เรียน ป.ตรี ลดฮวบ ! พบมีความสนใจในหลักสูตรสาขาวิชาที่ตอบสนองอาชีพในอนาคตมากขึ้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดร.พีระพงศ์ ตริยเจริญ ผู้ช่วยเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ตามที่ ทปอ. เปิดรับสมัครการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา หรือ ทีแคส ประจำปีการศึกษา 2562 รอบ 4 แอดมิชชัน ตั้งแต่วันที่ 9-19 พ.ค. ที่ผ่านมา มีสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วม 71 แห่ง รับได้ 122,523 ที่นั่ง มีผู้สมัครและชำระเงิน  76,408 คน ในจำนวนนี้ มีผู้ผ่านคัดเลือก รอบ 3 ยืนยันสิทธิ จึงต้องตัดรายชื่อออก รวมผู้มีสิทธิเข้าประมวลผลรอบ 4 จำนวน 69,440 คน ผ่านการคัดเลือก เข้าสอบสัมภาษณ์ 52,315 คน มีผู้ไม่ผ่านการคัดเลือกกว่า 17,000 คน ซึ่งผู้สมัคร สามารถสมัครทีแคส รอบ 5 การรับตรงอิสระ ซึ่งยังมีที่นั่งเหลือจำนวนมากได้

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 28 พ.ค. 2563 ทปอ. ได้ประกาศผลการสมัคร รอบ 4 เป็นรายบุคคลแล้ว จากเดิมที่กำหนดประกาศ ในวันที่ 29 พ.ค. 2563 โดยผู้สมัครสามารถเข้าระบบตรวจสอบผลและดูรายละเอียดวันสอบสัมภาษณ์ได้ตามที่ระบุให้ทราบตั้งแต่วันสมัคร

การสอบสัมภาษณ์จะเป็นกำหนดเดิมคือวันที่ 31 พ.ค. – 4 มิ.ย. 2563 และเปิดให้สละสิทธิ์ 7-8 มิ.ย. นี้ ทั้งนี้การสอบ
สัมภาษณ์จะเหมือนรอบ 3 (รับตรงร่วมกัน) โดยแต่ละมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้สอบและคัดคุณสมบัติผู้สมัครว่าผ่านการสอบสัมภาษณ์หรือไม่
สำหรับหลักสูตรที่มีผู้สมัครมากที่สุด ในรอบที่ 4 นั้น 5 อันดับแรก ดังนี้
อันดับที่ 1 คณะพยาบาลศาสตร์ สาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) สมัคร 1,185 คน จำนวนรับ 96 คน คะแนนสูงสุด 18,431.5 คน ต่ำสุด 15,996.5 คน
อันดับที่ 2 คณะพยาบาลศาสตร์ หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ภาคปกติ มหาวิทยาลัยบูรพา (มบ.) สมัคร 1,121 คน รับ 70 คน สูงสุด 18,063.8 คน ต่ำสุด 16,023.9 คน
อันดับที่ 3 คณะสหเวชศาสตร์ สาขาวิชาเทคนิคการแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมัคร 1,071 คน รับ 120 คน สูงสุด 21,560.2 คน ต่ำสุด 19,874.8 คน
อันดับที่ 4 คณะนิติศาสตร์ พื้นฐานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัคร 1,039 คน รับ 99 คน สูงสุด 23,222.8 คน ต่ำสุด 20,413.4 คน
อันดับที่ 5 คณะมนุษยศาสตร์ และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ ภาคปกติ มหาวิทยาลัยบูรพา สมัคร 972 คน รับ 120 คน สูงสุด 24,377.6 คน ต่ำสุด 20,518.9 คน

ทั้งนี้ ทปอ. รับทราบถึงปัญหาจำนวนนักเรียนที่สมัครเรียนในระดับอุดมศึกษา (ปริญญาตรี) มีแนวโน้มลดลง เนื่องจากผู้เรียนและผู้ปกครองมีความสนใจ ในหลักสูตรสาขาวิชาที่ตอบสนองอาชีพในอนาคตมากขึ้น คำนึงถึงการเรียนจบแล้ว สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ เจาะจงสายวิชาที่มีตำแหน่งงานรองรับเป็นลำดับต้น ๆ

“จะไม่ค่อยคำนึงถึงองค์ประกอบ โครงการสนับสนุนลดแลกแจกแถมหมือนก่อน หรือการให้ทุนเรียน แต่จะต้องการความมั่นใจในสายงาน อาชีพในอนาคตที่มีทักษะสร้างงาน สร้างอาชีพอิสระ และตอบสนองความต้องการของสังคม วิถีใหม่ด้วย  รูปแบบเรียนป.ตรี ถึงระดับสูง ๆ มาเป็นอาจารย์ ทำงานในสถานศึกษาจะลดลงไป เป็นอีกรอบปีที่ สถาบันอุดมศึกษาต้องปรับตัว ฉีกกฎเดิม ๆ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น