ปาฐกถาพิเศษออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom เรื่อง “สถาบันอุดมศึกษาไทย พลังขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน”

ปาฐกถาพิเศษออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom เรื่อง “สถาบันอุดมศึกษาไทย พลังขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน” (THAI HIGHER EDUCATION INSTITUTIONS: EMPOWERING TOWARDS SUSTAINABLE DEVELOPMENT GOALS) โดย ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ในการประชุมวิชาการระดับชาติและระดับนานาชาติ เบญจมิตรวิชาการ ครั้งที่ 10
วันศุกร์ที่ 22 พฤษภาคม 2563 เวลา 9.30-10.45 น.

เมื่อประชาคมโลก ต่างประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) รวมถึง ประเทศไทย ที่ต้องประสบปัญหาอย่างหนัก ในระยะแรก เพราะแม้แต่หน้ากากอนามัย N95 ก็ยังขาดแคลน เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ส่วนใหญ่ ยังจำเป็นต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ นอกจากปัญหาทางด้านสาธารณสุขแล้ว ปัญหาสำคัญอีกอย่างของประเทศไทยคือ ปัญหาทางด้านการศึกษา เนื่องจากพบว่า สถานการณ์ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ในระดับนานาชาติ ดังนั้นมหาวิทยาลัยจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัว เปลี่ยนแปลง เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยการชูนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”
หัวใจสำคัญ ของการพัฒนาการศึกษาระดับประเทศ คือ ความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี ให้เป็น Smart Industry Smart City Smart People ซึ่งเป็นการตอบโจทย์ให้บุคคล มีการศึกษาที่ดี รวมถึงปลายทางต้องมีรายได้ที่ดีขึ้น ซึ่งการพัฒนา ต้องเน้นสู่โจทย์การพัฒนาสังคม

การปรับตัวของมหาวิทยาลัย เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงในยุค Disruption ต้องมีทิศทางครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน ดังนี้
ข้อที่ 1 การปรับตัวของมหาวิทยาลัยเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง จุดเน้นคือ ต้องปรับที่ ตัวบุคคล ให้เท่าทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในภาวะปัจจุบัน ทำให้ผู้คนต้องปรับตัวในยุค Post COVID-19 ที่ส่งผลให้ต้องอยู่กับเทคโนโลยีดิจิทัล อย่างเท่าทัน ยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทแทนที่มนุษย์ ถึง 72% ส่งผลให้คนตกงานกันมากขึ้น

บทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัย คือ การเตรียมคน สร้างคน (Skill) กล่าวคือ สร้างคนให้มีงานทำ ลงมือปฏิบัติได้จริง สร้างงานวิจัย คือ การพัฒนาผลงานวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของสังคมอย่างแท้จริง สามารถนำงานวิจัยพัฒนาต่อยอด เพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า (Innovation capability / Produce market ) ประกอบด้วย
การปรับตัวสู่ Data-Driven Economy เป็น สังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ยุคโลกาภิวัตน์ (Globalizing Knowledge-Based Economy)​การปรับนโยบาย และเส้นทางการผลิต ไปสู่ภาคส่วน ที่เป็นการเพิ่มมูลค่าของทรัพยากร (Value –Added Segment) รวมถึง การขับเคลื่อนที่มุ่งเน้นด้านผลิตภัณฑ์และการบริการที่อาศัยองค์ความรู้ และนวัตกรรม (nowledge – Intensive and Innovation-Driven Products and Services) เทคโนโลยี หลักของมหาวิทยาลัย ในยุค 4.0 จำเป็นต้องเน้น ด้านการคิดวิเคราะห์ สร้างอนาคต สร้างโอกาสสู่คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน ซึ่งอยู่ในยุค AI (ปัญญาประดิษฐ์ / เทคโนโลยีช่วยเสมือน / เทคโนโลยีความจริงผสม / เทคโนโลยีบลอคเซน / เทคโนโลยีการวิเคราะห์ / เทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ เข้ามาแทนที่ หรือ AI นั่นเอง

กลุ่มที่จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพ หรือหนุนเสริม นั่นก็คือ กลุ่มภาคการผลิตและการบริการที่ไม่มี วุฒิวิชาการ วิชาชีพ แต่ต้องการพัฒนาความรู้และทักษะ ส่วนอีกกลุ่มก็คือ กลุ่มประชาชน เกษตรกร แรงงานที่ไม่มีวุฒิ (กลุ่มสีเขียว และสีฟ้า อ้างถึงตามกรอบข้อเสนอการพัฒนาอุดมศึกษา) ส่วนความต้องการแรงงานในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย มุ่งเน้น ช่างฝีมือ 70% กลุ่มนี้จะลงมือจริง ปฏิบัติจริงได้ ส่วนกลุ่มที่ต้องการปริญญาจะมีเพียง 30% กลุ่มนี้จะอยู่ในกลุ่ม ครู อาจารย์ และเป็นที่ปรึกษา สิ่งที่ มหาวิทยาลัยไทย อนาคตการศึกษาไทยต้องมองให้ออกถึงการผลิตบุคลากรออกมาให้ตรงเป้ากับสิ่งที่ตลาดแรงงานที่ต้องการ ซึ่งปัจจุบัน พบว่า กลุ่มที่เป็นความต้องการของตลาดมาก อาทิ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ดิจิทัล แต่กลับพบว่า การผลิต หรือผลผลิตจากมหาวิทยาลัยยังมีจำนวนน้อยมาก หากเทียบกับ กลุ่มที่ล้นตลาด ตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมาย อาทิ กลุ่มท่องเที่ยว ที่อยู่ในสภาวะล้นตลาด จึงต้องปรับมุมมองใหม่ ปรับเพื่อเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน

ข้อที่ 2 การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ทางการศึกษา เพื่อรองรับพลวัตโลกในยุค Disruption
เน้นการเรียนรู้จริงจากการทำงาน ไม่เน้นวิชาการเพียงอย่างเดียว เน้นทักษะความสามารถ สมรรถนะ มากกว่าความรู้ จึงเกิดความร่วมมือกันระหว่างศาสตร์ ปรับสู่การใช้งานในรูปแบบดิจิทัล รูปแบบออนไลน์ จากภาพในอดีต การมุ่งเป้าของการเรียนจบการศึกษา จะมุ่งเพียง เรียนจนจบ ถึงค่อยหางานทำ แต่ภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน สิ่งที่เป็นความท้าทาย คือ กลุ่มคนจะเรียนก่อน หลังจากนั้นไปทำงาน หรือจ้างงานระหว่างทำงาน และกลับมาเรียนเพิ่มเติมในศาสตร์ต่างๆ ที่สามารถพัฒนาตนเองได้ตรงจุดในยุคปัจจุบัน เน้นการคิด วิเคราะห์ได้ และการเปลี่ยนแปลงของการเรียนรู้ ยุคศตวรรษที่ 21 เน้นกระบวนการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เรียนรู้สิ่งที่เรียนรู้มาแล้วด้วยมุมมองใหม่ การไม่ยึดติด ละทิ้งสิ่งที่รู้มา ซึ่งมหาวิทยาลัยจำเป็นจะต้องเติมเต็มสิ่งที่ขาดของนักศึกษา โดยเรียนจากการทำงาน ปฏิบัติงานจริงกับสถานประกอบการ หน่วยงานจริง เชื่อว่า การเรียนจะไม่เน้น ปริญญามากเท่ากับอดีต (Non-degree / Training) แต่สิ่งที่จะเพิ่มเติมจากกลุ่มวัยเรียน ที่มุ่งเน้นเรื่องการเรียนจากประสบการณ์จริงแล้ว กลุ่มคนวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ ยังจำเป็น และยังต้องการที่จะหนุนเสริม Re-skill หรือการเพิ่มพูนความรู้ในศาสตร์ที่ตนเอง หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ของคนทุกช่วงวัย เพราะการศึกษาคือหัวใจของการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์

ข้อที่ 3 การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบพื้นฐาน สถาบันการศึกษาควรปรับตัว เปลี่ยนผ่านให้ เท่าทันกับยุคดิจิทัล เริ่มจาก หลักสูตร ตามด้วย อาจารย์ผู้สอน ทัศนคติ กฎระเบียบ ส่วนเรื่อง กระบวนการจัดการเรียนการสอน ที่มุ่งปรับใช้ให้ทันกับโลกยุคดิจิทัล เท่าทันสื่อ เน้นการใช้ออนไลน์ โดยในปัจจุบัน มหาวิทยาลัยดัง ๆ ระดับโลก อาทิ Stanford University ได้ปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ เรื่องของรายวิชา ที่นักศึกษาสนใจ และ สามารถเลือกเรียนเอง จัดตารางตามอัธยาศัย จบแล้วสามารถกลับมาเรียนอีกครั้งเมื่อใดก็ได้ รวมถึงบางมหาวิทยาลัยในประเทศไทยก็ได้มีการปรับกระบวนการเรียนเช่นเดียวกัน เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับปริญญาตรีทุกคณะ เรียนแพทยศาสตร์ (ค้นหาสิ่งที่ตนเองถนัด) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแบบแผนการเรียนที่ไม่ต้องสังกัดคณะ เป็นต้น ด้านบทบาทของอาจารย์ผู้สอนจำเป็นต้อง “โลกเปลี่ยน คนปรับ” (Prepare Skills and Competency for the Future) ภายใต้ 3 กระบวนทัศน์ คือ วัฒนธรรมการดำรงชีวิต วัฒนธรรมการเรียนรู้ วัฒนธรรมการทำงาน ทั้งนี้บทบาทของอาจารย์ยุคใหม่ต้องปรับให้ทันโลก โดยคำนึงถึงบทบาทที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง คือ อาจารย์ต้องไม่สอนแบบเดิม แต่ต้องออกแบบ (Design & Facilitate) เน้นการปฏิบัติและลงมือจริง (Mentoring) เน้นเป็นที่ปรึกษา (Coaching) อาจารย์ต้องมีจิตวิญญาณแห่งความเป็นครู แลกเปลี่ยนความคิดได้ (Motivate & Inspire) สุดท้ายส่งเสริมนักศึกษาให้เกิดจินตนาการสู่การสรรค์สร้างนวัตกรรม (Innovation) โดยไม่ละทิ้งคุณธรรม จริยธรรม

ข้อที่ 4 การสร้างผลสัมฤทธิ์เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืน เน้นย้ำว่า มหาวิทยาลัยต้องมุ่งเป้า ว่ามหาวิทยาลัยมีจุดเด่น หรือเก่งด้านใด (Focus) และ ผู้นำในองค์กร หรือผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลง (Leadership) โดยน้อมนำหลักแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านเงื่อนไข ความรู้ และเงื่อนไขคุณธรรม ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาผนวกสู่การทำงาน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอเพียง มีคุณธรรมจริยธรรม พร้อมสู่การปรับ และเปลี่ยนวิธีคิด เชื่อมโยงสู่กระบวนการ เพื่อสร้าง สู่ความสำเร็จ โดยผู้นำการเปลี่ยนแปลงนี้ จะเป็นทั้งผู้สร้างและนำการเปลี่ยนแปลงที่ตอบโจทย์อนาคต ต้องสร้างนักศึกษาในอนาคต ที่ถนัดด้านเทคโนโลยี พร้อมที่จะฝึกฝนและลงมือปฏิบัติจริง เข้าใจในรากฐานของธุรกิจในอนาคต เข้าใจในกระแสสังคม รวมถึงพร้อมที่จะเกิดกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ตอบโจทย์ศตวรรษที่ 21 (Higher Education Ecosystem Needs Change) เป็นแหล่งที่สร้างคนดี สร้างผู้นำสู่สังคมโลก (University Must Reform to Survive) กล่าวคือ มหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพียงโรงเรียนสอนหนังสือ

ดังนั้นมหาวิทยาลัยไทยต้องสร้างงานวิจัย เพื่อยกระดับต้นทุนที่มีอยู่ให้มีมูลค่าสูงขึ้น ต้องไม่ใช่การขายสินค้าแบบในอดีต คือ ข้าว หรือ ยางพารา ที่ยังไม่มีการเพิ่มมูลค่าแบบเดิมๆ เช่น ต้องเพิ่มงานวิจัยเรื่องอาหาร ทำให้เกิดอาหารฟิวชั่น หรือ ขายผลิตภัณฑ์จากยางพารา โดยเพิ่มมูลค่าของสินค้า เป็นต้น
“Good University Teaches Great University Transform People”  ปิดท้ายด้วยการยกย่องใจความสำคัญจากลายพระหัตถ์ภาษาอังกฤษของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติในพระราชกรณียกิจด้านการอุดมศึกษา และระบบการศึกษาระดับอุดมศึกษาของประเทศไทย ในฐานะที่พระองค์ท่านได้รับการถวายพระราชสมัญญานามว่า “บิดาแห่งการอุดมศึกษาไทย”
“True success is not in the learning, but in its application to the benefit of mankind” “ความสำเร็จที่แท้จริง ไม่ได้อยู่แค่การเรียนรู้ แต่อยู่ที่การประยุกต์ใช้ เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ”

สรุปสาระสำคัญโดย….
• ผู้ช่วยศาสตราจารย์บงกช สุทัศน์ ณ อยุธยา ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่
• อาจารย์จารุณี ปัญควณิช อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์และศิลปศาสตร์

ร่วมแสดงความคิดเห็น