พิษโควิด-19 เสี่ยงตกงาน 8.4 ล้านคน เด็กจบใหม่กว่า 5 แสนราย น่าห่วง !

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 1 (เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ลำพูน และลำปาง) เปิดเผยว่าตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 1 ปี 2563 ล่าสุด มีความน่าสนใจในหลาย ๆ ประเด็นความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ สังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาด
โดยเฉพาะข้อมูลในไตรมาส 1 ปีนี้ผู้มีงานทำ 37,424,214 คน แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า แรงงานมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างสูงถึง 8.4 ล้านคน อยู่ในภาคการท่องเที่ยว 3.9 ล้านคน รวมทั้งแรงงานภาคอุตสาหกรรม 5.9 ล้านคน จะมีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน และการจ้างงานในภาคบริการอื่นไ ด้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐจากการปิดสถานที่ เช่น สถานศึกษา หรือสถานที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก ซึ่งกลุ่มนี้มีการจ้างงาน 10.3 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 4.4 ล้านคน การจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลง ร้อยละ 3.7 ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ที่มีความรุนแรงต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางปี 2562

กกร.เชียงใหม่ เสนอว่า ตัวเลขการว่างงานที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุในรายงานจะมีราว ๆ 394,520 คน ในไตรมาสแรก ช่วงโรคโควิด-19 ระบาดอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 1.03% จากช่วงเดียวกันกับปีที่แล้ว คาดว่าในปี 2563 อัตราการว่างงานจะไม่เกิน 2 ล้านคน หลาย ๆ ฝ่ายกังวลว่า การว่างงาน จะเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2 และชัดเจนมากขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะแย่สุดในไตรมาส 2 ปีนี้

ดังนั้นสังคมไทยคาดหวังว่า พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ในส่วนของการฟื้นฟู 4 แสนล้านบาท จะมีส่วนมาช่วยในการจ้างงานนักศึกษาจบใหม่ไม่น้อยกว่า 2-3 แสนงาน ยอดว่างงานเดือนเมษายน พุ่ง 5 เท่า ยิ่งแบงค์ชาติเปิดเผยดุลบัญชีฯ ขาดดุล 3.1 พันล้านดอลล์ฯ ต่ำสุดประวัติการณ์ ดังนั้นแนวทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ สังคมของภาครัฐ ผ่านนโยบายกิจกรรม โครงการจ้างงานในท้องถิ่น ด้วยงบกว่า 4 แสนล้านบาท ถือเป็นแนวทางสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการครอบคลุมแรงงานที่ได้รับผลกระทบ

 

“มาตรการช่วยเหลือเยียวยาตามมาตรการต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายทั้งสิ้น 37 ล้านราย แบ่งเป็นเกษตรกร 10 ล้านราย กลุ่มผู้ประกันตน 11 ล้านคน กลุ่มอาชีพอิสระ 16 ล้านราย ยังมีกลุ่มที่เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือดังกล่าว ก็มี ซึ่งหลังจากมิถุนายนนี้ เงินเยียวยา 5,000 บาท จะจ่ายให้เป็นงวดสุดท้าย ดังนั้นการผ่อนปรนกิจการต่าง ๆ ต้องรอบคอบ บนพื้นที่เฝ้าะวัง ไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 ด้วย”
ขณะเดียวกันภาวะการเลิกจ้างและการว่างงาน แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุม แต่แรงงานบางกลุ่มจะยังไม่สามารถกลับมาทำงานได้เช่นเดิม เช่น แรงงานในภาคการท่องเที่ยว แรงงานในอุตสาหกรรมส่งออก หากผู้ประกอบการไม่สามารถจ้างงานต่อได้ จะมีแรงงานจำนวนหนึ่งที่ถูกเลิกจ้าง และในช่วงพฤษภาคม-กรกฎาคม ว่าจะมีแรงงานจบใหม่เข้าสู่ตลาดประมาณ 520,000 คน ซึ่งอาจไม่มีตำแหน่งงานรองรับ

ศ.พิเศษ ดร.ทศพร  ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ระบาดนั้น มีกรณีต้องฝ้าระวังกลุ่มเด็กและเยาวชน ต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน สาเหตุหลัก ๆ จากข้อมูลกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พบว่ามาจากความยากจนเป็นสาเหตุที่สำคัญ ที่ทำให้กลุ่มเด็กและเยาวชนไทยหลุดออกนอกระบบการศึกษา มากกว่า 670,000 คน
“สิ่งที่จะตามมาคือความเหลื่อมล้ำ กลุ่มเด็กและเยาวชนในกลุ่มครัวเรือนที่รวย (10% บน) ได้เรียนต่อในระดับ ม.ปลาย/ปวช. ร้อยละ 80.3 และได้เรียนต่อในระดับปวส./อุดมศึกษาร้อยละ 63.1 ขณะที่กลุ่มเด็กและเยาวชนในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุด (10% ล่าง) ได้เรียนต่อระดับ ม.ปลาย/ปวช. เพียงร้อยละ 40.5 และได้เรียนต่อในระดับ ปวส./อุดมศึกษาเพียงร้อยละ 4.2”

แนวทางการส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ต้องมีความร่วมมือกัน มุ่งเน้นวางแผน การช่วยเหลือเป็นรายกรณี จัดตั้งหน่วยงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ปรับวิธีการเรียนการสอนให้มีความยืดหยุ่นเหมาะกับสภาพปัญหาของเด็ก ปัจจุบันสถานการณ์ครัวเรือนไทยกำลังเผชิญผลกระทบ ทั้งในมิติทางเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี หรือแม้กระทั่งวัฒนธรรม โดยความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้าง และความเปราะบางของระบบเศรษฐกิจและสังคม การแพร่ระบาดของโควิด-19 นำมาซึ่งผลกระทบในวงกว้าง ต่อทั้งเศรษฐกิจและสังคมไทย วิกฤตครั้งนี้ทำให้เกิดการเรียนรู้และการปรับตัว ซึ่งจะกลายเป็นความคุ้นชินใหม่ หลังการแพร่ระบาดยุติลง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประเมินว่าเดือนมิถุนายนนี้ จะมีแรงงานตกงาน 7.13 ล้านคน จากแรงงานในระบบประกันสังคม 38 ล้านคน แยกเป็นธุรกิจบันเทิง คาดว่าจะเลิกจ้าง 6 หมื่นคน ร้านอาหาร 2.5 แสนคน สปาและร้านนวดในระบบ 3.96 หมื่นคน สปาและร้านนวดนอกระบบ 2 แสนคน ธุรกิจโรงแรม 9.78 แสนคน ศูนย์การค้าและค้าปลีก 4.2 ล้านคน ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 7.76 หมื่นคน สิ่งทอ 2 แสนคน ธุรกิจก่อสร้าง 1 ล้านคน โดยแรงงานที่อาจตกงาน 7.13 ล้านคนนี้ จะเป็นแรงงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 2 หมื่นบาทต่อเดือน 6.773 ล้านคน คิดเป็น 95% ของแรงงานที่ตกงาน
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวมีอัตราการหดตัว -100% นับตั้งแต่เดือนมีนาคม เนื่องจากการล็อกดาวน์ประเทศและการห้ามเดินทาง ส่วนการบริโภคเอกชน มีอัตราการหดตัว -15.1%  ภาคการลงทุนต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบน่าจะฟื้นตัวเร็วสุดช่วง 1-2 ปี เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก ไม่ฉพาะเมืองใด เมืองหนึ่ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น