UNODC ระบุสถานการณ์ยาเสพติดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จับตาใกล้ชิด หลังสถานการณ์โควิด-19

นายนิยม เติมศรีสุข เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่าเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ได้มอบหมายให้ พันตำรวจโท ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) แถลงรายงานสถานการณ์ยาเสพติดชนิดสังเคราะห์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออก – อาเซียน (Synthetic Drugs in East and Southeast Asia: latest developments and challenges) ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) อาคารมณียา

​ในการแถลง นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทน UNODC ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก ได้สรุปแนวโน้มสถานการณ์การลักลอบค้ายาเสพติดในปัจจุบัน พบว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโครานา 2019 (Covid – 19) ส่งผลกระทบในวงจำกัดต่อตลาดยาเสพติดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากยังมีการลักลอบค้าเคมีภัณฑ์และสารตั้งต้นได้อย่างต่อเนื่อง มีการรวมกลุ่มการผลิตยาเสพติดชนิดสังเคราะห์บริเวณตอนใต้ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีการเพิ่มการผลิตไอซ์มากขึ้น องค์กรอาชญากรรมมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวต่อสถานการณ์โดยการปรับเปลี่ยนเส้นทางการลักลอบค้ายาเสพติดและวิธีการสังเคราะห์สารเสพติด โดยพบแนวโน้มการลักลอบค้ายาเสพติดทางทะเลเพิ่มมากขึ้น มีการใช้เคมีภัณฑ์สารตั้งต้นที่หลากหลายมากขึ้น แต่ตรวจยึดได้น้อยมาก ราคาเมทแอมเฟตามีนลดลงต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทำให้ผู้ค้าปลีกและผู้เสพมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น และล่าสุดพบการซื้อขายโอปิออยด์ชนิดสังเคราะห์ในตลาดค้ายาเสพติดของภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ยังได้เสนอปัจจัยสำคัญที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด 3 ประการ ได้แก่ ราคายาเสพติด (Price) ความบริสุทธิ์ของยาเสพติด (Purity) และ เคมีภัณฑ์และสารตั้งต้น (Precursor Chemicals) ทั้งยังได้กล่าวว่า ประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคประสบปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติดชนิดสังเคราะห์จากแหล่งผลิตในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความท้าทายนี้และได้เน้นย้ำการเสริมสร้างความร่วมมือระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหายาเสพติด

สำหรับ พ.ต.ท.ไพศิษฎ์ สังคหะพงศ์ รองเลขาธิการ ป.ป.ส. ในฐานะโฆษก สำนักงาน ป.ป.ส. ได้สรุปถึงภาพรวมสถานการณ์ยาเสพติดในประเทศไทยว่า การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 (COVID – 19) มีผลให้ไทยเพิ่มมาตรการการควบคุมตามแนวชายแดนมากขึ้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มมาตรการสกัดกั้นยาเสพติดไปพร้อม ๆ กัน ทำให้ขบวนการค้ายาเสพติดต้องปรับเปลี่ยนทั้งช่องทาง เส้นทาง และวิธีการลำเลียงยาเสพติด นอกจากนี้ ยังพบการใช้ช่องทางออนไลน์ควบคู่ไปกับการใช้บริการขนส่งทางพัสดุไปรษณีย์ในการค้ายาเสพติดเพิ่มสูงขึ้น และจากการที่ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังประสบปัญหาการลักลอบค้ายาเสพติดชนิดสังเคราะห์จากแหล่งผลิตในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ รัฐบาลปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือระหว่างประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยประเทศไทยได้เสนอแผนปฏิบัติร่วมสามเหลี่ยมทองคำ 1511 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการสกัดกั้นยาเสพติดและสารตั้งต้นยาเสพติดในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งได้มีการปฏิบัติมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และมีความคืบหน้าตามลำดับ

เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวตอนท้ายว่า ประเทศไทยได้รับการยอมรับไม่เพียงแต่ความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในประเทศและความมีส่วนร่วมในภูมิภาคจากทั้งระดับสากล ภูมิภาค และอนุภูมิภาค แต่ยังได้รับการยอมรับในด้านการกำหนดกลยุทธ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากนโยบายและการสนับสนุนของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และการนำนโยบายสู่การปฏิบัติของ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม อีกทั้งความร่วมมือของหน่วยงานความมั่นคงทุกหน่วยงาน ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร จึงขอให้พี่น้องประชาชนมีความมั่นใจว่ารัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในประเทศโดยลดผู้เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดในทุกมิติ เพื่อทำให้สังคมไทยเป็นพื้นที่ปลอดภัย

ร่วมแสดงความคิดเห็น