ป.ป.ช. ไต่สวนโครงการฉาว อบจ.ลำพูน สังคมกดดัน “โกรัน” ยุติหน้าที่

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เผยแพร่เอกสารการแถลงผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ล่าสุด ซึ่งมีกรณีตรวจสอบเรื่องกล่าวหา นายนิรันดร์ ด่านไพบูลย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำพูน กับพวกด้วย
โดยนายนิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. แถลงว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณารายงานการตรวจสอบเรื่องกล่าวหา ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ลำพูน ซึ่งมีผู้ว่าราชการ จ.ลำพูน เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้ อบจ.ลำพูน จัดซื้อ 27,700 คน  มีการอนุมัติจ่ายขาดเงินสะสม ประจำปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 17,174,000 บาท ในราคาชุดละ 590 บาท ในขั้นตอนการจัดซื้อ คณะกรรมการจัดซื้อ โดยวิธีเฉพาะเจาะจง มีหนังสือเชิญไปยังห้าง/ร้าน 5 แห่ง เพื่อให้เข้ามายื่นเสนอราคา โดยมีห้าง/ร้าน 3 ราย มายื่นเสนอราคา ทั้ง 3 ราย ได้เสนอราคาเท่ากันในราคารายละ 16,343,000 บาท หรือชุดละ 590 บาท และ อบจ.ลำพูน ได้เลือกให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด พ. เป็นคู่สัญญา
สำหรับราคาชุดของใช้ประจำวัน (แคร์ เซ็ท) 13 รายการ ในการสืบราคาจากห้าง/ร้านที่จำหน่ายสินค้าใน จ.ลำพูน จำนวน 25 ร้านค้า พบว่าราคาเฉลี่ยเพียงชุดละ 315.55 บาท การจัดซื้อดังกล่าว จึงมีมูลฟังได้ว่าได้มีการจัดซื้อใน
ราคาที่สูงกว่าในท้องตลาด และทำให้ อบจ.ลำพูน ได้รับความเสียหาย คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วมีมติให้แต่งตั้งองค์คณะไต่สวนเบื้องต้น เพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริง นายนิรันดร์  ด่านไพบูลย์ นายก อบจ.ลำพูน กับพวกรวม 18 ราย ในเรื่องดังกล่าว ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ถูกกล่าวหา เพื่อให้สิทธิผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามกระบวนการยุติธรรม
ทั้งนี้โฆษก ป.ป.ช. ยืนยันว่า การดำเนินการติดตามตรวจสอบข้อกล่าวหาต่าง ๆ ตามที่ได้รับแจ้ง ร้องเรียนมานั้น ป.ป.ช.แต่ละพื้นที่ได้ตรวจสอบ ในทุกจังหวัด บางแห่งมองว่า เมื่อ ป.ป.ช. เข้าไป จะเป็นการล้วงลูก กดดัน หรือจ้องจับผิด แต่เจตนาของ ป.ป.ช. คือต้องการเข้าไปช่วยดู หรือคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐที่อาจถูกบีบบังคับให้กระทำการดังกล่าว
ทั้งนี้สำนักงาน ป.ป.ช. ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หารือแนวทางการดำเนินการมาตรการป้องกันเชิงรุกพื้นที่เสี่ยงต่อการทุจริต ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน การวิเคราะห์ข้อมูลในเขตพื้นที่ภาค 1-9 โดยมีพฤติการณ์ส่อทุจริต หลากรูปแบบ อาทิ เชิงนโยบายในการบริหารจัดการงบประมาณในสถานการณ์ฉุกเฉิน, กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง, เอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนเข้าเป็นคู่สัญญา, ทุจริตด้วยราคาที่สูงกว่ากำหนด, การค้ากำไรเกินควร และการกักตุน หาโอกาสทุจริต จากกรณีการเยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบผลการปฏิบัติงานของ ป.ป.ช.นั้น สรุปคำพิพากษาที่อัยการสูงสุดหารือ คณะกรรมการ ป.ป.ช. กรณีที่จะไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 94 จำนวน 179 เรื่อง (ระหว่าง 1 ตุลาคม 2562 – 31 มีนาคม 2563) พบว่า เกี่ยวข้อง พ.ร.บ.ฮั้ว 27 เรื่อง ,ป.อาญา อีก 156 เรื่อง จำเลยให้การรับสารภาพ 102 เรื่อง, ปฏิเสธ 77 เรื่อง
เครือข่ายปราบปรามการทุจริต ภาคประชาสังคม ภาคเหนือ กล่าวว่า กรณี อบจ.ลำพูน นั้น ขั้นตอนต่อไปคือการแจ้งข้อกล่าวหาจากคณะทำงานที่ ป.ป.ช.แต่งตั้งขึ้น ซึ่งสังคมชาวลำพูนส่วนหนึ่ง พยายามกดดันให้ นายก อบจ. หรือ “โก
รัน” ที่ชาวบ้านคุ้นเคยเรียกกัน ยุติการปฏิบัติหน้าที่  รวมถึงมีกลุ่มสมาชิก อบจ. บางส่วน ยื่นข้อเรียกร้องไปยังผู้ว่าราชการ จ.ลำพูน ให้มีคำสั่งทางปกครอง ให้ นายก อบจ.ลำพูน ยุติการทำหน้าที่ระหว่างไต่สวนกรณีฉาวโฉ่นี้
“หากถามหามารยาททางสังคม ระหว่างรอยื่นอุทธรณ์ชี้แจงข้อกล่าวหา คงยากที่นักการเมือง หรือผู้เกี่ยวข้อง จะยอมยุติการทำหน้าที่ ยิ่งเป็นผู้บริหารแล้ว สู้สุดฤทธิ์ เพราะเท่าที่ติดตาม ฟังข้อชี้แจง ผ่านสังคมทางต่าง ๆ โยนเรื่องไปยัง
เจ้าหน้าที่ คณะทำงานทั้งนั้น น่าเห็นใจระดับปฏิบัติการ ซึ่งฝากความหวังไว้ที่ ป.ป.ช. ดูแล ปกป้องผู้ที่ไม่มีส่วนรู้เห็น แต่ถูกกดดันบังคับให้ทำเรื่องนี้ด้วย”
ทีมข่าว ตรวจสอบผลการปฏิบัติงานของ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อกรณี นักการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งเป็นเอกสารสรุปผลงาน ในส่วนพื้นที่ภาค 5 พบว่า ที่ผ่าน ๆ มา เมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูล มักจะไม่รอด เช่น กรณีอดีต นายก ทต.แห่งหนึ่ง ในพื้นที่ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ การเบิกจ่ายงบในโครงการอบรมส่งเสริมอาชีพกลุ่มสตรีแม่บ้าน และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด ตั้งแต่ปี 2560 จนกระทั่งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 5 มีมติว่าจำเลยมีความผิด จำคุก 3 ปี ปรับ 3 หมื่นบาท จำเลยสารภาพลดโทษจำคุก 8 เดือน ให้รอลงอาญา 2 ปี และปรับ 2 หมื่นบาท
กรณีอดีตนายกเทศมนตรีตำบล ในเขตเมืองลำพูน พร้อมพวก ถูกกล่าวหา การจัดจ้างโครงการก่อสร้างระบบไฟฟ้าส่องสว่างชุมชนพลังงาน ราคาสูงเกินจริง ซึ่ง ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดเมื่อปี 2560 และศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติ
มิชอบ ภาค 5 พิพากษา จำเลยมีความผิด โทษต่างกรรมต่างวาระ หนักสุด 5 ปี แต่รับสารภาพ คงจำคุก 2 ปี 6 เดือน ในศาลชั้นต้น เป็นต้น
“คดีความที่นักการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่นถูกกล่าวหา และมีคำพิพากษา ผิดจริงในศาลชั้นต้น หากยื่นอุทธรณ์และพยานหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ พบว่าจะมีทั้งการเพิ่มโทษ และยืนตามศาลชั้นต้นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นกลุ่มข้าราชการ มักจะไม่ยื่นอุทธรณ์ ยอมรับคำตัดสิน โดยจะเป็นโทษปรับ ส่วนจำคุกจะเป็นการรอลงอาญา ตามระยะเวลามูลฐานแห่งคดี  มีนักการเมืองไม่น้อยระหว่างดำเนินการไต่สวน  ล้มป่วยเพราะเครียด สังคมรุมกดดัน และถึงแก่กรรมระหว่างคดีดำเนินไปก็มีไม่น้อยในพื้นที่เชียงใหม่และลำพูน” 

ร่วมแสดงความคิดเห็น