โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ใช้พลาสมารักษาผู้ป่วยโควิด-19 สำเร็จเป็นรายแรกของภาคใต้

เมื่อวันที่ 20  พฤษภาคม  2563  ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์  รองศาสตราจารย์ นพ.ศรัญญู ชูศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ประสบความสำเร็จในการใช้พลาสมาจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาหายแล้ว ไปทำการรักษาผู้ป่วยโควิดอาการวิกฤติจนหายเป็นปกติได้เป็นครั้งแรกของภาคใต้ และได้ส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาแล้วเมื่อวันที่  19  พฤษภาคม  2563 นับเป็นผู้ป่วยโควิดรายสุดท้ายของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์โดยในขณะนี้ยังคงเหลือผู้ป่วยโควิดที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สาขา 2 ที่อาคารติณสูลานนท์ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อีกเพียง 2 คนเท่านั้น

ผู้ป่วยรายดังกล่าว เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโควิด-19 ที่ถูกส่งต่อมาจากจังหวัดนราธิวาส และได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสสูตรมาตรฐาน คือ ฟาวิพิราเวียร์ (favipiravir) แล้ว 3 วัน แต่อาการไม่ดีขึ้น เมื่อถูกส่งต่อมายังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผู้ป่วยมีค่าออกซิเจนในเลือดและค่าหัวใจต่ำลง ภาวะหายใจล้มเหลว ต้องใส่ท่อหายใจ คณะแพทย์ผู้ทำการรักษาจึงพิจารณาให้การรักษาเสริม โดยใช้พลาสมาซึ่งได้รับบริจาคจากผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการรักษาหายรายแรกของโรงพยาบาล

 

คณะแพทย์ได้ให้พลาสมาครั้งละ 200 ซีซี จำนวน 2 ครั้ง หลังจากนั้น 3-4 วัน ค่าการหายใจค่าหัวใจดีขึ้น ภาวะการอักเสบต่างๆ ลดลง ค่าไวรัสที่คอหอยและในเสมหะมีปริมาณน้อยมากจนตรวจวัดไม่ได้ สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้ อาการปอดอักเสบดีขึ้น “แต่เรายังบอกไม่ได้ว่ากรณีนี้จะใช้ได้กับทุกคน เราต้องมีการพิจารณาเป็นรายๆไป หลักการทางการแพทย์คือเราต้องมีการศึกษาอย่างเป็นระบบ การที่ผู้ป่วยรายนี้หายถือว่าเป็นรายงานชิ้นหนึ่ง ว่าได้ประสบความสำเร็จในการรักษา แต่คงยังไม่สามารถนำไปใช้ได้กับทุกคน เพราะต้องมีการดูเป็นราย ๆ ไป”

รองศาสตราจารย์ นพ.ศรัญญู ชูศรี กล่าวการใช้พลาสมาเป็นการรักษาเสริมในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วอาการไม่ดีขึ้น เป็นการรักษาไม่ใช่การป้องกัน  ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาหายแล้วติดต่อมาเพื่อบริจาคพลาสมาหลายราย โดยสามารถบริจาคได้ที่คลังเลือด โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ผู้บริจาคต้องได้รับการตรวจว่าไม่มีการติดเชื้อที่สามารถติดต่อทางการให้เลือด โดยปกติสามารถจะบริจาคพลาสมาได้คนละ 400-600 ซีซี สามารถบริจาคซ้ำได้อีกหากยังมีปริมาณภูมิคุ้มกันเพียงพอ

ตั้งแต่ช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้ทำการรักษาผู้ป่วยโควิดไปแล้ว 30 ราย โดยส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดเป็นผู้ป่วยหรือคนไข้อาการวิกฤติ ซึ่งจะถูกนำมารักษาตัวที่หอผู้ป่วยแยกโรคติดเชื้อ 1 อาคารฉุกเฉินหลังเก่า ชั้น 5 ซึ่งมีการแบ่งเป็น 3 โซน โซนละ 4 เตียง รวม 12 เตียง ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหาย หรือรอฟักฟื้น หรืออาการไม่หนักมากแล้ว จะถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ สาขา 2 ที่อาคารติณสูลานนท์ ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุ สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา

ร่วมแสดงความคิดเห็น