จัดระเบียบม่อนแจ่ม รุกป่า ฝ่าฝืนกฎ ทำผิดดำเนินคดีทุกราย

ผู้สื่อข่าวรายงานหลังจากมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ริม (ม่อนแจ่ม) ต.แม่แรม และ ต.โป่งแยง อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีการก่อสร้างบ้านพักตากอากาศ รีสอร์ท และลานกางเต็นท์ในพื้นที่ป่าจำนวนมาก และนโยบายจัดระเบียบผืนป่าสงวน, เขตอุทยานฯ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ทั่วประเทศ

ล่าสุด นายธเนศพล ธนบุญยวัฒน์ เลขานุการรัฐมนตรี ทส.พร้อมคณะ ได้เป็นตัวแทน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส.เดินทาง มาตรวจติดตามความก้าวหน้างาน กองอำนวยการส่วนหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีนายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผวจ.เชียงใหม่, นายจุมพฎ ชอบธรรม ผู้ตรวจราชการกรมป่าไม้, นายกมล นวลใย ผอ.สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่),นายอำเภอแม่ริม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้เข้าร่วม โดยมีนายสุเทพ ศิริรัตน์ หัวหน้า นปพ.แม่ริม สรุปรายงาน ความก้าวหน้าในการปฏิบัติงาน

ทั้งนี้นายธเนศพล ได้สั่งการให้กรมป่าไม้เร่งรายงานความก้าวหน้าการยื่นขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ของโครงการหลวง เพื่อให้การดำเนินการขออนุญาตเป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมตรวจติดตามพื้นที่ดำเนินคดี ม่อนพอเพียงและม่อนแสนสิริจันทรา อย่างไรก็ตาม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำรวจแปลงพื้นที่มีการก่อสร้างอาคารที่พัก เก็บข้อมูลรายละเอียดให้ครบถ้วน วัดค่าพิกัดด้วยเครื่องมือตรวจหาค่าพิกัดทางดาวเทียม จัดทำแปลงเปรียบเทียบกับฐานข้อมูลถือครองที่ดินซึ่งมีอยู่กับภาพถ่ายทางอากาศ ภาพถ่ายดาวเทียม และหลักฐานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ที่ผ่านมาได้ตรวจยึด และดำเนินคดีบ้านพักตากอากาศ ม่อนใจโฮมสเตย์ บ้านหนองหอยใหม่ หมู่ 11 พื้นที่ 1-3-70 ไร่ มีสิ่งปลูกสร้างก่อสร้างหลังปี 2557 ซึ่งไม่อยู่ในโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ป่าแม่ริมขอคืนพื้นที่ส่วนขยายเพิ่มเช่น ม่อนผาโค้ง พื้นที่ 0-1-36 ไร่, ม่อนไอดิน พื้นที่ 1-3-36 ไร่, นายล้ง พนมไพร พื้นที่ 0-1-24 ไร่, สวนอีเดน พื้นที่ 0-3-20 ไร่, ม่อนทอแสง พื้นที่ 3-1-88 ไร่, ม่อนเหนือ พื้นที่ 0-1-56 ไร่, ม่อนม้ง พื้นที่ 0-1-56 ไร่, ไร่ภูสวรรค์ พื้นที่ 0-0-80 ไร่, บ้านภูหมอก พื้นที่ 0-0-94 ไร่, ม่อนจาวดอย พื้นที่ 0-2-12 ไร่ และม่อนสวนอิงดอย พื้นที่ 0-2-12 ไร่ ทั้งหมดนี้เมื่อเจ้าของกิจการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง คืนพื้นที่แล้วจะเร่งฟื้นฟูสภาพ

ส่วนกรณีที่บุคคลภายนอกเข้ามาร่วมบุกรุกครอบครองที่ป่าไม้ 6 ราย ซื้อที่ดินจากผู้ครอบครองเดิม ดำเนินธุรกิจตัวแทนแฝง (นอมินี) ก็จะมีม่อนใจโฮมสเตย์ พื้นที่ 1-3-70 ไร่, ม่อนแสนสิริจันทรา พื้นที่ 4-2-34 ไร่, ม่อนดอยลอยฟ้า พื้นที่ 1-2-84 ไร่, บ้านท่าจันทร์ พื้นที่ 1-2-85 ไร่, รีสอร์ท ม่อนม่วน พื้นที่ 11-3-33 ไร่, ไร่นาย พื้นที่ 5-1-82 ไร่
สำหรับการตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างไม่ว่าจะเป็นที่ เดอะเบสท์แคมป์, หนองหอยแคมป์, บ้านอุ่นไอหนาว, ม่อนเหนือหมอก, ไร่ปลายฝัน, ไร่แสงอรุณ และภูวินคาเฟ่ กรมโยธาธิการและผังเมือง กำลังดำเนินการตรวจสอบ ในมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่ริม และท้องที่ใกล้เคียง อ.แม่ริม ถ้าก่อสร้างเกินพื้นที่ทำกินเดิม หรือสร้างสิ่งปลูกสร้างไม่เหมาะสมส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ต้องรื้อถอนตามคำสั่งที่แจ้งกำหนดไป หากพ้นกำหนดแล้วไม่รื้อถอนถือว่ามีเจตนาฝ่าฝืน ต้องดำเนินการตรวจยึด ดำเนินคดีทุกราย

ด้านวิสาหกิจชุมชนม่อนแจ่ม และชาวบ้านส่วนหนึ่ง กล่าวว่าหลักฐานทางราชการกับการใช้อำนาจรัฐในวันนี้ถูกต้อง ชอบธรมหรือไม่ เพราะชุมชนม่อนแจ่มนั้นก่อตั้งมากว่า 117 ปีก่อน ประกาศป่าสงวนแห่งชาติแม่ริม ต่อมาได้รับอนุญาตให้อยู่ได้ถูกกฎหมาย ตามมติ ครม. 11 พ.ค. 42

“ชาวบ้านม่อนแจ่ม เสนอให้ทำตามกฎหมาย ทำตามคำสั่ง คสช. 6/2562 ทำตามกฎหมาย พ.ร.บ.อาคาร พ.ร.บ.โรงแรม และ พ.ร.บ.ผังเมือง พร้อมปลูกป่าในพื้นที่ตัวเอง ไม่น้อยกว่า 20% แต่ถูกปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า ทำผิดเงื่อนไขเดิมทีกำหนดไว้ ทั้ง ๆ ที่หลักการปกครองควรยึดโยงทั้งหลักนิติรัฐ นิติศาสตร์ นิติธรรม ประกอบกัน ไม่ใช่ตั้งธงว่า ผิดก็คือผิด ไม่ได้รับโอกาสแก้ไข ชาวบ้านที่ลงทุน เดือดร้อน ต้องรื้อถอนจะทำอย่างไรต่อไป”

ในขณะที่หน่วยงานป่าไม้ ยืนยันว่าแนวทางจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืนเพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ม่อนแจ่มนั้น การจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ จะมีการร่วมมือกันทุกภาคส่วน มาออกแบบพื้นที่ เช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การจะมีสิ่งปลูกสร้างรองรับนักท่องเที่ยวที่มีขนาดใหญ่ หรือเสี่ยงทำลายระบบนิเวศน์ ก็ต้องมาหารือกันว่าจะพัฒนาในรูปแบบโฮมสเตย์ หรือที่พักชั่วคราว จะไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

“ที่ผ่าน ๆ มาคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า (คปป.) จ.เชียงใหม่ มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมสร้างข้อตกลง กรอบแนวทางปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การบังคับใช้ในการจัดการพื้นที่อย่างยั่งยืน อย่งต่อเนื่อง ควบคู่กับการจัดระเบียบพื้นที่โดยกรมป่าไม้ ที่ต้องจัดทำฐานข้อมูลรังวัด จัดทำแผนที่/แผนผัง ที่ตั้งโดยละเอียด ตรวจสอบว่า มีสิทธิตามโครงการจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ในพื้นที่ จริงหรือไม่แล้วนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาตามโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชน (คทช.) ต่อไป ก่อนเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวทุกมาตรการต้องจบได้ขอสรุปที่ชัดเจน ไม่ให้เกิดภาพผู้คนมาท่องเที่ยวแล้วไล่รื้อถอนกันโครม ๆ แน่”

ร่วมแสดงความคิดเห็น