พลัง อสม. แม้เสี่ยงแต่สู้ ด่านหน้าคัดกรองเข้ม สร้างชุมชนไร้โควิด-19

“พวกเรา อสม. ไม่เคยย่นย่อ งานต่อต้านโรคภัย อสม. ขอทุ่ม จิตเทใจ ช่วยเหลือคนไทย ทั่วเมืองไทยให้รุ่งเรือง”
เนื้อเพลงท่อนแรกของเพลงมาร์ช อสม. เป็นการสร้างความฮึกเหิมให้กับผู้คนที่ทำหน้าที่นี้ได้ไม่น้อย โดยเฉพาะช่วงที่ประสบปัญหากับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เพลงนี้น่าจะปลุกใจให้บรรดาเหล่า อาสาสมัครสาธารณสุข ประจำหมู่บ้าน หรือ อสม.ได้มีกำลังใจในการทำงานได้มากขึ้น เพราะ อสม.เหล่านี้ เป็นปราการด่านหน้าที่จะต้องเสี่ยง พบกลับผู้คนกลุ่มเสี่ยงมากมาย ที่เดินทางกลับเข้ามาในชุมชนของตนเอง
แม้ว่าในช่วงนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ จ.ลำปาง จะคลี่คลายลง เนื่องจากผู้ติดเชื้อทั้ง 4 ราย จาก อ.งาว ได้หายเป็นปกติและกลับบ้านได้ทั้งหมดแล้ว

โดยรายงานจากสำนักงานสาธารณสุข จ.ลำปาง วันที่ 15 พฤษภาคม 63 ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ส่วนผู้เข้าเกณฑ์เฝ้าระวังโรคสะสมแล้ว จำนวน 182 ราย ส่วนผู้ที่เดินทางกลับจากพื้นที่กลุ่มเสี่ยง ยอดสะสมอยู่ที่ 22,353 ราย กักตัวเองที่บ้าน 2,700 ราย พ้นระยะกักตัวแล้ว 19,653 ราย

จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้คนจากต่างถิ่น กลับเข้ามาใน จ.ลำปาง เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงปลายเดือน มี.ค. 63 ที่เมืองหลวง หรือ กรุงเทพมหานคร เริ่มมีคำสั่งปิดกิจการต่างๆเป็นการชั่วคราว เพราะพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลุ่มแรงงานบางส่วนที่ไม่มีงานทำ จึงต้องเดินทางกลับมาภูมิลำเนา ทำให้จำนวนตัวเลขคนเดินทางเข้ามาใน จ.ลำปาง เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ผ่านมา อสม.ต้องเป็นบุคคลเสี่ยงที่ต้องเข้าคัดกรองคนกว่า 40,000 ราย ที่เดินทางกลับเข้าสู่ จ.ลำปาง และขณะนี้ อสม.ยังคงต้องทำหน้าที่อย่างหนัก เมื่อมีการคลายล็อคดาวน์ในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดการเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


นางอำพรรณ อมรไตรศรี ประธาน อสม.ชุมชนรถไฟนครลำปาง เปิดเผยว่า ในชุมชนของตน อสม. 1 คน จะต้องรับผิดชอบบ้านเรือนอยู่ประมาณ 25-30 หลังคาเรือน โดยต้องสอดส่องดูแลในโซนที่ตัวเองรับผิดชอบ ว่าบ้านหลังนี้อยู่กันกี่คน ใครประกอบอาชีพอะไร มีผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ รวมทั้งมีการตรวจสอบโดยการเคาะประตูบ้านแต่ละหลัง อสม.ต้องป้องกันตัวเองโดยการเว้นระยะห่าง 2 เมตร สวมหน้ากากอนามัย เมื่อเสร็จภารกิจก็จะรีบล้างมือด้วยน้ำสบู่ และ อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้า

นอกจากนั้นจะมีการติดตามเจ้าบ้านทางแอพพลิเคชั่นไลน์ แนะนำให้ปฏิบัติตามระเบียบมาตรการ จ.ลำปาง อสม.ก็จะคอยสอดส่องและกำชับให้เขาปฏิบัติมีการบอกให้คนในบ้านดูแลกัน คนที่ต้องกักตัว 14 วัน ก็จะต้องปฏิบัติ โดยจะมีเจ้าหน้าที่จากกองสาธารณสุข เทศบาลนครลำปาง ร่วมกับ อสม. สับเปลี่ยนเข้าไปเยี่ยมบ้าน ส่วนใหญ่ชาวบ้านให้ความร่วมมืออย่างดี ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีการรายงานไปยังเจ้าหน้าที่ดูแลควบคุมโรคติดต่อและไม่ติดต่อ กองสาธารณสุข เทศบาลนครลำปาง และเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ร่วมกับ อสม.ด้วย

ด้านนายทศพล บุญสิริจินดา ประธาน อสม.ชุมชนบ้านทับหมาก ในเขต ทต.บ่อแฮ้ว กล่าวเช่นเดียวกันว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ อสม.ทำงานอย่างเข้มแข็ง โดยที่ชุมชนของตนนั้นจะแบ่งโซนกันรับผิดชอบ 1 คน ดูแล 15-17 หลัง ในช่วงแรกที่เกิดการแพร่ระบาดหนัก และพบว่าที่ จ.ลำปาง มีผู้ติดเชื้อนั้น อสม.ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยการสวมอุปกรณ์ป้องกันอย่างมิดชิดในการออกสำรวจ และคัดกรองคนกลับมาจากต่างจังหวัดและต่างประเทศ แต่โชคดีที่ชุมชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี มีการแจ้งประสานงานให้ทราบเมื่อมีคนกลับจากพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งให้ความร่วมมือในการกักตัว 14 วัน

นายทศพล กล่าวอีกว่า แม้ว่าช่วงนี้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ทาง อสม.ก็ยังไม่ลดละความตั้งใจในการทำงาน มีการช่วยกันเย็บหน้ากากอนามัย เวลามีงานศพในหมู่บ้าน ต้องตั้งจุดคัดกรอง จดบันทึกผู้เข้าร่วมงานทุกวัน ในการทำงานนั้นอาจจะมีบ้างที่ย่อท้อ เพราะถูกชาวบ้านบางส่วนพูดจาไม่ดี เราทำได้เพียงแต่ยิ้มไว้และให้กำลังใจตัวเอง ซึ่งยังมีชาวบ้านอีกหลายคนที่ให้ความร่วมมือ และให้กำลังใจกับพวกเรา อีกทั้งในช่วงนี้ยังต้องเฝ้าระวังเรื่องโรคติดต่ออีกหลายโรค เช่น โรคไข้เลือดออกที่จะมากับฤดูฝน และการตรวจสุขภาพชาวบ้านและผู้สูงอายุ เชื่อว่าผู้ที่มาทำหน้าที่ อสม.นี้ทำด้วยใจอย่างแท้จริง


นพ.ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ สาธารณสุข จ.ลำปาง กล่าวว่า อสม.ของ จ.ลำปาง มีความเข้มแข็งมาก และทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี ขอขอบคุณ อสม. ชรบ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกภาคส่วนที่ช่วยกันเฝ้าระวังผู้คนที่กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง ขอความร่วมมือกับประชาชนทุกคน ตอนนี้เราต้องเหนื่อยกันหมด ซึ่งช่วงฝนนี้เราอาจจะต้องเจอกับโรคไข้หวัด ไข้เลือดออก ไข้ซิกา ดังนั้น ประเทศไทยจะต้องเจอกับวิกฤตในช่วงฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปอีก อย่างน้อย 10-12 เดือน ไทยจึงยังคงมีความเสี่ยงที่จะต้องเจอกับโควิด-19 ได้อีกในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว เราต้องเฝ้าระวังอีก 1 ปี


ประกอบกับภาคเศรษฐกิจก็ต้องการขับเคลื่อน การเดินทางก็จะเริ่มขึ้น คนไทยจะเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด กลับภูมิลำเนา ส่วนชาวต่างชาติก็จะเดินทางเข้ามาทำธุรกิจ และท่องเที่ยวในประเทศไทย จึงต้องเตรียมการรับมือไว้ในระดับที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุดก่อน จึงต้องทุ่มทรัพยากรที่มีทั้งหมด ให้กับโรงพยาบาลเกาะคา และโรงพยาบาลสนาม เพื่อเตรียมการจะสู้กับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เราจะสบายใจได้ก็ต่อเมื่อผลการทดลองวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำเร็จ จึงขอให้ทุกคนสู้ร่วมกัน นพ.ประเสริฐ กล่าว

อย่างไรก็ตาม บรรดา อสม.ซึ่งเปรียบเสมือนปราการด่านหน้า ที่จะต้องพบกับความเสี่ยงอย่างมาก ยังคงปฏิบัติหน้าที่กันอย่างเข้มแข็ง ในขณะที่ค่าตอบแทนยังคงเท่าเดิม ซึ่งหลายคนยังคงเฝ้ารอความหวังด้านการช่วยเหลือค่าตอบแทน เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการทำงานให้ดียิ่งขึ้นไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น