ส่งออกทุเรียนทะลุเป้า จีนแห่ซื้อผลไม้ไทย คาดลำไยได้เฮปีนี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า ช่วง 4 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม–เมษายน) จากการติดตามสถิติการค้าผลผลิตไทยกับต่างประเทศ พบว่าการส่งออกทุเรียนสดของไทย ขยายตัวได้อย่างน่าพอใจ โดยเฉพาะในตลาดจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทย ที่มีการบริโภคสูงแม้อยู่ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

“โดยการส่งออกขยายตัวถึง ร้อยละ 78 คิดเป็นมูลค่าส่งออก 567 ล้านเหรียญสหรัฐ (อัตราแลกเปลี่ยน 31.7846 บาทไทย ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2563) หรือราว ๆ 1.75 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยอดส่งออกทุเรียนสู่ตลาดโลกขยายตัว 30% มีมูลค่า 788 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยยังเป็นแชมป์ผู้ส่งออกทุเรียนอันดับที่ 1 ของโลก ปัจจุบันทุเรียนไทยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าใน 16 ประเทศ คู่เอฟทีเอ. มีเพียงมาเลเซียและเกาหลีใต้ ที่ยังเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทยอยู่ ทำให้ในปี 2562 ไทยมีมูลค่าส่งออกทุเรียนสดสู่ตลาดโลกรวม 1,465 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน อาเซียน และฮ่องกง”

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการอาจเพิ่มผลิตภัณฑ์เป็นทุเรียนแปรรูป เช่น ทุเรียนทอด และทุเรียนอบแห้ง เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์กระแสความนิยมอาหารแห้งที่เก็บรักษาได้นาน แม้ภาพรวมการส่งออกทุเรียนสดไทย จะไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 แต่ผู้ประกอบการควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อรองรับผลกระทบต่อการผลิตในด้านอื่น ๆ อาทิ การขนส่งสินค้า การขาดแคลนแรงงาน และความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค
เครือข่ายสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออก ประเทศไทย (ภาคเหนือ) กล่าวว่าทุเรียนปีนี้ได้ราคา เป็นที่น่าพอใจ แม้โรคโควิด-19 จะเป็นปัจจัยสร้างความกังวลให้ชาวสวน เกษตรกรไทยที่เพาะปลูกผลไม้ที่มีตลาดจีนเป็นคู่ค้าตลาดหลัก ทั้ง ทุเรียน ลิ้นจี่ และลำไย เนื่องจากตลาดจีนยังมีความต้องการสูง หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้การขนส่งทางบกจะไม่สะดวก แต่ผู้ประกอบการก็ปรับตัวหันมาขนส่งทางเรือและมีมาตรการ ส่งเสริมการค้าไทย-จีน เข้ามาในการเปิดด่านอำนวยความสะดวกด้วย

“ยังมั่นใจว่าผลไม้อื่น ๆ ที่จะทอยออกมาตามฤดูกาล เช่น ลำไย น่าจะทรงตัว ไม่ส่งผลระทบอะไร เพราะเป็นช่วงโรคโควิด-19 เริ่มนิ่ง ผู้คนเรียนรู้ที่จะอยู่ในแบบวิถีใหม่ และเริ่มมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สังคม ที่น่ากังวลในระบบตลาดจะเป็นการเอารัดเอาเปรียบกัน เช่น กลุ่มล้ง พ่อค้าคนกลางกดราคาชาวสวน หรือผลผลิตไม่ตรงเกรดที่คู่ค้าต้องการ เป็นการยัดไส้ผสมปนเปทั้งเกรดดี ไม่ดี ขนาดวงการทุเรียนเรื่องตกไซค์ ผลอ่อน ผลแก่จัดก็ยังเป็นปัญหาเดิม ๆ ในวงการ”
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระบุว่า จีนยังเป็นตลาดใหญ่ของผลผลิตเกษตรไทย แม้จะมีนวัตกรรม การเกษตรในประเทศทั้งการทดลองปลูกทุเรียนที่เมืองซานย่า มณฑลไหหลำ ซึ่งเริ่มเก็บผลผลิตได้ กระทั่งลำไย แต่ความต้องการผลผลิต ผลไม้คุณภาพจากไทยยังมีสูง ซึ่งมาตรฐานการรักษาคุณภาพผลไม้ไทย เป็นเรื่องที่คู่ค้าในจีนชื่นชมมาก

คณะกรรมการผลไม้ไทย (ฟรุ๊ต บอร์ด) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าแม้ที่ผ่านมาการส่งออกผลผลิตไปจีนจะมีปัญหาเรื่องขนส่ง เมื่อต้นเดือนเมษายน ที่มีกลุ่มรถขนส่งติดที่ด่านโหยวอี้กวน กว่า 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ทำให้ทุเรียนเสียหาย ขายออนไลน์ไม่ได้ แต่เมื่อมีการเปิดด่านรถไฟผิงเสียงและด่านตงซิน ทำให้ระบบขนส่ง กระจายสินค้าคล่องตัวหลังจากนี้เริ่มมีการเจรจา เปิดด่านหลายๆจุดที่ไทย-จีน มีข้อตกลงในการส่งสินค้าผ่านแดน
“จากข้อมูลตลาด และเริ่มมีการเจรจาทางการค้าของคู่ค้าไทย-จีน จึงเชื่อว่า หลังจากสิ้นสุดช่วงทุเรียนและเข้าสู่การเก็บเกี่ยวลำไย คงไม่มีอะไรน่ากังวลด้านราคา ยิ่งปีนี้เผชิญภัยแล้ง ลำไยภาคเหนือผลผลิตน่าจะน้อย ความต้องการสูง ราคาคงจะอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจของชาวสวน ส่วนรื่องล้งจะไปกดราคา หรือสร้างกระแสอื่น ๆ ป่วนตลาดนั้น มีหน่วยงานที่รัฐบาลมอบหมายให้ติดตามเกาะติดเรื่องนี้อยางใกล้ชิด ไม่ให้เอารัดเอาเปรียบเกษตรกรที่เดือดร้อน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แล้วยังมาเจอปัญหาเดิม ๆ อีก”

ร่วมแสดงความคิดเห็น