“พระธาตุดอยตุง” พระธาตุแฝดกับ “พระธาตุดอยสุเทพ”

ตำนานเกี่ยวกับพระธาตุดอยตุง ปรากฏอยู่ในตำนานพื้นเมืองของล้านนา เป็นความเชื่อปรัมปราของจารีตการสืบทอดประวัติความเป็นมาแห่งดินแดน ที่แสดงให้เห็นถึงการเสื่อมสลายและความรุ่งโรจน์ของอาณาจักรชุมชน ในบริเวณอันกว้างใหญ่ของลุ่มแม่น้ำโขง แม่น้ำกก และแม่น้ำสาย ที่เกี่ยวเนื่องกับอิทธิพลของพุทธศาสนาที่แพร่ขยายเข้าสู่ดินแดนบริเวณนี้
ตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาของพระธาตุดอยตุงมีอยู่ว่า ที่บริเวณพระธาตุดอยตุง ประกอบด้วยยอดเขาหลายลูกสลับซับซ้อนกันอยู่ บริเวณนี้เป็นที่อยู่ของอารยชนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า วิรังคะ บ้าง ลัวะ บ้าง พวกนี้มีหัวหน้าชื่อปู่เจ้าลาวจก มีเมียชื่อ ผ่าเจ้าลาวจก สมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมาประทับ อยู่ที่ยอดเขาลูกหนึ่ง ทรงมะนาวตัดและทำนายว่าในอนาคตจะมีพระอรหันต์นำพระธาตุของพระองค์มาประดิษฐาน ณ ที่นี้ ซึ่งต่อไปภายหน้าจะเป็นบ้านเป็นเมือง มีกษัตริย์ค้ำชูพุทธศาสนาตราบชั่ว 5,000 พระวัสสา
เมื่อพระพุทธเจ้านิพพาน พระมหากัสสป นำพระธาตุรากขวัญเบื้องซ้ายและพระธาตุอื่น ๆ มาไว้ พระธาตุได้ชำแรกลึกลงไปในหิน พระมหากัสสปได้ทำตุง คันหนึ่งใหญ่ยาวมาก ว่ากันว่า ร่มเงาของตุงนั้นทาบไปถึงเมืองเชียงแสน ซึ่งขณะนั้นมีกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองอยู่แล้ว เป็นวงศ์ของสิงหนวติกุมาร ซึ่งได้อพยพมาจากตอนเหนือมาตั้งบ้านเรือนอยู่ จึงให้ปู่เจ้าลาวจก พร้อมเมีย และบริวาร 500 คน เป็นผู้ดูแลพระธาตุ
อย่างไรก็ตามพิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีของกรมศิลปากรได้กล่าวถึงความเชื่อเรื่องพระธาตุ ซึ่งได้มีการตรวจสอบจากตำนานพระธาตุดอยตุง เมืองเชียงแสน ฉบับของกรมศิลปากรและตำนานสิงหนวติ ปรากฏว่า ไม่ได้มีการระบุว่าเจดีย์องค์ใดเป็นพระธาตุรากขวัญเบื้องซ้าย หรือพระธาตุส่วนอื่น ๆ นอกจากนั้นยังมีการกล่าวถึงการนำพระธาตุมา 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกมีพระรากขวัญเบื้องซ้ายมาด้วย ส่วนครั้งที่สอง มีการนำพระธาตุมาหลายองค์ เมื่อนำมาแล้วได้อัญเชิญขึ้นมาตั้งไว้บนก้อนหิน พระธาตุที่นำมาครั้งแรก ทำอภินิหารจมลงในดินลึก 8 ศอก ส่วนครั้งที่สองจมลงในดินลึก 7 ศอก ด้วยเหตุนี้การจะระบุว่าเจดีย์องค์ใดเป็นที่สถาปนาพระธาตุ จึงเป็นคำอธิบายของคนสมัยหลัง ซึ่งไม่ตรงกับความเชื่อในตำนาน
มีการเปรียบเทียบภาพถ่ายระหว่างพระธาตุดอยตุงกับพระธาตุดอยสุเทพในรูปทรงที่เห็นปัจจุบัน มีหลักฐานบ่งชี้ในตำนานพระธาตุดอยสุเทพ ชัดเจนว่าเป็นรูปแบบที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2068 ซึ่งตรงกับสมัยพระเกศเกล้าครองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทำองค์ระฆัง บัลลังก์และมาลัยลูกแก้วเป็น 12 เหลี่ยม ลักษณะพระธาตุดอยตุงองค์เดิมมีการทำเป็นเหลี่ยมเช่นกัน แต่มี 8 เหลี่ยม การนิยมทำส่วนต่าง ๆ ดังกล่าวให้เป็นเหลี่ยมนี้ ไม่ปรากฏว่ามีที่ใดเก่าไปกว่าของพระธาตุดอยสุเทพ ดังนั้นได้มีการตรวจสอบกับตำนานพระธาตุดอยตุง เมืองเชียงแสนฉบับหอสมุดแห่งชาติว่ามีใครเข้ามาเกี่ยวข้องในการทำนุบำรุงพระธาตุ ในสมัยตั้งแต่ พ.ศ. 2068 หรือไม่ ปรากฏว่าครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. 2129 กษัตริย์เชียงใหม่ ผู้เป็นเชื้อสายของบุเรงนอง ได้มาทำนุบำรุงพระธาตุองค์นี้ พระธาตุดอยตุง ชำรุดทรุดโทรมผ่านกาลเวลามาเนิ่นนาน กระทั่งปี พ.ศ. 2470 ครูบาศรีวิชัยได้มาทำการบูรณะพระธาตุดอยตุง โดยการฉาบปูนใหม่ แต่ยังรักษาทรวดทรงของเดิมของเก่า ที่เคยสร้างไว้ตั้งแต่สมัยพุทธกาล
ปัจจุบันพระธาตุดอยตุง เป็นเสมือนเสาหลักที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของพุทธศาสนิกชน ทั้งชาวไทยและชาวไทใหญ่ จากพม่า รวมถึงชาวลาวจากหลวงพระบางและเวียงจันทน์ สังเกตได้จากในช่วงเทศกาลนมัสการพระธาตุดอยตุงมีผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางมานมัสการองค์พระธาตุดอยตุงแห่งนี้อยู่อย่างไม่ขาดสาย
บทความโดย
จักรพงษ์  คำบุญเรือง

ร่วมแสดงความคิดเห็น