9 พฤษภาคม ครบรอบ 145 ปี เจ้าหลวงลำพูน ประวัติและผลงานของ “เจ้าจักรคำขจรศักดิ์”

เจ้าหลวงจักรคำขจรศักดิ์ หรือ พลตรีมหาอำมาตย์โทเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์สุดท้าย นับว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการปกครองเมืองลำพูน นอกจากนั้นท่านยังสืบสายสกุลมาจาก “เจ้าเจ็ดตน” มีพระนามเดิมว่า “เจ้าน้อยจักรคำ ณ ลำพูน” เป็นราชบุตรองค์ที่ 3 ของเจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 9 กับแม่เจ้ารถแก้ว สมภพเมื่อวันพุธ ขึ้น 15 เดือน 6 ตรงกับวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2418 ณ คุ้มหลวงลำพูน ภายหลังที่เจ้าบิดาทรงพิราลัยแล้ว ท่านได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาขึ้นเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ 10 เมื่อปี พ.ศ. 2454 และได้ทรงนครลำพูนยืนยาวกว่าเจ้าผู้ครองนครองค์อื่น ๆ ทั้งหมดถึง 32 ปี

เจ้าน้อยจักรคำ เริ่มเรียนหนังสือไทยเหนือในสำนักพระป้อ วัดพระเจดีย์หลวงเมืองลำพูน เรียนหนังสือไทยในสำนักหลวงศรีทิพบาลที่วัดพระเจดีย์หลวง (วัดพระธาตุหริภุญชัยในปัจจุบัน) จากนั้นได้เดินทางไปศึกษาวิชาการปกครอง ที่โรงเรียนวังหลัง กรุงเทพฯได้ 2 ปีจึงกลับมารับราชการในสำนักของเจ้าอินทยงยศโชติ ในขณะที่มีอายุ 19 ปี (พ.ศ. 2436) โดยรับราชการครั้งแรกเป็นเสมือนคลังจังหวัดลำพูน ได้เงินเดือน เดือนละ 8 บาท ปี พ.ศ. 2440 ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นพระยาวังขวา มีหน้าที่เป็นเสนาคลังเมืองลำพูน ได้รับเงินเดือน เดือนละ 100 บาท ถือศักดินา 1,200 ไร่ ต่อมาปี พ.ศ. 2449 ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าบุรีรัตน์ ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยข้าหลวงนครลำพูน ได้รับเงินเดือน เดือนละ 250 บาท ถือศักดินา 2,400 ไร่ ปี พ.ศ. 2454 เจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าบิดาถึงแก่พิราลัย เจ้าจักรคำได้เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น “เจ้าจักรคำขจรศักดิ์” รับตำแหน่งเจ้าผู้ครงอนครลำพูน ได้รับเงินเดือน เดือนละ 3,000 บาท ถือศักดินา 10,000 ไร่ ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6

สมัยที่เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ดำรงตำแหน่งเจ้าบุรีรัตน์นั้นเป็นเวลาที่ท่านทำชื่อเสียงในการปราบปรามโจรผู้ร้ายซึ่งมีอย่างชุกชุมสร้างความเดือดร้อนให้กับราษฏร ไอ้เสือที่เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ สมัยเป็นเจ้าบุรีรัตน์ปราบมาแล้วล้วนแต่เป็นโจรที่มีชื่อเสียงและโหดเหี้ยมอย่างมาก เช่น เสือมอย จอมโจรผู้ฆ่าคนเป็นยอดแห่งความอำมหิต กับเสือติ๊บผู้เป็นเจ้าของแผนการนำพวกเงี้ยวมาปล้นบ้านเจ้ามหาวงศ์ ณ เชียงใหม่ บ้านสันทรายใต้ อำเภอสารภี สายลับนำความแจ้งให้เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ทราบ จึงช่วยกันล้อมจับเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ นอกจากจะมีชื่อเสียงและฝีมือในการปราบโจรผู้ร้ายแล้ว ในด้านการปกครองบ้านเมืองทรงก็ทรงมีความใส่ใจดูแลอาณาประชาราษฏรของพระองค์ให้อยู่ดีกินดี

เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เสด็จประพาสหัวเมืองเชียงใหม่และลำพูน ในปี พ.ศ. 2469 เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้ร่วมกับเจ้านายฝ่ายเหนือถวายการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ โดยเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ได้ร่วมในกระบวนเครื่องพระขวัญฝ่ายเจ้านายพื้นเมืองอันมีหลายคู่ เจ้าจักรคำขจรศักดิ์เจ้าผู้ครองนครลำพูนได้จับคู่กับเจ้าราชวงศ์แห่งนครลำปาง และในฐานะผู้ทำพิธีทูลพระขวัญขึ้นสู่พลับพลาและผู้รับสมมุติยกพระกรณ์ ได้ร่วมกับเจ้าแก้วนวรัฐ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี และเจ้าหญิงจามรี ทำหน้าที่นี้ด้วยความเรียบร้อย

ในด้านการศาสนา เจ้าจักรคำขจรศักดิ์เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ท่านได้สร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาเป็นอันมาก เฉพาะอย่างยิ่งได้สร้างวัดด้วยทุนทรัพย์ส่วนตัวของท่าน เป็นอนุสรณ์เฉลิมนามาภิไธยวัดหนึ่งคือ “วัดจักรคำภิมุข” ซึ่งมีหลักฐานจารึกที่แท่นแก้วพระปฏิมากรสุวรรณจักโกฏิ พระประธานในวิหารวัดจักรคำภิมุขว่า “นายพลตรี เจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าผู้ครองนครพร้อมด้วยเจ้าหญิงส่วนบุญ ชายา โอรส ธิดาและพระประยูรญาติ ได้สร้างขึ้นพร้อมทั้งแท่นแก้ว กฏิ กำแพง ศาลาบาตร ครัวไฟ รูปสิงห์ บ่อน้ำ คิดเริ่มสร้างแต่วันที่ 15 กันยายน 2474 มาสำเร็จประมวลรวมงานฉลองคราวเดียวกันวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2477 ขอน้อมถวายอุทิศแด่พระพุทธศาสนา เพื่อขอให้เป็นปัจจัยแก่พระนฤพานในอนาคตกาลภาคหน้า นิพาน ปัจจโย โหตุ โน นิจจัง”

อกจากนี้ยังได้อุปภัมถ์กุลบุตรให้บรรพชา อุปสมบทเป็นภิกษุ สามเณรเป็นจำนวนมาก และยังได้บำรุงวัดหลวงลำพูน (วัดพระธาตุหริภุญชัย) เป็นพิเศษ เป็นประธานในการรื้อทองจังโกฏที่หุ้มพระเจดีย์ ซึ่งได้ชำรุดทรุดโทรม ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งหมด นอกจากนั้นยังบูรณะวัดจามเทวี ซึ่งเป็นวัดร้างเหลือแต่ซากให้สมบูรณ์ และรับเป็นองค์อุปัฏฐากครูบาศรีวิชัยจนถึงมรณะภาพลง

ด้านการศึกษาท่านยังสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาของจังหวัดลำพูนให้เจริญก้าวหน้าเป็นอันมาก โดยท่านได้ประทานที่ดินติดถนนสายลำพูน-ป่าซาง สร้างโรงเรียนแห่งใหม่ ได้รับพระราชทานโรงเรียนจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ว่า “โรงเรียนจักรคำคณาทร” (ปี พ.ศ. 2466) ปี พ.ศ. 2469 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้ดำเนินนโยบายยกเลิกตำแหน่งเจ้าหลวง หากเจ้าหลวงเมืองใดว่างลงจะไม่โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นอีก

ดังนั้นเจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูนก็คือ พลตรีมหาอำมาตย์โทเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าผู้ครองนครลำพูนตั้งแต่ พ.ศ. 2454 ในรัชกาลที่ 6 และถึงแก่พิราลัยในวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 รวมเป็นเจ้าผู้ครองนครลำพูน 32 ปี สิริมายุได้ 69 ปี

บทความโดย
จักรพงษ์ คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น