ปภ.รายงานยังคงมีจังหวัดประกาศเขตฯ ภัยแล้ง 27 จังหวัด ระดมสรรพกำลัง แก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง

วันนี้ (22 พ.ค. 63) กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานมีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 27 จังหวัด ทั้งนี้ ปภ. ได้บูรณาการทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลังแก้ไขปัญหาในพื้นที่ประสบภัย ทั้งการสูบส่งน้ำ การขุดบ่อน้ำตื้น การขุดบ่อน้ำบาดาล การเป่าล้างบ่อบาดาล การจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้าน และจุดแจกจ่ายน้ำตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภค-บริโภค เพียงพอตลอดฤดูแล้ง

นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 17 ตุ.ค. 2562 – ปัจจุบัน (22 พ.ค. 63) มีจังหวัดประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวมทั้งสิ้น 29 จังหวัด 165 อำเภอ 877 ตำบล 5 เทศบาล 7,545 หมู่บ้าน/ชุมชน ซึ่งปัจจุบันมีจังหวัดยุติการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) แล้ว 2 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ และกาฬสินธุ์ ทำให้มีจังหวัดที่ยังคง ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) รวม 27 จังหวัด 160 อำเภอ 862 ตำบล 5 เทศบาล 7,444 หมู่บ้าน/ชุมชน แยกเป็น

 

ภาคเหนือ 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน สุโขทัย เพชรบูรณ์ เชียงใหม่ พิษณุโลก และตาก รวม 44 อำเภอ 226 ตำบล 1,866 หมู่บ้าน

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 9 จังหวัด ได้แก่ หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มหาสารคาม นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และศรีสะเกษ รวม 73 อำเภอ 425 ตำบล 2 เทศบาล 3,933 หมู่บ้าน

ภาคกลางและภาคตะวันออก 9 จังหวัด ได้แก่ นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี จันทบุรี และชลบุรี รวม 42 อำเภอ 200 ตำบล 2 เทศบาล 1,587 หมู่บ้าน/ชุมชน

ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ สงขลา รวม 1 อำเภอ 11 ตำบล 1 เทศบาล 58 หมู่บ้าน/ชุมชน

ทั้งนี้ ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยระดมสรรพกำลัง เครื่องจักรกล ยานพาหนะ และอุปกรณ์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงของพื้นที่ ทั้งการสูบส่งน้ำ การขุดบ่อน้ำตื้น การขุดบ่อน้ำบาดาล การเป่าล้างบ่อบาดาล และจัดรถบรรทุกน้ำนำน้ำไปเติมยังถังน้ำกลางประจำหมู่บ้าน และจุดแจกจ่ายน้ำตามวงรอบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำอุปโภค-บริโภค เพียงพอตลอดฤดูแล้ง ตลอดจนรณรงค์ให้ทุกภาคส่วน ใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนเกษตรกรให้ปรับวิถีทำการเกษตรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในพื้นที่

ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยแล้ง สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น