กรมอนามัย แนะ สถานศึกษาประเมินความพร้อม 6 มิติ ก่อนเปิดเรียน

วันนี้ (27 พฤษภาคม 2563) แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลัง  การเยี่ยมเสริมพลังและหารือแนวทางเพื่อผ่อนผันให้เปิดสถานศึกษา ณ โรงเรียนอนุบาลพิบูลเวศม์ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ว่า การเตรียมความพร้อมของสถานศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อต้องเปิดเรียน หลังสถานการณ์โรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการปฏิบัติตนของนักเรียนและบุคลากรในสถานศึกษา และการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม อาทิ ห้องเรียน ห้องประชุม โรงอาหาร รถรับ-ส่งนักเรียน หอพักนักเรียน เพื่อให้สถานศึกษาปลอดภัยจากโรคโควิด-19 และจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องมีการประเมินความพร้อมโดยใช้กรอบแนวทาง 6 มิติ ได้แก่

มิติที่ 1 การดำเนินงานเพื่อความปลอดภัย ลดการแพร่เชื้อโรคด้วย 6 มาตรการหลัก คือ 1) มีมาตรการคัดกรองวัดไข้และอาการเสี่ยงก่อนเข้าสถานศึกษา 2) สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาเมื่ออยู่ในสถานศึกษา 3) ให้มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกฮอล์อย่างเพียงพอ 4) จัดให้มีการเว้นระยะห่าง 5) ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสที่มีการใช้ร่วมกันบ่อย และ 6) ลดความแออัด ไม่จัดกิจกรรมที่มีการสัมผัสร่วมกัน
มิติที่ 2 การเรียนรู้ สนับสนุนสื่อความรู้ป้องกันโรคโควิด-19 เตรียมความพร้อมการเรียนรู้ของเด็กตามวัยและสอดคล้องกับพัฒนาการ และสร้างความเข้มแข็ง ของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน
มิติที่ 3 การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส กลุ่มเด็กพิเศษ และเด็กในพื้นที่ห่างไกลมาก
มิติที่ 4 สวัสดิภาพและการคุ้มครอง เตรียมแผนรองรับด้านการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนป่วย แนวปฏิบัติเพื่อลดการรังเกียจและการตีตราทางสังคม (Social stigma)
มิติที่ 5 นโยบาย มีแผนงาน โครงการรองรับ แต่งตั้งคณะทำงาน กำหนดบทบาทหน้าที่และสื่อสาร
และ มิติที่ 6 การบริหารการเงิน โดยพิจารณา  การใช้งบประมาณสำหรับการป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ตามความจำเป็นและเหมาะสม

 

“ทั้งนี้ นอกจากสถานศึกษาจะต้องควบคุมมาตรการและปฏิบัติตามคำแนะนำในทุกมิติแล้ว ในส่วนของผู้ปกครองซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับเด็กมากที่สุด สามารถมีบทบาทและมีส่วนร่วมกับสถานศึกษาเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 ได้ด้วยเช่นกัน โดยติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยง สังเกตอาการป่วยของบุตรหลาน หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก เหนื่อยหอบ ไม่ได้กลิ่น ไม่รู้รสให้รีบพาไปพบแพทย์ ควรแยกเด็กไม่ให้ไปเล่นกับคนอื่น ให้พักผ่อนอยู่ที่บ้านจนกว่าจะหายเป็นปกติ มีการจัดหาของใช้ส่วนตัวให้บุตรหลานอย่างเพียงพอในแต่ละวัน ทำความสะอาดทุกวัน เช่น หน้ากากผ้า ช้อน ส้อม แก้วน้ำ แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดตัว รวมทั้งจัดหาสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ และกำกับดูแลบุตรหลานให้ล้างมือบ่อย ๆ ก่อนกินอาหาร หลังใช้ส้วม หลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา ปาก จมูก โดยไม่จำเป็น สร้างสุขนิสัยที่ดี หลังเล่นกับเพื่อนหรือสัมผัสสิ่งสกปรก และเมื่อกลับมาถึงบ้าน ต้องรีบอาบน้ำ สระผมและเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ทันที”  อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

ร่วมแสดงความคิดเห็น