(มีคลิป) คดีพลิก ! บริษัทรถ คู่กรณีลุงถูกยึดบ้าน หอบหลักฐานแจ้งความ เผยขาดส่งนานกว่า 14 งวด หวั่นคนเข้าใจผิด

วันที่ 5 มิ.ย. 63 รายงานข่าวแจ้งว่า จากกรณีที่ นายสิฐ สิทธิสอน อายุ 51 ปี ชาวบ้านห้วยโจ้ ต.ดอยหล่อ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ได้ร้องเรียนกับทางผู้สื่อข่าว และนำหลักฐานไปขอความช่วยเหลือที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อช่วงเช้าวานนี้ (4 มิ.ย. 63)โดยสืบเนื่องมาจากที่เจ้าตัวระบว่า ในช่วงต้นปี 2562 ได้ไปค้ำประกันให้กับญาติที่ซื้อรถบรรทุก 6 ล้อในเมืองลำพูน ต่อมาญาติของตนก็ขาดส่งงวดรถทำให้ในเวลาต่อมา บริษัทที่ทำสัญญายึดรถ และนำไปขายทอดตลาด และปรากฎว่าเงินที่ได้มาไม่พอจ่ายหนี้ จึงได้ยึดโฉนดที่ดินของตนที่ติดจำนองกับธนาคารรัฐแห่งหนึ่ง นำไปขายทอดตลาดกับกองบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : (มีคลิป) ลุงค้ำประกันถูกยึดมรดกที่ดิน หอบหลักฐานเข้าร้องศูนย์ดำรงธรรมช่วยเหลือ วอนเห็นใจ ที่ดินถูกขายทอดตลาด 

โดยทาง นายมนูญ ซึ่งเป็นญาติ ที่ตนไปค้ำประกันให้ได้ไปทำหนังสือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ยอมรับเป็นลูกหนี้กับบริษัทลิสซิ่ง ยอดชำระ 204,169 บาท นำเงินไปชำระเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 62 จำนวน 10,000 บาท และจะผ่อนชำระเดือนละ 3,000 บาท หากชำระเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว นายมนูญ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการไถ่ถอนทรัพย์ที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่เอง แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 62 ทางบริษัทลีสซิ่งได้นำเอาที่ดินโฉนดไปขายทอดตลาด ที่สำนักบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ โดยไม่แจ้งให้นายมนูญกับตนรู้ทำให้ได้รับความเดือดร้อนถูกยึดโฉนดที่ดินที่เป็นมรดกตกทอดของมารดาและไม่มีที่อยู่อาศัย จนต้องวิ่งเต้นขอความช่วยเหลือตามที่ปรากฎข่าวออกมานั้น

ในส่วนของความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้นนี้ ล่าสุดเมื่อช่วงเย็นเวลาประมาณ 17.00 น. ของวานนี้ ทางด้านผู้บริหารบริษัทลิสซิ่งในพื้นที่จังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นคู่กรณีกับ นายสิฐ ได้นำเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับนายสิทธิ์มาแสดงต่อผู้สื่อข่าว และพบว่าได้มีการทำสัญญาเช่าซื้อรถบรรทุกกันตั้งแต่ ปี 2556 โดยนายสิฐ ได้มาค้ำประกันในการผ่อนรถบรรทุก 6 ล้อ ให้แก่ นายมนูญ เชิดชู แต่ต่อมา นายมนูญ ได้ขาดการชำระผ่อนส่งเป็นเวลากว่า 14 เดือน ทวงถามไปก็เงียบเฉย ทางบริษัทจึงจำเป็นต้องฟ้องศาลแพ่งจังหวัดเชียงใหม่ และในวันที่ศาลนัดไต่สวนจำเลยทั้งสองยังขาดนัดไม่มาศาลฟังคำพิพากษาในปี 2559 โดยศาลได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชอบมูลหนี้ที่เกิดขึ้นพร้อมค่าใช้จ่ายเกิดจากการฟ้องร้องแต่จำเลยทั้งสองก็ยังเพิกเฉยไม่มาชำระ และในปี 2560 ทางบริษัทจึงเรียกขอคืนรถคันดังกล่าว ซึ่งได้ล่วงเลยมานานกว่า 4 ปี ทำให้มูลค่ารถในวันที่คืน จึงไม่พอมูลหนี้ที่มีอยู่ และทางบริษัทจึงได้ส่งหนังสือแจ้งมูลค่าที่ขายออกไปได้และส่วนต่างที่ต้องรับผิดชอบแก่ผู้ทำสัญญา

ขณะเดียวกันทางด้าน ผู้บริหารบริษัทคู่กรณี ยังเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า ที่ผ่านมาทางบริษัทได้ให้โอกาสกับคู่กรณีมาหลายปี อย่างที่นำหลักฐานมาแสดงและยังมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตั้งแต่ปี 2560 เรื่อยมาจนถึงปี 2562 แต่ทางคู่กรณีก็ไม่เคยนำเงินมาจ่ายแม้แต่บาทเดียว จนกระทั่งเมื่อถึงเวลาทางกรมบังคับคดีก็มีหมายแจ้งออกมาเพื่อที่จะทำการขายทอดตลาดตามระเบียบของราชการ คู่กรณีถึงจะวิ่งมาที่บริษัท เพื่อขอความช่วยเหลือและด้วยทางบริษัทมีความเห็นใจทางบริษัทก็ช่วยเหลือมาตลอด และทางบริษัทก็ได้แจ้งให้นายสิฐไปค้านการขายที่กรมบังคับคดีด้วยตนเองอีกแรง

แต่ปรากฏว่าในวันที่ขายทอดตลาด นายสิฐไม่ได้ไปคัดค้าน แต่หลังการขายทอดตลาดที่มีนายทุนใหม่มาซื้อ ทำให้บริษัทไม่สามารถช่วยได้ทัน และไม่ใช่ว่าทางบริษัทมีเจตนาไปทำการยึดของคู่กรณีไปขายตามที่เป็นข่าว เพราะถ้ามองตามความเป็นจริงตอนนี้ ถ้าที่ดินหลุดไป ลิสซิ่งเองก็เสียหาย เพราะเงินเกือบ 200,000 บาท ของลิสซิ่ง บริษัทก็จะไม่ได้เงินคืน แล้วทางบริษัทจะปล่อยให้ที่ดินของลุงหลุดไปให้เป็นของคนอื่นทำไมกัน หลังจากกรมบังคับคดีขายที่ไปแล้ว บริษัทเองก็ไม่สามารถเรียกร้องให้นายมนูญหรือนายสิฐ ให้มาชำระหนี้ที่มีอยู่เกือบ 200,000 บาท ได้อีกอยู่แล้ว และความจริงอีกอย่างคือหลังจากที่นายทุนใหม่ได้ซื้อไป ทั้งนายทุนคนใหม่ และนายสิฐ ยังได้เข้ามาที่บริษัทพร้อมกัน แล้วมาขอเจรจาเรียกค่าเสียเวลาตามข้อมูลเบื้องต้น

อีกทั้งบริษัทยังบอกกับนายทุนคนใหม่แล้ว ว่าที่ดินของนายสิฐ มีหนี้อยู่ที่ธนาคารของรัฐอีก 600,000 กว่าบาท และบริษัทได้ชี้แจงในเรื่องของข้อกฎหมายไปแล้ว และแจ้งว่าหากนายทุนรายใหม่ได้ไปก็ไม่คุ้มปล่อยให้นายสิฐได้อยู่ต่อไปเถิด แต่ทางนายทุนรายใหม่ก็ยังคงยืนยันที่จะซื้อ อีกทั้งยังขอเงิน 30,000 บาท ในส่วนที่ได้จ่ายไปกับกรมบังคับคดี และยังขอค่าเสียเวลาของตนอีก 50,000 บาท จากทางบริษัท ซึ่งในตอนแรกหลังการตกลงกับนายทุนคนใหม่ ทางบริษัทสงสารก็ยังอยากช่วยเหลือ นายสิฐ โดยทางบริษัทจะยินยอมจ่ายเงินในส่วนของค่าเสียเวลาตามที่นายทุนใหม่เรียกร้อง 50,000 บาท เพื่อให้ นายสิฐ ผู้ค้ำประกันได้มีบ้านอยู่ต่อ แต่อีกสักพัก หลังจากที่มีการตกลงจะช่วยเหลือไปแล้ว นายสิฐ ผู้ค้ำ ได้มาบอกกับทางบริษัทว่า ขอค่าเสียเวลาของตัวเองจากทางบริษัทอีก 150,000 บาทด้วย ทั้ง ๆ ที่เรื่องเงิน 2 แสนกว่ายังติดภาระกับทางบริษัทอยู่ ทำให้ทางบริษัทมองว่าไม่สมเหตุสมผลกันเลย

อีกทั้งยังไม่เคยมีกรณีผู้ค้ำมาขอเงินค่าเสียเวลากับทางบริษัทมาก่อน ทั้ง ๆ ที่ตลอดระยะเวลา 30 กว่าปีที่ทำธุรกิจนี้ ทางบริษัทยึดนโยบายดำเนินธุรกิจด้วยหลักธรรมาภิบาลมาตลอด จะเห็นได้จากตัวอย่างกรณีนี้ ที่ทางบริษัทก็ได้ให้ผู้ค้ำ อยู่ในที่ดินของตนอย่างปกติมาตลอดหลายปี ทั้ง ๆ ที่บริษัทมีสิทธิยึดและไล่ที่ได้ตั้งแต่ปี 2560 ด้วยซ้ำ แต่ทางบริษัทก็ไม่ได้ทำการดังกล่าว เพราะสงสารคนค้ำ แต่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ เพราะตอนนี้ที่ดินอยู่นอกเหนือการดูแลของบริษัทแล้ว และประกอบกับที่ทางคู่กรณีไม่ได้พูดความจริงกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด ทำให้หลังจากที่มีข่าวปรากฎออกมาเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 63 และในวันที่ 2 มิ.ย. 63 ทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียงและตกเป็นจำเลยของสังคม ทางบริษัทจึงตัดสินใจเข้าแจ้งความลงบันทึกประจำวัน เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นหลักฐานว่านายสิฐได้ให้ข่าวบิดเบือนความจริงและ ก่อนหน้านี้นายสิฐได้มีการเรียกร้องค่าเสียเวลากับทางบริษัทอีกด้วย

ร่วมแสดงความคิดเห็น