กรมอนามัย แนะ ‘ปลาส้ม ปลาร้า’ เลือกกินสะอาด ปลอดพยาธิใบไม้ตับ

​แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ตามวิถีชีวิตแบบพื้นถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่นิยมบริโภคปลาร้า ปลาส้ม และปลาจ่อมแบบดิบ ๆ โดยไม่ผ่านความร้อนที่มีอุณหภูมิสูงให้นานเพียงพอที่ทำให้อาหารสุกอย่างทั่วถึง ยิ่งนำปลาน้ำจืดประเภท ปลาเกล็ดมาหมักดองเป็นปลาร้าหรือปลาส้มที่ไม่ถูกสุขลักษณะ จะยังมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ที่หลบซ่อนอยู่ใต้เกล็ดปลา ทำให้ผู้บริโภคปลาร้า ปลาส้ม หรือปลาจ่อมสุก ๆ ดิบ ๆ ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ที่ฝังตัวอยู่ในท่อน้ำดีได้ การป้องกันที่ดีจึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินปลาน้ำจืดที่สุกอย่างทั่วถึง ด้วยความร้อน เป็นการกำจัดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้ถึงการป้องกัน รักษาสุขภาพและการจัดการอาหารพื้นบ้านให้ถูกสุขลักษณะตามหลักสุขาภิบาลอาหาร​“ทั้งนี้ การเลือกซื้อปลาร้า ปลาส้ม หรือปลาจ่อม ในกรณีที่ซื้อแบบบรรจุขวดควรดูเลขสารบบอาหาร (เลข อย.) หากซื้อแบบไม่บรรจุขวด ควรดูว่ามีสิ่งเจือปน และกลิ่นผิดแปลกจากที่เคยกินหรือไม่ โดยเลือกซื้อ จากสถานที่จำหน่ายที่น่าเชื่อถือและคุ้นเคย และก่อนบริโภคทุกครั้งควรนำไปต้มใหม่หรือปรุงด้วยความร้อน ที่อุณหภูมิ 90 องศาเซลเซียส นาน 5 นาที เพื่อลดความเสี่ยงพยาธิใบไม้ตับ และสำหรับผู้ประกอบการนั้น ควรคำนึงถึงความสะอาดปลอดภัย เลือกวัตถุดิบหรือปลาที่มีคุณภาพ และมีระยะเวลาในการหมักที่เหมาะสม หากเป็นปลาส้มให้หมักนานมากกว่า 3 วัน ส่วนปลาร้าให้หมักนานมากกว่า 1 เดือนขึ้นไป โดยกระบวนการผลิตจะต้องมีเครื่องมือและเครื่องใช้ที่สะอาดมีมาตรฐาน และมาตรการป้องกันการปนเปื้อน น้ำที่ใช้ในการผลิตจะต้องมีคุณภาพน้ำดื่มตามมาตรฐานของกรมอนามัย สถานที่เก็บวัตถุดิบต้องสะอาดเป็นสัดส่วน มีการป้องกันการปนเปื้อน ส่วนผู้ปฏิบัติงานต้องมีสุขอนามัยดี นอกจากนี้ต้องมีการจัดการด้านสุขาภิบาลของ สถานประกอบการไม่ให้เกิดปัญหาผลกระทบกับชุมชนในด้านกลิ่น น้ำเสียจากเศษปลา และมีระบบการกำจัดขยะที่ถูกหลักสุขาภิบาลด้วย เพื่อป้องกันตัวอ่อนพยาธิลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น