แล้วขบวนแห่ก็วกไปตามถนนท่าแพถึงกลางเวียงแล้วเลี้ยวขวาเลยไปทางคุ้มหลวง เป็นอันเสร็จพิธี

 

 

ท่าน้ำเพื่อชักน้ำขึ้นในการเกษตรกรรม เนื่องจากแม่น้ำปิงในยุคนั้นยังไม่มีเขื่อนหรือฝายกั้นน้ำแต่อย่างใด น้ำจึงไหลเชี่ยวอยู่ในร่องน้ำตลอดทั้งปี จึงมีชาวบ้านได้ทำหลุก (ระหัด) ติดอยู่ทั้งสองฝั่ง จะสร้างห่างจากฝั่งหรือติดฝั่งสุดแล้วแต่น้ำไหลผ่าน แกนกลางของหลุกจะทำด้วยแก่นไม้ ส่วนประกอบอื่นเป็นไม้ไผ่ทั้งสิ้น น้ำจะไหลพัดเอาแตะไม้ไผ่ที่ติดกับไม้ไผ่วงกลมที่เจาะเป็นกระบอกไว้ พอถึงตอนบนก็เทน้ำใส่ราง ลงสู่ท่อไม้ไผ่ที่เจาะทะลุปล้อง ทำให้น้ำไหลลงสวนผักที่ชาวบ้านปลูกไว้บนฝั่งน้ำทั้งสองฟากของแม่น้ำปิง หลุกจะหมุนอยู่ตลอดทั้งกลางวันกลางคืน พอถึงช่วงน้ำหลาก ไม้ซุงไหลมาก็พังหลุกหายลงไปในสายน้ำปิง พอหมดหน้าฝนน้ำไหลตามปกติ ก็สร้างกันขึ้นใหม่ ริมฝั่งปิงจึงเป็นแหล่งปลูกพืชผลต่าง ๆ มากกว่าแหล่งอื่น

 

ท่าน้ำอุโบสถหรือท่าน้ำอันเป็นมงคลในการล่องเรือ ในสมัยนั้นมีท่าน้ำอุโบสถที่เห็นก็คือ “ท่าน้ำวังสิงห์คำ” ตรงข้ามท่าน้ำวัดศรีโขง เป็นอุโบสถหลังใหญ่สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง มีลวดลายแกะสลักมีห้องกว้างขวาง จะใช้ในการบวชพระ บวชเณร หลังจากเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ได้พัดเอาอุโบสถพังทลายลง จากนั้นก็ไม่เห็นการสร้างขึ้นแทนอีกเลย ผู้ที่ใช้เรือล่องในยุคนั้น มีสัจจะหลายประการพึงกระทำ ขณะที่เรือล่องสู่ภาคกลางของประเทศ ก่อนจะล่องเรือก็ทำพิธีบวงสรวงขอขมาเจ้าที่ เทวดารักษาท่าน้ำ ที่ชาวเรือจะแวะขอประพรมน้ำมนต์จากตุ๊หลวง วัดชัยมงคล เพื่อเรือเข้าสู่แก่งต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย จึงมีชื่อเรียกว่า “ท่าเรือวัดชัยมงคล” ท่าเรือที่ใช้ในกิจกรรมอย่างอื่น ท่าน้ำประเภทนี้แบ่งย่อยลงไปเป็นท่าผูกขาดเฉพาะ และท่าน้ำเอกชน ที่ว่าเป็นท่าน้ำผูกขาดนั้น คือ ท่าที่ใช้เฉพาะเจ้านาย ราษฏรธรรมดาจะไปใช้ไม่ได้ คือ “ท่าคุ้มหลวง” เป็นท่าน้ำที่อยู่ติดกับคุ้มหลวงของเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ของพลตรีเจ้าแก้วนวรัฐ เป็นท่าน้ำสำหรับช้างของเจ้าหลวงลงอาบน้ำ ช้างหลายเชือกจะลงไปอาบน้ำพร้อม ๆ กัน โดยมีควาญช้างเป็นผู้ลงไปกับช้าง ทำความสะอาดถูเรือนร่างของช้างให้ผ่องแผ้ว ท่าอาบน้ำช้างมีอยู่สองแห่ง คือ ท่าน้ำต้นลำไย กับ ท่าน้ำคุ้มหลวง

 

 

ส่วนท่าน้ำสำหรับเอกชน เช่นของ ห้างบอร์เนียวและห้างทองบอมเบย์นั้นก็มีต่างหาก ซึ่งมีชื่อว่า “ท่าน้ำห้าบอร์เนียว” ตั้งอยู่ตรงข้ามสำนักงานของบริษัทบอร์เนียว จำกัด ซึ่งต่อมาได้ถวายช้างเผือกแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 หนึ่งเชือก ซึ่งเป็นช้างคู่บารมี มีพระนามว่า “พระเศวตคชเดชดิลก” อันเป็นช้างประวัติศาสตร์สำคัญเชือกหนึ่งของไทย ท่าน้ำของกรมป่าไม้ ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานป่าไม้จังหวัดเชียงใหม่ เป็นท่าน้ำที่คู่กับเชียงใหม่และมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ในการเสด็จกลับมาเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอน ของพระราชชายาเจ้าดารารัศมี เมื่อ พ.ศ. 2451-2452
บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น